ตอนที่คุณยังเด็กนั้นจำได้หรือไม่ว่าพ่อแม่ให้เงินไปโรงเรียนเท่าไหร่?
คุณอาจบอกว่า ใครจะไปจำได้ แต่ที่คุณน่าจะจำได้แน่ๆ คือตอนแรกพ่อแม่ของคุณย่อมไม่กล้าที่จะให้เงินคุณเยอะหรอก เพราะเค้าคิดว่าคุณยังเด็ก และยังไม่สามารถที่จะดูแลเงินจำนวนมากได้ คุณต้องแสดงให้พวกเขาเห็นก่อนว่าสามารถดูแลจำนวนเงินนี้ได้ เขาถึงกล้าที่จะให้เงินมากขึ้น
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการบริหารเงินเป็นเรื่องของคนรวย ต้องมีเงินมากๆก่อน ถึงค่อยมาคิดเรื่องการบริหารเงิน นั่นเป็นความคิดที่ผิดมาก เพราะถ้าแค่เงินจำนวนน้อยๆ คุณยังไม่สามารถบริหารจัดการได้ แล้วเงินจำนวนมากกว่านี้ล่ะ?
ที ฮาร์ฟ เอคเคอร์ ผู้เขียนหนังสือ “ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน” หรือ “Secret of the Millionaire Mind” ที่โด่งดัง ได้แนะนำให้เรามีการแบ่งการบริหารเงินออกเป็น 6 บัญชี เนื่องจากวิธีการบริหารเงินที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การแบ่งแยกรายได้ของคุณไปใส่ไว้ในบัญชีต่างๆ โดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
สิ่งที่คุณต้องทำคือ เตรียมกระปุกเพื่อใส่เงินในแต่ละบัญชีจำนวน 6 กระปุก ไว้ที่บ้าน คุณอาจสงสัยว่าทำไมต้องเป็นกระปุกด้วย เก็บไว้ในบัญชีธนาคารเลยไม่ได้หรือ? ผมอยากให้คุณทำความเข้าใจก่อนว่า จิตใต้สำนึกของคนเราจะทำงานและจดจำได้ดีในสิ่งที่เห็นเป็นภาพ ซึ่งการที่คุณนำเงินไปใส่ลงในกระปุก จะทำให้จิตใต้สำนึกได้เห็นภาพ เพื่อที่มันจะได้จดจำและก่อให้เกิดนิสัยที่ดีทางการเงินให้กับคุณได้ ทั้งนี้ภายหลังจากที่คุณนำเงินใส่กระปุกแล้ว คุณค่อยนำเงินมาใส่บัญชีธนาคารทีหลังก็ย่อมได้
เรามาดูว่าบัญชีทั้ง 6 บัญชีที่ว่า มีอะไรบ้าง? และสัดส่วนการแบ่งเงินที่จะบริหารเงินในแต่ละบัญชีควรเป็นเท่าไหร่?
- บัญชีอิสรภาพทางการเงิน หรือ Financial Freedom Account : คุณต้องนำเงินของคุณ 10% มาใส่ไว้ในบัญชีนี้ โดยวัตถุประสงค์ของบัญชีนี้ก็คือ เป็นเงินที่ใช้สำหรับการนำไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้ให้งอกเงยมากขึ้น และเพื่อให้เพียงพอเมื่อถึงวันที่คุณไม่ทำงานแล้ว (หรือในวันที่คุณเกษียณแล้วนั่นเอง) ซึ่งเงินในส่วนนี้ห้ามนำไปใช้จ่ายเด็ดขาด เคล็ดลับอีกข้อนึงสำหรับการบริหารเงินในบัญชีนี้ก็คือ คุณต้องนำเงินไปใส่ในกระปุกนี้ทุกวัน จะมากจะน้อยไม่เป็นไร ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อทำให้คุณพุ่งความสนใจไปที่อิสรภาพทางการเงินของคุณมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตของคุณมุ่งไปในทิศทางนั้นด้วยเช่นกัน
- บัญชีเพื่อใช้จ่ายเล่น หรือ Play Account : คุณต้องนำเงินของคุณ 10% มาใส่ไว้ในบัญชีนี้ โดยวัตถุประสงค์ของบัญชีนี้ก็คือ เป็นเงินที่นำไปใช้สนองความต้องการของคุณ พูดง่ายๆ คือ นำไปถลุงเล่นนั่นแหละ (เป็นบัญชีในฝันของใครหลายๆ คนเลยใช่มั้ยล่ะครับ?) ที่สำคัญคือ คุณต้องใช้ให้หมด อย่าให้เหลือ วิธีนี้จะทำให้คุณได้รู้สึกถึงความมั่งคั่งและความเหลือเฟือของคุณ ว่าถ้ามีอิสรภาพทางการเงินแล้วจะเป็นยังไง
- บัญชีเพื่อการศึกษา หรือ Education Account : คุณต้องนำเงินอีก 10% มาใส่ไว้ในบัญชีนี้ โดยวัตถุประสงค์ของบัญชีนี้ก็คือ เป็นเงินที่นำไปใช้ในการพัฒนาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรม สัมมนา การซื้อหนังสือ เป็นต้น โดย ที ฮาร์ฟ เอคเคอร์ เคยกล่าวว่า “ถ้าคุณคิดว่าการจ่ายเพื่อ ‘ความรู้’ นั้นแพง ก็ลองนึกถึงสิ่งที่คุณต้องจ่ายเพราะ ‘ความไม่รู้’ ดูสิ สุดยอดการลงทุนคือ การลงทุนในตัวเองนะครับ!
- บัญชีเงินออมระยะยาวเพื่อการใช้จ่าย หรือ Long Term Saving for Spending Account : คุณต้องนำเงินของคุณ 10% มาใส่ไว้ในบัญชีนี้ โดยวัตถุประสงค์ของบัญชีนี้ก็คือ เป็นเงินที่นำไปใช้สำหรับรายจ่ายใหญ่ๆ เป็นการให้รางวัลชิ้นใหญ่กับตัวเอง เช่น การไปเที่ยวต่างประเทศ หรือซื้อรถยนต์คันใหม่ เป็นต้น
- บัญชีเพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็น หรือ Necessities Account : คุณต้องนำเงินของคุณ 55% มาใส่ไว้ในบัญชีนี้ โดยวัตถุประสงค์ของบัญชีนี้ก็คือ เป็นเงินที่นำไปใช้เป็นรายจ่ายในชีวิตประจำวันของคุณ
- บัญชีเพื่อการให้ หรือ Give Account : คุณต้องนำเงินของคุณ 5% มาใส่ไว้ในบัญชีนี้ โดยวัตถุประสงค์ของบัญชีนี้ก็คือ เป็นเงินที่นำไปใช้ในการบริจาค ทำบุญ ให้แก่บุพการี รวมถึงให้แก่คนที่คุณรัก ทั้งนี้เพื่อให้คุณได้เรียนรู้ความรู้สึกของการเป็นผู้ให้ที่เอื้อเฟื้อ
คุณสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนในการบริหารเงินใจแต่ละบัญชีได้ตามความเหมาะสมกับสถานภาพทางการเงินในชีวิตของคุณในปัจจุบัน เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่มันอยู่ที่การสร้างนิสัยในการบริหารเงินของคุณต่างหาก จริงๆ แล้วคนรวยไม่ได้เก่งกว่าคนจนไปซะทุกอย่าง แต่สิ่งที่คนรวยเก่งกว่าคนจนแน่ๆ คือความสามารถในการบริหารเงิน คนจนมักคิดว่าต้องมีเงินมากๆ ก่อน ถึงค่อยคิดที่จะบริหารเงิน ในขณะที่คนรวยรู้ว่าเพราะการบริหารเงินนั่นแหละ ที่ทำให้เค้าร่ำรวย
ถ้าคุณไม่รู้จักควบคุมเงินในวันนี้ ต่อไปในภายภาคหน้า เงินจะเป็นฝ่ายควบคุมชีวิตคุณแทน ถ้าไม่อยากตกเป็นทาสของเงิน ต้องรู้จักบริหารเงินนะครับ!