ความเป็นครอบครัวทำให้คุณต้องช่วยกันบริหารการเงิน เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือก็ย่อมจะควบคุมค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ เช่นคนหนึ่งใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อีกฝ่ายใช้จ่ายแบบไม่ยั้งคิด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาทางการเงินตามมา ดังนั้น จึงควรปรึกษาและวางแผนการเงินร่วมกัน แนวทาง บริหารเงินในครอบครัว จะช่วยให้คุณได้เข้าใจมากขึ้น
การควบคุณปริมาณค่าใช้จ่าย
เมื่อการเงินในครอบครัวไม่พอใช้จ่าย สิ่งหนึ่งที่ทุกคนในครอบครัวควรตระหนักคือ การควบคุมปริมาณค่าใช้จ่าย ซึ่งคุณสามารถควบคุมได้จริงๆ โดยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หรือใช้นโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาลเข้าช่วย โดยเริ่มที่ตัวเองแบบง่ายๆ ก่อนที่บ้าน เช่น เรื่องการประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ประหยัดค่าอาหาร ประหยัดค่าเดินทางไปทำงาน ซื้อของแบบประหยัด และท่องเที่ยวแบบประหยัด เป็นต้น
การเงินในครอบครัวต้องช่วยกัน
ครอบครัวเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะต้องกินต้องใช้อยู่บ้านเดียวกัน การเงินในครอบครัวจึงจำเป็นต้องได้รับการร่วมมือร่วมใจด้วยกัน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มฝืดเคือง เงินที่หามาได้น้อยกว่ารายจ่าย ถึงแม้จะหาวิธีออกไปทำมาหากินแล้วก็ตาม แต่ยังโชคดีที่มีเงินเดือนประจำพอจุนเจือครอบครัวอยู่บ้าน ดังนั้น สามี ภรรยาและลูกจึงต้องช่วยกันวางแผนการใช้เงินโดยให้เป็นไปตามหลัก รับเข้ามากกว่าจ่ายออก อาศัยความอดทน อดกลั้น อดใจ ที่จะลด ละ เลิก ในการซื้อสิ่งของที่เกินความจำเป็น ควรกำหนดข้อตกลงร่วมกันว่า หากของที่ใช้ยังไม่หมดก็ยังไม่ซื้อ หรือไม่มีเงินสดก็จะไม่ซื้อโดยเด็ดขาด เพียงเท่านี้ฐานะการเงินในครอบครัวจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น และถ้าทำไปได้ตลอดก็จะทำให้หลุดพ้นจากสภาวะเป็นหนี้ได้ในที่สุด
ใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือนปัญหาหนักอก
บางคนอยู่ในสภาวะใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน เรียกว่าหากอยากได้สิ่งใดเพิ่มย่อมทำไม่ได้เลย หรืออยากกินอาหารดีๆ ก็ต้องคิดแล้วคิดอีกกลัวเงินจะไม่ชนเดือน แต่ก็ต้องถือว่ายังดีอยู่มากเพราะมากคนเงินออกปุ๊บก็หมดปั๊บเลยทีเดียว ระหว่างเดือนต้องหมุนเงินจนแทบไม่ทัน ทำให้เสียสุขภาพจิต เมื่อเกิดภาวะใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือนซึ่งยังไม่ค่อยดีนัก คุณควรมีความรู้สึกว่ามีเงินส่วนเกินรออยู่ให้อุ่นใจบ้าง เช่น มีเงินกันไว้สักหมื่นสองหมื่นบาทแล้วค่อยทำให้เงินส่วนนี้เพิ่ม เรียกเงินก้อนนี้ว่า เงินแห่งความสบายใจ อย่างน้อยเมื่อนึกถึงขึ้นมาก็พอใจชื้นว่า ฉันยังมีเงินเก็บไว้อยู่บ้าง หากมีเหตุฉุกเฉินก็ไม่เดือดร้อนมากนัก นโยบายของรัฐบาลในเรื่องให้ผู้คนอดออมสามารถนำมาใช้เพื่อความอุ่นใจในครอบครัวได้
รู้จักกินรู้จักใช้ทางเลือกที่ชาญฉลาด
คนเราก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกินการใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถ้าหากคุณสักแต่จะกินจะใช้โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ย่อมทำให้การเงินถึงวิกฤติเข้าสักวันหนึ่ง ก่อนใช้ทุกครั้งควรไตร่ตรองให้รอบคอบว่าจะกินอะไร คุ้มค่า มีประโยชน์ไหม ราคาสมน้ำสมเนื้อหรือเปล่า หากทำอาหารกินเองจะเกิดผลดีมากกว่าหรือไม่ หากคุณลองได้ถามตัวเองแบบนี้บ่อยๆ คำตอบที่ดีและถูกต้องก็จะเป็นหนทางไปสู่การฉลาดกินนั่นเอง
ในส่วนรู้จักใช้ก็เช่นเดียวกัน สิ่งของอำนวยความสะดวกหากมีไว้ใช้จะประหยัดเวลาและเงินมากกว่าก็ควรมี เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น โทรทัศน์เพื่อรับฟังข่าวสารบ้านเมือง ส่วนของใช้ที่ไม่จำเป็นก็ให้อยู่ในดุลยพินิจว่าควรมีไว้หรือไม่ และเมื่อได้สิ่งของมาแล้วควรรักษาดูแล ทำความสะอาดเป็นประจำ เพื่อให้สิ่งของมีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่ต้องหาเงินไปซื้อมาทดแทนอีก เรียกว่าฉลาดใช้นั่นเอง
หัดออมเงินตัวเลือกที่สำคัญ
การเงินในครอบครัวจะอุ่นใจย่อมขาดสิ่งนี้ไม่ได้เลย นั่นคือการออมเงิน หากเวลานี้ใครยังไม่ได้เริ่มออมเงินเลยควรหัดออมเงินได้แล้ว เพราะประโยชน์จากการทำสิ่งนี้มีมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเกิดเหตุฉูกเฉินต้องใช้เงินเร่งด่วน หยิบยืมใครก็ยาก เงินส่วนนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน หรือถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉิน ก็ยังสามารถนำเงินนี้ไปลงทุนขยับขยายรายได้ให้งอกเงยขึ้นมาได้
การหัดออมเงินนั้นทำไม่อยากเลย โดยใช้หลักเริ่มจากน้อยไปหามากเอาเท่าที่คุณทำได้ เช่น เริ่มจากวันละ 5 บาท 10 บาท หรือระบบรายเดือนก็เริ่มจาก ออมเดือนละ 300 500 1000 ไปเรื่อยๆ และนำแยกบัญชีไว้ต่างหาก เพียงเท่านี้อีกไม่นานเงินออมก้อนนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องสนุกที่อยากออมเพิ่ม แต่หากคนที่ไม่เคยและไม่คิดจะออมเงินคงจะได้รับประสบการณ์เช่นนี้ยาก นอกจากต้องลองด้วยตัวเองถึงจะรู้ว่ามันดีอย่างไร ส่งผลต่อจิตใจอย่างไรบ้าง
แก้ไขปัญหาด้วยตนเองเกี่ยวกับการเงิน
หากคุณอยากให้ครอบครัวมีทิศทางการเงินแบบใด ควรเริ่มฝึกตัวเองให้เห็นเสียก่อน เช่น หากมีปัญหาเรื่องการอดกลั้นใจไม่ไหวเมื่อเห็นเสื้อตัวสวยๆ คุณก็ต้องเริ่มฝึกตนเองให้คิดเป็นว่า เสื้อของเราก็มีเยอะแล้ว และยังใส่ไม่หมด เราหมดกับเสื้อผ้าไปเยอะแล้ว ครอบครัวก็พูดไม่ออก ดังนั้น ตั้งแต่นี้ไปฉันจะหยุดซื้อเสื้อผ้าไว้ก่อนสัก 1 เดือน หากคุณทำได้ก็เพิ่มจำนวนเดือนเข้าไปให้ยาวออกไปอีก และให้สังเกตข้อดีของการไม่ซื้อเสื้อผ้าเหล่านั้น เมื่อรู้แจ้งแก่ใจแล้ว จึงนำเรื่องที่ตนปฏิบัติได้ไปแนะนำคนในครอบครัวให้ทำตาม การเห็นตัวอย่างที่ดีย่อมดีกว่าคำบอกเล่า จริงไหมคะ
การเงินในครอบครัวหากได้ช่วยกันและฝึกตนเองแล้ว ย่อมทำให้ฐานะการเงินในครอบครัวดีขึ้น และไม่เป็นปัญหาต่อสังคมและประเทศชาติ เพราะแต่ละครอบครัวบริหารการเงินเป็นทำให้ไม่เดือดร้อน ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชม