มีคำกล่าวที่ว่า การลงทุน ที่เสี่ยงที่สุด คือการไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย ฟังดูเผิน ๆ ก็เหมือนเป็นคำคมที่น่าสนใจ แต่ความเป็นจริง การไม่ยอมเสี่ยงอาจจะปลอดภัยกว่าการเสี่ยงลงทุนโดยไม่ได้มีความรู้ในสิ่งที่ทำ เพราะสิ่งที่ตามมาจากการขาดความรู้ที่เพียงพอก็จะเป็นการขาดทุนหรือเกิดความเสียหายจาก การลงทุน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นค่าหน่วยกิตในการเรียนรู้บทเรียนสำคัญในโลกธุรกิจก็ได้ ก่อนจะลงมือทำธุรกิจหรือหาเงินด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ต้องรู้จักสิ่งที่จะนำเงินไปลงทุนให้ดีเสียก่อน ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างของ การลงทุน หรือการหาเงินที่มีคนทำผิดพลาดกันมาก ทำให้สูญเงินทุนไปเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น
การลงทุน ในตราสารทุน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ลงทุนในหุ้นทุน
ตลาดหลักทรัพย์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีโอกาสนำเงินมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างสะดวก เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานระดมทุนให้กับบริษัทมหาชนมีเงินทุนเพื่อต่อยอดในการค้นคว้าพัฒนาสินค้าและบริการได้ดีมากขึ้น โดยผู้ลงทุนก็มีโอกาสได้กำไรจากการลงทุนเมื่อมูลค่าหุ้นสูงมากขึ้นก็สามารถขายออกไปทำกำไรจากส่วนต่างกับต้นทุนที่ซื้อมา และระหว่างการถือหุ้นก็มีสิทธิในการได้รับเงินปันผลจากกำไรประจำปี บางบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลมากกว่า 2 ครั้งต่อปีก็มี ถ้าว่ากันถึงหลักการพื้นฐานแล้วก็เป็นแนวคิดที่ดีมาก โดยผู้ที่ลงทุนไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกับบริษัทเลย เพราะไม่เกี่ยวข้องในการบริหาร และยังมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในผลกำไรอีกด้วย
ในทางกลับกันเมื่อมูลค่าหุ้นลดลงหรือผลประกอบการด้อยลงก็อาจจะขาดทุน กำไรน้อยลงจากการขายหุ้นหรือได้รับเงินปันผลลดลงตามส่วน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ถ้าหากมั่นใจในความรู้ที่ได้ศึกษามาและรู้จักบริษัทที่นำเงินไปร่วมลงทุนมาก่อน แต่ความน่าสนใจของตลาดทุนก็ทำให้ผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งเกิดการไขว้เขวในจุดประสงค์การลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่ผลกำไรจากการขายหุ้นในราคาแพงกว่าทุนที่ซื้อมา โดยมองข้ามปัจจัยด้านพื้นฐานของบริษัทไป สิ่งที่สนใจมากกว่ากลับเป็นราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและมีปริมาณหรือ Volume สูง เพื่อหวังผลกำไรระยะสั้น ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง กลายเป็นโอกาสของกลุ่มคนที่เรียกว่าเจ้ามือในการลากราคาหุ้นขึ้นไปและทยอยเทขายเปลี่ยนมือทำกำไรก่อนที่ราคาหุ้นที่ปั่นขึ้นสูงสุดก็จะตกลงอย่างรวดเร็ว คนที่ไม่ได้มองกระดานหรือเทขายไม่ทันก็จะถือหุ้นในมูลค่าที่สูงกว่าราคาตลาดมาก จะขายออกก็ไม่กล้าขายเพราะขาดทุนแน่นอน จะถือหุ้นไปพลาง ๆ ก่อนเงินทุนก็จมกับหุ้นนั้นหมดโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น และอาจจะไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่ที่ราคาหุ้นจะดีดกลับขึ้นมาได้เหมือนเดิม อาการนี้เรียกสั้น ๆ ว่า “ติดดอย” เพราะถือหุ้นที่ซื้อมาแพงแต่ราคารับซื้อปัจจุบันต่ำกว่าราคาทุนมากจึงไม่กล้าขาย และขออยู่บนยอดเขาของราคาหุ้นต่อไปก่อน
เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ากับกลุ่มคนจำนวนมากหรือเรียกกันว่าบรรดาแมงเม่า ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบเหมือนแมงเม่าที่หลงแสงไฟและก็ต้องเจ็บตัว เหมือนนักลงทุนที่หลงกราฟ การลงทุนในหุ้นจึงต้องมีความรู้ในบริษัทที่จะนำเงินไปลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งจะต้องไม่ถือหุ้นหลายตัวมากเกินไปเพราะจะทำให้ดูแลหุ้นไม่ทั่วถึง แต่นักลงทุนหน้าใหม่กลับมีหุ้นเต็มพอร์ต ตัวโน้นก็อยากได้ ตัวนี้ก็อยากได้ การถือหุ้นไว้หลายตัวทำให้ดูไม่ทั่วถึง เวลาหุ้นลงแล้วคัทลอสไม่ทันก็จะทำให้ติดหุ้นได้ง่าย ๆ นอกจากการขาดความรู้แล้วอีกสิ่งหนึ่งคือการไปหลงเชื่อผู้ที่อวดตนว่าเป็นผู้รู้ สิ่งนี้ต้องระวังมากถ้าจะลงทุนตามคนอื่นเพราะอาจจะถูกชักชวนไประดมทุนช่วยเขาปั่นหุ้นไป ดังนั้นต้องศึกษาหาความรู้และคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองเสมอ เพราะเงินทุนก็เป็นของตนไม่ใช่ของใคร ในตลาดหุ้นไม่มีคำว่าสายเกินไป แต่มีเวลาให้สำหรับผู้ที่มีความรู้เสมอ
การลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไป เวลาคนเราเห็นบริษัทเปิดใหม่ ซึ่งมักจะเป็นบริษัทที่เน้นการลงทุนด้วยเงินจากบรรดาสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ โดยสัญญาว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในจำนวนและระยะเวลาตามที่กำหนด ซึ่งคนที่ถูกหลอกมักจะไม่ใช่ตาสีตาสา แต่กลับเป็นคนที่มีความรู้ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี แต่ด้วยความโลภบังตาหรือเพราะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ประกอบกับการถูกทำให้เชื่อในช่วงแรกของการนำเงินไปลงทุนว่าได้รับผลตอบแทนกลับมาจริง ๆ จึงมีโอกาสทำให้ถูกหลอกเงินทุนไปได้ง่าย ๆ เพราะการที่เห็นว่าได้รับผลตอบแทนจริงจึงกล้าที่จะนำเงินไปลงทุนมากขึ้นเพื่อหวังผลตอบแทนที่มากขึ้นไปอีก บางคนขายรถ ยืมเงินเพื่อนและญาติมาลงทุนซึ่งทำให้ยิ่งมีมูลค่าความเสียหายจากการลงทุนมากขึ้น บางคนสูญเงินไปในหลักหลายแสนบาทถึงล้านบาทก็มี ในกรณีนี้ถือว่าขาดความเฉลียวใจตามหลักสามัญสำนึกว่าบริษัทนั้นประกอบธุรกิจอะไรถึงมีเงินค่าตอบแทนกลับมามากขนาดนี้ หลาย ๆ ครั้งธุรกิจลักษณะนี้มักจะอาศัยสินค้าและระบบธุรกิจที่ดูเหมือนมีการทำธุรกิจจริง ๆ เช่น แชร์รถเช่า แชร์ตั๋วเครื่องบิน แพ็คเกจท่องเที่ยว แต่ถ้าดูให้ลึก ๆ แล้วก็พบว่ามีลักษณะการระดมทุนจากการสมัครสมาชิกใหม่มากกว่า
การลงทุน นำเงินไปหาเงินนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ก็คือต้องมีทั้งความรู้ในข้อเท็จจริงได้แก่ประวัติความเป็นมาและผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่สามารถเรียนรู้ได้ เพราะตลาดหลักทรัพย์มีข้อกำหนดให้บริษัทมหาชนแสดงข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนได้รู้ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ส่วนที่ว่าเป็นศิลป์นั้นคือด้านอารมณ์และความรู้สึกในการลงทุน ซึ่งการลงทุนในสองลักษณะข้างต้นมีผลต่อด้านอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการลงทุนอื่น ๆ เพราะเห็นผลรวดเร็วทั้งในด้านกำไรและการขาดทุน แน่นอนว่าทุกการลงทุนไม่ว่าในตลาดหุ้นหรือการลงทุนในธุรกิจใดนอกตลาดหุ้นก็ตามล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่ก็ไม่มีใครมาบังคับว่าเราจะต้องลงทุนหรือไม่ อยู่ที่แนวคิดและความสามารถในการบริหารเงินรายได้ส่วนบุคคล การไม่เสี่ยงเลยก็ปลอดภัยแต่ก็จะไม่มีโอกาสได้รับผลตอบแทน แต่ถ้าเลือกที่จะเสี่ยงแล้ว ต้องเลือกที่จะตั้งใจหาความรู้ด้วย เพราะการลงทุนโดยไม่มีความรู้นั้นถือว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด