คนในยุคปัจจุบันหันมาใส่ใจเรื่องการวางแผนเกษียณกันมากขึ้น สำหรับเหตุผลนั้นเท่าที่มีการวิเคราะห์กันมา ก็เป็นเพราะเรื่องของอายุขัยที่ยาวขึ้น คนสมัยก่อนอายุไม่เกิน 70 ปี ก็มักจะเสียชีวิตกันแล้ว แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น บางคนอายุยืนถึง 80-90 ปี หรือยาวไปถึง 100 ปีก็มีให้เห็นเช่นกัน เป็นเพราะคนเราหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีการแพทย์ก็มีความก้าวหน้า จึงช่วยยืดให้มนุษย์เราอยู่ได้นานขึ้นด้วย
ถ้านับสมัยก่อนพอเกษียณอายุ 60 ปี ก็ถือว่าอย่างเข้าสู่วัยชราหรือเป็นผู้สูงอายุกันแล้ว แต่ในปัจจุบันคนอายุ 60 ปียังถือว่าไม่แก่ แม้ว่าจะเกษียณแต่ก็ยังมีแรงมีกำลังที่จะยังทำงานหรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้อีกตั้งมากมาย ต้อง 70 หรือ 70 กว่า ๆ ถึงจะเรียกว่าแก่จริง ดังนั้นเรื่องเงินทองที่จะต้องเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณจึงมีความสำคัญมาก เพราะช่วงเวลาหลังจากเกษียณที่เรายังต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่นั้นถือว่านานทีเดียว
ไปอ่านเจอกระทู้หนึ่งเข้าค่ะ เป็นกระทู้นี้ https://pantip.com/topic/36369275 ที่ตั้งชื่อไว้ว่า คนไทยเข้าใจเรื่องวางแผนเกษียณน้อยมาก เชื่อหรือเปล่า ไม่ว่า 2 หรือ 4 ล้านก็ไม่พอเกษียณ อยากบอกจังเลยค่ะ ว่าเชื่อตั้งแต่อ่านหัวข้อกระทู้แล้วล่ะ เพราะข้าวของสมัยนี้แพงมากเหลือเกิน ยิ่งพอเข้าใกล้วัยเกษียณ ไหนจะเรื่องสุขภาพ เรื่องค่ารักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บอีก จะพอได้อย่างไรกับเงิน 2 หรือ 4 ล้านนี้ แต่พออ่านเนื้อหาที่เจ้าของกระทู้เขียนไว้ ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เลยอยากนำมาแบ่งปันให้ได้อ่านกันค่ะ
เริ่มด้วยคำถามที่เราจะต้องถามตัวเองก่อนเลยในเรื่องเกษียณ ดังนี้
-
เราวางแผนจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่
-
หลังจากเกษียณแล้ว เราจะอยู่อย่างไร ใช้ชีวิตที่ไหน อยากมีวิถีชีวิตและรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างไร
-
เราคิดว่าหลังเกษียณเราจะอยู่อีกกี่ปี
-
ตอนที่ถามคำถามตัวเองอยู่นี้เรามีอายุเท่าไหร่ เหลือเวลาก่อนเกษียณเพื่อเก็บเงินอีกกี่ปี
คนที่วางแผนเกษียณไว้แล้วน่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่คนที่ยังไม่เคยวางแผนมาก่อน เจอแต่ละคำถามเข้าไปก็มีแต่ต้องอึ้งกับอึ้งเท่านั้น ตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดนั่นเอง ทั้งที่เรื่องเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องของคนแก่เท่านั้น บางคนบอกว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงานยังไม่เห็นต้องคิดเรื่องนี้ บางคนบอกว่าเพิ่งมีครอบครัว ลูกยังเล็ก ยังไม่เห็นต้องคิดเรื่องนี้ เราไปดูกันค่ะ ว่าเพราะอะไรที่คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือไม่ว่าจะคนวัยใดก็ตามควรเร่งคิดเรื่องของการวางแผนเกษียณให้เร็วที่สุด
เจ้าของกระทู้บอกว่าต้องลองคำนวณดูค่ะ
- ต้องมีเท่าไหร่ อันดับแรกที่เราต้องคำนวณก็คือเมื่อถึงอายุ 60 หรืออายุที่เราต้องการเกษียณ เราควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ในตอนนั้น ย้อนกลับขึ้นไปที่คำถามด้านบน ถ้าเราคิดวางแผนและตอบคำถามทุกข้อตามนั้น เราจะมีข้อมูลในการคำนวณเงินที่เราต้องมีนี้ได้ เช่น ถ้าเราจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี คิดว่าต้องการมีเงินเพื่อใช้จ่ายหลังจากนั้นเดือนละ 15,000 บาท โดยคิดว่าเราจะมีอายุอยู่ถึงประมาณ 85 ปี หรือ 25 ปีหลังเกษียณ ก็แปลว่าเราต้องมีเงินเก็บตอนอายุ 60 ที่ 15,000 x 25 x 12 = 4,500,000 บาท
- อย่าลืมเงินเฟ้อ เจ้าของกระทู้เตือนสติให้เราอย่าลืมนึกถึงเรื่องเงินเฟ้อด้วย เอาให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ก็คือ เงิน 15,000 บาท ตอนเราอายุ 60 ปี ซึ่งจะอีกกี่ปีก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอายุเท่าไหร่ในตอนนี้ ที่เราคิดว่าพอใช้ใน 1 เดือนแบบสบาย ๆ แต่ในอนาคตอีกหลายสิบปีนั้นเงิน 15,000 เดียวกันนี้จะเหลือมูลค่าเพียงแค่เท่าไหร่กัน หากต้องการจะมีคุณภาพชีวิตเทียบเท่ากับเงิน 15,000 บาท เราก็คงจะต้องมีเงินมากกว่านี้แน่ ๆ และนี่เองที่มาของคำว่าเงินเฟ้อ เมื่อมีการคิดคำนวณเงินเฟ้อเข้าไปที่ 3% ต่อปี จะเห็นว่าเงินที่เราควรจะต้องเก็บ 4,500,000 บาทนั้น ได้กลายเป็น 10,922,681.12 บาท เพิ่มขึ้นมามากกว่า 2 เท่าทีเดียว พอเห็นตัวเลขนี้หลายคนถึงกับถอดใจว่าเป็นไปแทบจะไม่ได้ที่จะมีเงินเก็บถึงสิบล้านบาทเพื่อเตรียมสำหรับการเกษียณ
- ลงทุน อย่าลืมเรื่องพลังของดอกเบี้ยไปค่ะ ถ้าเรานำเงินเก็บออมไปลงทุนให้เอาชนะเงินเฟ้อได้ เราก็จะไม่ต้องเก็บเงินมากเป็นสิบล้านให้เหนื่อย แต่เลือกลงทุนให้ได้ผลตอบแทนแล้วก็ทบต้นไปเรื่อย ๆ แบบนี้ สิบล้านมีความเป็นไปได้ค่ะ อย่างที่เจ้าของกระทู้ยกตัวอย่างว่าเราออมเงินเพื่อลงทุน โดยสมมติว่าเก็บเงินเดือนละ 4,600 บาท ลงทุนโดยได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี คิดแบบทบต้น ถ้าเริ่มเก็บเงินตั้งแต่อายุ 30 ปี มีเวลาเก็บเงิน 30 ปี ก็จะได้เงิน 11 ล้าน พร้อมเกษียณตามแผนได้
สิ่งสำคัญที่เราได้รับจากการแชร์ความคิดที่เป็นประโยชน์ของเจ้าของกระทู้คงไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินว่าเราจะต้องเก็บเท่าไหร่ ตัวเลขของเงินรายเดือนหลังเกษียณน้อยหรือมากไปหรือไม่ ตัวเลขเงินเฟ้อสมเหตุสมผลหรือไม่ ผลตอบแทนจากการลงทุนทำได้จริงหรือ เพราะคนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือตัวเราเองนั่นเอง และตัวเลขบางตัวก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานที่ใส่ไว้เพื่อการคำนวณที่ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ จะเป็นเท่าไหร่กันแน่ ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่เราอ่านแล้วเราได้หันมาทบทวนตัวเองแล้วหรือไม่ว่าเราเริ่มต้นคิดเรื่องของการวางแผนเกษียณสำหรับตัวเองอย่างจริงจังแล้วหรือยัง ถ้ามี เราคิดว่ามันเพียงพอหรือไม่ นี่ต่างหากที่เราจะต้องหยิบยกมาคิดเพื่อให้การอ่านกระทู้นี้เกิดประโยชน์กับตัวเราเองอย่างแท้จริง