ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อน คำว่า ค่าแรงขั้นต่ำ
ค่าแรงขั้นต่ำ นั่นหมายถึง ค่าตอบแทนอัตราต่ำสุดที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ค่ะ
โดยเจตนาของรัฐในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตของลูกจ้างรายวันให้สูงขึ้นดีขึ้น ให้ลูกจ้างสามารถมีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่นับวันก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ และอีกนัยสำคัญก็คือต้องการที่จะลดระดับความยากจนของคนในประเทศให้ลดน้อยลงด้วยค่ะ แต่ในอีกมุมหนึ่งของผู้ประกอบการนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีย่อมส่งผลกระทบตรง ๆ กับต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ ทยอยปิดตัวลงเพราะรากฐานยังไม่แข็งแรงพอจึงโซเซล้มลงได้ง่าย ๆ ค่ะ หรือในอีกมุมหนึ่งของผู้บริโภคก็อื้ออึงว่าถึงจะมีการปรับรายได้ให้สูงขึ้นแล้วก็ตาม แต่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ก็พาเหรดกันปรับสูงขึ้นตามต้นทุนที่ผู้ประกอบการแบกรับเอาไว้ ทำให้รายได้ที่หามาก็ยังไม่พอกับรายจ่ายที่ต้องควักกันออกไปอยู่ดีค่ะ
สำหรับผู้ประกอบที่กำลังตั้งรับกับการปรับค่าแรงอยู่นั้น อาจจะหยิบยกเอาแนวทางเหล่านี้ไปใช้คู่กับแนวทางเดิมที่ผู้ประกอบการปฏิบัติอยู่ก็ได้ค่ะ เริ่มจาก แนวทางแรกคือ ลดต้นทุนและปรับราคา ในการทำธุรกิจนั้นมีอยู่เพียงสองทางบริหารเงินหลัก ๆ ก็คือ ลดรายจ่าย กับ เพิ่มรายได้ ในเมื่อเราต้องแบกรับภาระต้นทุนแรงงานที่ปรับสูงขึ้นตามกฎหมายจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องใช้วิธีควบคุมต้นทุนผันแปรด้านอื่น ๆ ทดแทนค่ะ เช่น บริหารจัดการสินค้าให้ดีอย่าปล่อยให้สินค้าค้างสต็อก เพราะเมื่อมีสินค้าตกค้างอยู่ในคลังสินค้า ผู้ประกอบการก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสินค้าเหล่านั้น และนั้นหมายถึงการผลิตเกินความต้องการของลูกค้า และในขั้นตอนการผลิตนั้นก็มีการใช้แรงงานคนมากเกินไปค่ะ
เรื่องการบริหารสินค้าคงคลังจึงสำคัญมาก ๆ ค่ะ หรือในกรณีที่มีสินค้าตีกลับเนื่องจากกล่องกระแทกหรือมีความเสียหายในบรรจุภัณฑ์ระหว่างการขนส่ง ก็ต้องนำมาพิจารณาและตรวจสอบสภาพของสินค้าดูอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้นำกลับมาใช้ได้ดีกว่าที่จะตีเป็นสินค้าเสียหายแล้วก็กำจัดทิ้งไป หรือ ถ้าเป็นสินค้าบริโภคที่มีวันหมดอายุกำหนดก็อาจจะนำมาขายเป็นสินค้าลดราคาก่อนวันหมดอายุเพื่อแปรเป็นรายได้กลับเข้ามาค่ะ ส่วนในกรณีที่ได้พยายามปรับลดและควบคุมต้นทุนดูแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าอยู่ดีก็คงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขายแทน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะทุกตลาดย่อมมีการแข่งขันที่สูง เว้นแต่ว่าแบรนด์ของคุณผู้ประกอบการแข็งแรงพอก็น่าจะสู้ไหวได้อยู่ค่ะ
หรือไม่ก็ต้องนำแนวทางการใช้ outsource เข้ามาช่วยแทนการว่าจ้างพนักงานประจำในบางตำแหน่งงานค่ะ ส่วนนี้ทางผู้ประกอบการต้องคิดคำนวณดูว่าค่าจ้างต่อเดือน และ ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เมื่อนำมาคิดรวมแล้วจะได้ค่าใช้จ่ายลดลงหรือเปล่าเมื่อเทียบกับ outsource ค่ะ โดยมากตำแหน่งงานที่มีการ outsource ก็คือ งานรับส่งเอกสาร กับ งานแม่บ้านสำนักงานค่ะ เพราะเป็นงานที่อาจจะไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ, ไม่ต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญอะไรมากนัก และการจ้างงานเป็นครั้งคราวก็เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนอีกด้วยค่ะ แนวทางถัดมาก็คือการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานอยู่เสมอค่ะ เพราะเมื่อพนักงาน 1 คน มีความรู้และความสามารถหลากหลายขึ้นก็จะสามารถทำงานทดแทนในส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น นับเป็นการทำงานแทนอีกหนึ่งคนได้เลยค่ะ และการที่คุณผู้ประกอบการปรับเงินเดือนขึ้นให้กับพนักงาน 1 คนนั้นย่อมเสียค่าใช่จ่ายน้อยกว่าการจ้างพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนแน่นอนค่ะ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถนำผลการวัดความสามารถในการทำงานของพนักงานแต่ละคนมาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มผลผลิตให้กับบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วยนะคะ
ถ้าปรับกลยุทธ์ด้านบุคลากรแล้วก็ยังไม่สามารถปั่นกำไรได้ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ แนวทางต่อไปที่คุณผู้ประกอบการน่าจะพิจารณาปรับใช้ดูก็คือ การหันมาใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้นค่ะ ซึ่งในบางอุตสาหกรรมที่อาศัยฝีมือของแรงงานเป็นหลักนั้นอาจจะไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยีเครื่องจักรจะละเอียดได้มากเท่ากับแรงงานคนหรือเปล่า ในอีกมุมหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ผสมรวมกับเครื่องจักรที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ๆ ก็ช่วยส่งเสริมให้การผลิตรวดเร็วขึ้น, ความผิดพลาดในขบวนการผลิตลดน้อยลง, จนทำให้บางอุตสาหกรรมหันมาใช้แรงงานเครื่องจักรมากกว่าคน อย่างน้อย ๆ ก็ไม่ค่อยจะมีปัญหากวนใจมากนัก แม้ว่าการลงทุนเงินก้อนแรกจะสูงมากแต่ถ้าผู้ประกอบการมองแผนธุรกิจดี ๆ ก็จะรู้ว่าหน่วยต้นทุนการผลิตต่อชิ้นจะต่ำลงกว่าการใช้แรงงานคนอยู่มากเลยค่ะ ดังนั้นการลงทุนกับเครื่องจักรจึงนับว่าคุ้มค่ามาก ๆ และยังสามารถช่วยลดต้นทุนในระยะยาวได้อีกด้วยค่ะ หรือถ้าคุณผู้ประกอบการมีแผนการขยายธุรกิจออกไปยังประเทศกลุ่ม AEC ก็อาจจะจับจังหวะนี้เป็นโอกาสย้ายฐานการผลิตไปในประเทศกัมพูชา, ลาว หรือ พม่า ที่มีค่าแรงคนงานที่ต่ำกว่ามากค่ะ แต่ก่อนจะย้ายไปลงทุนในต่างแดน คุณ ๆ ก็ควรศึกษาข้อมูลและแผนการขยายผังเมืองของประเทศนั้น ๆ กันให้ดีด้วยนะคะ และการเข้าไปลงทุนก่อนรายอื่น ๆ ก็น่าจะยิ่งช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าด้วยค่ะ