ความหนาวมาเยี่ยมเยือนอยู่สองสามวันแล้วก็จางหายไป พร้อมกับสายฝนโปรยปรายก่อนเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2014 หลายคนอาจจะวางแผนที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆกันบ้างแล้ว แต่บางคงก็ยังไม่มีแผนที่จะไปเที่ยวไหน อาจจะพักผ่อนอยู่กับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาว ไม่ว่าผู้อ่านจะมีกิจกรรมทำอะไร ก็ขอให้เตรียมตัวและใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีอย่างคุ้มค่าที่สุด
เกริ่นนำมาซะยาวขอเข้าเรื่องต่อจากครั้งที่แล้วที่ได้พูดถึงการลงทุนในบทความ >> มือใหม่หัดซื้อกองทุนรวม เริ่มยังไงดี ตัวไหนเด่น 1 <<
ก็มาถึงซีรีย์ที่ 2 จะเป็นการพูดถึงความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนรวม ที่จะกล่าวถึงเนื่องจากยอมรับว่าผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าที่จะนำเงินไปลงทุนกับอะไร เพราะกลัวความเสี่ยง และท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน จึงออมเงินแบบปรกติ คือ ฝากแบงก์ไว้ให้อุ่นใจดีกว่า แม้ดอกเบี้ยจะน้อยนิดหรือเหมือนไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่อย่างที่ได้เปิดเรื่องไปในตอนที่ 1 เพื่อนสนิทที่ทำงานแบงก์ใหญ่ย่านสีลม ก็มาเตือนว่าการออมเงินเฉยไม่ได้เกิดประโยชน์ และเงินเดือนแต่ละเดือนก็ไม่ได้เป็นหลักประกันในอนาคตหากจะต้องมีเรื่องจำเป็นจะต้องใช้เงิน และอย่างน้อยก็มีเงินเก็บไว้ใช้ในช่วงปลายของชีวิต
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนจึงไตร่ตรองในเรื่องของความเสี่ยงในการลงทุนว่าเป็นยังไงบ้างหากจะลงทุนในกองทุนรวม ก็ไปพบข้อมูลที่น่าสนใจ จึงนำมาเสนอให้กับสมาชิกได้รับรู้กัน ในเรื่องของความเสี่ยงสำหรับลงทุนในกองทุนรวมนั้นจะมีด้วยกันอยู่ที่ 8 ระดับ
เสี่ยงระดับ 1 คือ เป็นกองทุนแบบตลาดเงิน (Money Market Fund) จะเป็นการลงทุนในหุ้นพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล ตั๋วเงิน หรือตราสารต่างๆ ระยะเวลาของกองทุนจะอยู่ในช่วงแคบๆ คือ 1 ปี จะมีความเสี่ยงที่ตํ่าที่สุด มีผลตอบแทนที่แน่นอน แต่อาจจะไม่สูงเท่ากับระดับความเสี่ยงที่สูง
เสี่ยงระดับ 2 คือ เป็นกองทุนแบบ Money Market เป็นการลงทุนในหุ้นพันธบัตรต่างประเทศ ความเสี่ยงเพิ่มมาอีกระดับ แต่ยังถือว่าตํ่า เพราะเป็นการลงทุนแบบระยะสั้น
เสี่ยงระดับ 3 คือ เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ด้วยความหลากหลายของพันธบัตร และอายุของกองทุน แต่ยังคงอยู่ในระดับที่พอรับความเสี่ยงได้ สำหรับมือใหม่ทั้งหลาย
เสี่ยงระดับ 4 คือ เป็นการลงทุนในตราสารหนี้แบบไม่จำกัด ซึ่งสามารถลงทุนในตราสารหนี้หุ้นกู้ขององค์กรรัฐวิสาหกิจ หรือ หุ้นกู้เอกชนก็ได้ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ตํ่า
จากความเสี่ยง 4 ระดับ ที่กล่าวข้างต้น ถือว่าอยู่ในระดับตํ่า สามารถรับความเสี่ยงได้สำหรับมือใหม่ แต่ในส่วนระดับความเสี่ยงที่ 5-8 จะอยู่ในความเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งการที่จะลงทุนในระดับความเสี่ยงนี้จะต้องมีความเข้าใจและศึกษาข้อมูลให้มากขึ้น อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า Broker หรือ เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน ให้คำปรึกษาด้วย
เสี่ยงระดับ 5 คือ เป็นการลงทุนแบบรวมผสมระหว่าง ตราสารหนี้และตราสารทุน เป็นการแบ่งจำนวนเงินออกเป็นสองก้อนลงทุนในสองส่วนแบบเท่าๆกัน ถือว่ามีความเสี่ยงในระดับกลางๆ แต่ค่อนไปทางความเสี่ยงสูง
เสี่ยงระดับ 6 คือ ลงทุนในกองทุนหุ้นรวม คล้ายๆกับการซื้อหุ้น แต่จะเป็นการนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่มีผลตอบแทนสูง แต่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้ นด้วยเช่นกัน กล่าวเสริม ในหุ้นกองทุนรวมที่ผู้เขียนสนใจ ก็อยู่ในระดับ 6 เป็นกองทุนรวม 100% ของบัวหลวง ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ความเสี่ยงก็สูงเช่นกัน ผู้เขียนจึงไม่กล้าที่จะลงทุนด้วยตัวเอง แต่ให้เจ้าหน้าที่ของแบงก์ที่ไว้ใจเป็นผู้ดำเนินการให้ เพราะมองว่าตัวนี้น่าสนใจและผลตอบแทนดีเยี่ยมตลอดมาตั้งแต่เปิดกองทุนตัวนี้
เสี่ยงระดับ 7 คือ การลงทุนในหุ้นรวมเฉพาะกลุ่มที่ได้กำหนดไว้ โดยสถาบันการเงินจะนำเงินของผู้ลงทุนไปลงในหุ้นที่ได้กำหนดไว้ เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มก่อสร้าง หรือ อื่นๆ อันดับแรกๆ ของหุ้น
เสี่ยงระดับ 8 คือ คือ ลงทุนในเฉพาะหุ้นใดหุ้นหนึ่ง ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะผู้ลงทุนจะต้องเข้าใจพื้นฐานของหุ้นนั้นๆ และมีความชำนาญในการเข้าซื้อหรือขาย
จากความเสี่ยงทั้ง 8 ระดับที่กล่าวมา มือใหม่ทั้งหลายจะต้องรู้ด้วยว่ากองทุนที่เราจะลงทุนนั้นอยู่ในระดับเสี่ยงไหน แต่ในทั้งนี้ในหนังสือชักชวน จะมีการระบุว่ากองทุนนั้นมีความเสี่ยงระดับไหน มือใหม่ควรจะเริ่มลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงตํ่าก่อน เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะหากเพลี่ยงพลํ่าไปลงทุนในความเสี่ยงสูงก็อาจจะทำให้สูญเงินออมที่เก็บได้ ที่พูดแบบตรงไปตรงมาอย่างนี้ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถาบันการเงินไหนที่เปิดขายกองทุน แต่ผู้เขียนก็เป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่หาเช้ากินคํ่า ก็ต้องศึกษาให้ลึกและเลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงตํ่า หรือถ้าจะลงทุนแบบเสี่ยงสูงก็ต้องมั่นใจว่าที่เราลงทุนนั้นมีความน่าเชื่อถือและมั่นใจ พร้อมกับยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
ในส่วนต่อไปของซีรีย์มือใหม่หัดซื้อกองทุนจะเข้มข้นและเจาะลึกมากขึ้นกว่านี้รอติดตามกันนะครับ นี้แค่ปูพื้นฐานให้มือใหม่ได้เข้าใจก่อนว่ากองทุนรวมคืออะไร และกองทุนแต่ละแบบนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด