คุณรู้หรือไม่คะ ว่าในแต่ละวันที่คุณทำกิจวัตรประจำวันนั้นคุณได้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกรรมใน สถาบันการเงิน ด้วย จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้สถาบันการเงินจะมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยเพิ่มมากขึ้น แทบทุกครัวเรื่อนเลยก็ว่าได้นะคะ ที่ต้องดำเนินการหรือพึงพา สถาบันการเงิน ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับ สถาบันการเงิน ในแต่ละประเภทกันดีกว่านะคะ โดยแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างหรือมีอำนาจหน้าที่ทำอะไรบ้าง
ก่อนอื่นเราต้องมาทราบความหมายของสถาบันการเงินกันก่อนนะคะ โดยสถาบันการเงิน คือ สถาบันที่ทำหน้าที่ระดมเงินออม ให้กู้ยืมแก่ผู้ที่ต้องการเงินไปเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการลงทุนดำเนินธุรกิจ โดยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ออม และคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืม กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อคนเราประกอบอาชีพมีรายได้เกิดขึ้น เขาย่อมมีอิสระที่จะนำรายได้นั้นไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคก็ได้ หรือจะเก็บออมไว้ในสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยงอกเงยก็ได้ และทางด้านการเงินของประเทศปกติก็จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งมีรายได้แล้วต้องการจะเก็บออมไว้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งต้องการเงินทุนไปประกอบธุรกิจของตน สถาบันการเงินจะเข้ามาเป็นตัวกลางให้บริการทางการเงินแก่คนทั้ง 2 กลุ่มนี้ สถาบันการเงินจะระดมเงินออกจากประชาชนในรูปแบบต่างๆ กัน แล้วให้ผู้ที่ต้องการกู้ยืมไปลงทุนในกิจการของตน ซึ่งสถาบันการเงินนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
ธนาคารพาณิชย์ นั่นคือ บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงิน ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยและหลักทรัพย์ ธุรกิจอนุพันธ์ทางการเงิน ธุรกิจธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจการเงินและธุรกิจการให้บริการอื่น ธนาคารพาณิชย์แบ่งออกได้อีก 4 ประเภท ดังนี้
- ธนาคารพาณิชย์ไทย ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 14 แห่งคือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารทหารไทย , ธนาคารทิสโก้,ธนาคารไทยพาณิชย์ ,ธนาคารธนชาต , ธนาคารยูโอบี , ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ,ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารไอซีบีซี
- ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย คือ บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้บริการทางการเงินพื้นฐาน เช่น การรับฝากเงิน การโอนและรับชำระเงินแก่ประชาชนรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ และตราสารอนุพันธ์ ซึ่งปัจจุบันมี 1 แห่งคือธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ คือ บริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทยและได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยมีธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมี 2 แห่งคือธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ คือสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมี 14 แห่งคือ ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ธนาคารดอยซ์แบงก์ ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ เอ็น.วี. ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ธนาคารมิซูโฮ จำกัด ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด ธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด ธนาคารแห่งอเมริกาเนชั่นแนลแอสโซซิเอชั่น ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด ธนาคารอินเดียนโอเวอร์ซีส์ ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
บริษัทเงินทุน นั่นคือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน โดยรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ และสามารถให้กู้ยืมเงินตามประเภทของธุรกิจเงินทุนที่ได้รับอนุญาต เช่น การให้กู้ยืมเงินระยะปานกลางและระยะยาวแก่กิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือพาณิชยกรรม การให้เช่าซื้อบางประเภท แต่ไม่สามารถประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันมี 2 แห่งคือบริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็น บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยสามารถรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่จะจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และต้องฝากเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาท โดยสามารถให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ การรับซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายฝาก ซึ่งปัจจุบันมี 3 แห่งคือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ลินน์ ฟิลลิปส์ มอร์ทเก็จ จำกัด บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สหวิริยา จำกัด และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด
เป็นที่ทราบกันอย่างแน่นอนกันแล้วนะคะว่าไม่ว่าคุณจะทำการฝาก ถอน โอน หรือกู้นั้น ล้วนแต่เป็นการดำเนินการทางธุระกรรมกันทั้งนั้น จะสังเกตุได้ว่าในการดำเนินชีวิตในประจำวันนั้นคุณต้องอาศัยสถานบันทางการเงินเป็นอย่างมากเลยทีเดียวนะคะ แล้วในวันนี้ล่ะคะคุณได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานบันการเงินได้ดีเพียงไหน ได้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าวันนี้คุณได้ทราบข้อมูลที่เพียงพอต่อการดำเนินงานหรือยัง เชื่อเถอะค่ะว่าสถาบันการเงินนั้นจะยังอยู่ในการดำเนินชีวิตของคุณอีกยาวไกลเชียวเลย และคุณต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างดีก่อนที่คุณจะได้ทำธุระกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงิน เพื่อความเข้าใจ และความรวดเร็วในการดำเนินการทางธุระกรรมนั่นเองค่ะ