เมื่อความจำเป็นที่จะใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เข้ามาในแต่ละวัน หรือ แต่ละเดือนนั้นมียอดเงินมากกว่ารายได้ที่หาได้ หลายต่อหลายคนมักคิดหาทางออกให้ครอบครัว หรือ คัวคุณเองด้วยการหาสินเชื่อบุคคลเพื่อเบิกเงินล่วงหน้ามาใช้ประกอบอาชีพ หรือ จับจ่ายใช้สอยไปก่อน แต่คุณ ๆ เคยได้ศึกษากันบ้างหรือยังว่า สินเชื่อส่วนบุคคลที่คุณกำลังจะยื่นเรื่องสมัครนั้น ทางธนาคาร หรือ ทางผู้ให้บริการเหล่านั้นเขาคิดดอกเบี้ย, ค่าธรรมเนียม, ระยะเวลาการกู้ยืม หรือ วางเงื่อนไขเกี่ยวกับวงเงินกู้ก้อนนั้นไว้อย่างไรบ้างค่ะ ถ้าคุณ ๆ ยังไม่รู้รายละเอียดอะไรมากนัก ก็มาศึกษากันสักนิดก่อนที่จะจรดปากกาขอสินเชื่อสักก้อนดีกว่ามั๊ยคะ
เริ่มจากคำว่า “วงเงินกู้” ก่อนเลยนะคะ โดยหลักการทั่วไปของผู้ให้บริการ เขาก็จะพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้จากสองส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกันนั่นก็คือ ฐานรายได้ของผู้กู้ และ หนี้ที่มีอยู่เดิมของตัวผู้กู้เองค่ะ แต่ถ้าสินเชื่อที่คุณ ๆ เล็งกันอยู่คือกลุ่มสินเชื่อบัตรกดเงินสดนั้น เขาก็จะคิดคำนวณวงเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 2 – 3 เท่าของรายได้ค่ะ แต่ถ้าคุณ ๆ เป็นลูกค้าปัจจุบันของสถาบันการเงินแห่งนั้นอยู่แล้ว และก็มีประวัติการชำระเงินที่ดีกับทางสถาบันการเงินแห่งนั้นมานานกว่า 1 ปีขึ้นไป เป็นไปได้นะคะว่าทางสถาบันการเงินอาจจะพิจารณาเพิ่มวงเงินกู้ให้กับคุณมากขึ้นกว่าปกติได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ก็จะไม่มากเกินไปกว่า 5 เท่าของรายได้ต่อเดือนค่ะ อันนี้เป็นกฎระเบียบของทางแบงก์ชาติค่ะ ทุกสถาบันการเงินจำเป็นต้องให้บริการบนพื้นฐานเดียวกันค่ะ หรือในกรณีสินเชื่อบุคคลที่ให้เป็นเงินก้อนไปนั้น ก็จะให้วงเงินสูงสุดไม่มากเกินกว่า 5 เท่าของรายได้ต่อเดือนเช่นเดียวกันค่ะ เพราะเป็นกฎของทางแบงก์ชาตินะคะ
และอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทางสถาบันการเงินต่าง ๆ จะพิจารณาดูประกอบการให้วงเงินกู้ก็ คือ เรื่องของหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ บุคคลค้ำประกัน, ฐานรายได้, รายจ่ายโดยรวม, ความสามารถในการนำส่งเงินแต่ละงวด และ พฤติกรรมการชำระหนี้ที่ผ่าน ๆ มาค่ะ
ส่วนที่ 2 เรื่องของ “ระยะเวลากู้” ก่อนอื่นคุณ ๆ ต้องทำความเข้าใจกันสักนิดว่า สินเชื่อแต่ละประเภท หรือ แต่ละก้อนนั้นจะมีระยะเวลาการชำระคืนที่แตกต่างกันออกไปค่ะ ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเป็นกรณีบัตรกดเงินสดนั้น ผู้กู้สมัครเพียงแค่ครั้งเดียวก็ใช้วงเงินที่ได้รับอนุมัติมาไปตลอด จึงเหมือนกับว่าเป็นลักษณะการกู้เงินหมุนเวียน นั่นก็คือ เมื่อผู้กู้จ่ายเงินคืนก็สามารถทำการกดเงินครั้งต่อไปได้ใหม่ วนไปเรื่อย ๆ ค่ะ ในทางกลับกัน ถ้าเป็นลักษณะวงเงินสินเชื่อบุคคลที่กู้ออกมาเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวนั้น เมื่อผู้กู้ทำการขอสินเชื่อออกไปใช้ก็จะมีกำหนดระยะเวลาการผ่อนคืนระบุไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก ๆ ค่ะ ซึ่งอันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ทั้งหมดและดอกเบี้ยที่ต้องชำระประกอบกันไปด้วยค่ะ และถ้าหากว่าผู้กู้ต้องการใช้เงินก้อนเพิ่มอีกก็จำเป็นต้องทำการขอกู้กันใหม่อีกครั้งค่ะ โดยทั่ว ๆ ไป สำหรับวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ระยะเวลาการชำระเงินคืนสูงสุดก็จะอยู่ที่ประมาณ 60 เดือน หรือไม่เกิน 5 ปีเท่านั้นค่ะ ส่วนถ้าเป็นวงเงินสินเชื่อหลักทรัพย์ค้ำประกันก็อาจจะขยายระยะเวลาการชำระเงินคืนสูงสุดให้ได้มากถึง 30 ปีค่ะ แต่สุดท้ายนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางสถาบันการเงินแต่ละแห่งด้วยค่ะ
ถัดมาที่เรื่องน่ารู้ไว้ก็คือ เรื่องการคิดคำนวณดอกเบี้ย และ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ค่ะ ซึ่งในการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อบุคคลนั้น สามารถทำการคิดได้ 2 วิธีด้วยกันนะคะ จะใช้แบบไหนวิธีไหนนั้นก็แล้วแต่ทางสถาบันการเงินเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขค่ะ อัตราดอกเบี้ยแบบที่ 1 ก็คือ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ หรือ flat interest rate ค่ะ ลักษณะของดอกเบี้ยแบบนี้ก็คือจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเดียวกันตลอดทั้งอายุสัญญาเงินกู้ค่ะ หลักการง่าย ๆ ก็คือ เขาจะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่คุณกู้ยืมไปแล้วคำนวณทีเดียวเลย ไม่สนใจว่ายอดเงินต้นลดลงไปแล้วเท่าไรค่ะ จากนั้นก็นำดอกเบี้ยที่ได้ไปรวมกับเงินต้นที่ขอกู้ยืมแล้วก็ค่อยนำมาหารเฉลี่ยเป็นยอดต่องวด หรือ ยอดชำระต่อเดือนค่ะ โดยแต่ละงวดก็จะต้องจ่ายเป็นยอดเท่า ๆ กัน ตามกำลังที่คุณมีพอจะผ่อนได้ไหวค่ะ คล้าย ๆ กับเวลาที่คุณทำสัญญาเช่าซื้อ หรือ ผ่อนรถสักคันนั่นเองค่ะ หรือ คิดคำนวณแบบอัตราดอกเบี้ยแบบที่ 2 ก็คือ อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือ Effective rate ค่ะ ซึ่งการคำนวณดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในแต่ละงวดนั้น จะนำยอดเงินหนี้ที่คงเหลืออยู่มาคิดดอกเบี้ยค่ะ หรือจะเรียกว่า คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่ยังค้างชำระอยู่จนกว่าจะจ่ายชำระเงินต้นจนครบหมดค่ะ วิธีคิดแบบนี้ ถ้าผู้กู้สามารถชำระเงินได้สม่ำเสมอตามยอดที่เรียกเก็บหรือชำระเงินได้มากกว่ายอดที่เรียกเก็บ ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้ยอดเงินต้นลดน้อยลงมาค่ะ และเมื่อยอดเงินต้นลดลง ยอดดอกเบี้ยก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงตามไปด้วยค่ะ เข้าทำนองเดียวกับสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน อย่างนั้นเลยค่ะ ในสินเชื่อบัตรกดเงินสดนั้น ก็จะคิดคำนวณอย่างนี้เช่นกันนะคะ
และอันดับสุดท้ายที่คุณ ๆ ต้องพิจารณาก็คือ บรรดาค่าธรรมเนียมทั้งหลายว่าแต่ละสถาบันการเงินเขาคิดอะไรบ้างและที่อัตราเท่าไร เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน, ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบข้อมูลเครดิต, ค่าธรรมเนียมกรณีชำระต่างธนาคาร และ ค่าธรรมเนียมติดตามทวงหนี้ เป็นต้น ทีนี้ จะกู้สินเชื่อบุคคลดีหรือเปล่า คงได้คำตอบกันแล้วนะคะ