คนส่วนใหญ่มักชอบรู้เรื่องราวภายนอกตัวเอง คือรู้เรื่องคนอื่นไปหมด ใครนิสัยเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร รู้ทุกเรื่อง แต่กลับลืมรู้จักและสำรวจคนที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นก็คือ “ตัวเราเอง” การหมั่นรู้จักที่จะสำรวจตัวเอง ว่าเราเป็นคนแบบไหน มีนิสัยและบุคลิกเป็นอย่างไร จะทำให้เรารู้ว่าเราอะไรที่เหมาะกับเรา ข้อดีก็คือ เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรที่เหมาะสมกับเรา จะทำให้ความคิดและพฤติกรรมของเรานั้น ก็จะสอดคล้องไปทางนั้นด้วย ซึ่งจะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คนเราแต่ละคนนั้น ย่อมมีบุคลิกที่แตกต่างกันไป ก่อนอื่นเรามาเข้าใจความหมายของคำว่า “บุคลิก” กันก่อน บุคลิก หมายถึง ลักษณะเด่นเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ดังนั้นบุคลิกถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแต่ละคนจึงมีบุคลิกที่ไม่เหมือนกัน บุคลิกด้านการเงินก็เช่นกัน แต่ละคนก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามเราสามารถแบ่งประเภทของ บุคลิกด้านการเงิน ออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้คุณได้ทำความรู้จักและสำรวจ บุคลิกด้านการเงิน ของตัวคุณเอง รวมถึงเรียนรู้ข้อดี-ข้อเสียของ บุคลิกทางการเงิน ในแต่ละด้าน ดังนี้
- พวกชอบเก็บเงิน หรือ Saver : คนกลุ่มนี้มักเป็นพวกที่มีความสุขเมื่อเห็นจำนวนเงินที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในบัญชีของตัวเอง มีความสุขในการสะสมเงิน เป็นประเภทที่เรียกว่า “มีสลึงพึงบรรจบ ให้ครบบาท” แต่จะเป็นทุกข์หากต้องใช้เงิน ไม่ชอบที่จะเอาเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เนื่องจากเห็นคุณค่าของเงิน
ข้อดีของบุคลิกด้านการเงินแบบนี้ คือ การมีวินัย คนที่จะสามารถเก็บออมเงินได้มากๆ เป็นระยะเวลานาน ต้องเป็นคนที่มีวินัยสูงมาก แต่ข้อเสียคือ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกเซฟๆ มักยึดติดกับความมั่นคง ซึ่งการยึดติดกับความมั่นคงนั้น มักจะมาพร้อมกับความกังวลใจ สิ่งนี้เองอาจเป็นเหตุที่ทำให้เสียเงินก้อนใหญ่ นอกจากนี้การที่เป็นคนที่ช่างเก็บหอมรอมริบ จนบางครั้งอาจทำให้กลายเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวได้ รวมถึงยังเป็นบุคลิกที่ขาดพลังในการดึงดูดเงินด้วย วิธีแก้ก็คือ ควรรู้จักเพิ่มรายจ่ายที่จะนำไปสนองความสุขของตัวเองบ้าง เช่น ดูหนัง ไปเที่ยว ซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย (แต่อย่าเยอะจนเกินไปนะครับ) รวมถึงรู้จักบริจาคเงิน เช่น การทำบุญ การบริจาคต่างๆ เป็นต้น
- พวกชอบใช้เงิน หรือ Spender : คนกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มที่มีความสุขกับการใช้เงิน เรียกได้ว่าเป็นพวกที่ตรงกันข้ามกับ Saver คือถ้าให้มาเก็บเงินจะทำได้ยาก แต่ถ้าเงินนี่งานถนัดเลย
ข้อดีของบุคลิกด้านการเงินแบบนี้ คือ มีพลังในการดึงดูดเงิน และมักมีโอกาสดีๆ เข้ามาหาอยู่เสมอ ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากข้อดีดังกล่าว โดยไม่ปล่อยให้โอกาสดีๆ หลุดลอยไป ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จด้านการเงินได้ในอนาคต ส่วนข้อเสียของบุคลิกด้านการเงินแบบนี้ คือ เป็นคนที่ขาดวินัยด้านการเงิน เก็บเงินไม่อยู่ เงินรั่วไหลออกไปตลอด ถึงแม้จะหามาได้มาก แต่ก็มักจะใช้ออกไปจนหมดอยู่ดี วิธีแก้ก็คือ เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะตรงกันข้ามกับพวก Saver โดยสิ้นเชิง คือพวก Saver ต้องรู้จักเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับตัวเอง แต่พวก Spender ต้องเรียนรู้ที่จะมีวินัยในการเก็บเงิน และต้องรู้จักตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป
- พวกชอบหลีกเลี่ยง หรือ Avoider : คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่ไม่ชอบอยู่กับตัวเลข เราจะไม่เจอคนกลุ่มนี้เลย กับงานจำพวกบัญชีหรือการเงิน พวกเค้ามักจะหลีกเลี่ยงพวกตัวเลขตลอดเวลา เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว จึงมักจะให้ผู้อื่นเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเงินให้แทน
ข้อดีของบุคลิกด้านการเงินแบบนี้ คือ มักจะเป็นคนที่มีสติ เพราะสามารถอยู่กับปัจจุบัน (Stay Present) ได้มากกว่าบุคลิกแบบอื่น จึงทำให้ไม่ค่อยมีเรื่องกังวลเกี่ยวกับการเงินเท่าไหร่นัก ส่วนข้อเสียคือ มักจะไม่ค่อยโตในหน้าที่การงานหรือการทำธุรกิจ โดยมากมักจะแค่พออยู่รอดได้เท่านั้น วิธีแก้คือ ต้องรู้จักเรียนรู้เรื่องการบริหารเงิน (Money Management) โดยแบ่งเงินออกส่วนๆ ตามวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ว่าเงินแต่ละส่วนจะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เงินที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินที่ใช้สำหรับลงทุน เงินที่เป็นเงินออม เป็นต้น
- พวกชอบทางธรรม หรือ Monk : คนกลุ่มนี้เป็นพวกชอบทำบุญ เพราะโดยพื้นฐานเป็นคนที่ใจบุญสุนทาน มักจะมีรายจ่ายในเรื่องของการทำบุญค่อนข้างมาก แต่ไม่ค่อยชอบที่จะหาเงิน
ข้อดีของบุคลิกด้านการเงินแบบนี้ คือ เป็นคนที่มีจิตใจดี มีน้ำใจ ชอบที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ข้อเสียคือ มักจะมีนิสัยเกลียดเงิน เพราะคิดว่าเงินให้ความสุขทางใจไม่ได้ หรือไม่ก็คิดว่าเงินเป็นสิ่งชั่วร้าย ทำให้มนุษย์มีความโลภ จึงไม่อยากเก็บเงินไว้กับตัว วิธีแก้คือ ต้องมีการปรับความคิด และมุมมองเกี่ยวกับเงิน ที่สำคัญต้องรู้จักรักและให้เกียรติเงินให้มากขึ้นด้วย
การเรียนรู้บุคลิกด้านการเงินนั้นไม่ได้เป็นการบอกว่าบุคลิกไหนดีกว่าบุคลิกไหน เพราะทุกๆ บุคลิกด้านการเงินนั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป เราเรียนรู้เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าตัวเราเองมีบุคลิกด้านการเงินแบบไหน ข้อดีคืออะไร จะได้นำไปพัฒนาและใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนข้อเสียก็ต้องเรียนรู้เพื่อจะได้ระวังตัวให้มากขึ้น และหาทางแก้ไข
รู้จักใคร ก็ไม่สู้ “รู้จักตัวเอง” นะครับ!