ธุรกิจบัตรเครดิต ทุกวันนี้ มีการแข่งขันกันสูง ทั้งในเรื่องของโปรโมชั่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือ ค่าธรรมเนียมรายปี อัตราดอกเบี้ย รวมถึงระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ 45 วันไปจนถึง 55 วัน ซึ่งอาจทำให้หลายๆคนคิดว่า นับจากวันรูดซื้อสินค้า ไปจน 45 วันถึงครบกำหนดชำระ แต่แท้จริงแล้ว หากกลับไปอ่านสัญญาการใช้บัตรเครดิตดีดี จะเห็นว่า ระยะเวลาในการชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมการใช้ หากชำระตามกำหนดเต็มจำนวน โดยจะนับถัดจากวันที่สรุปยอดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่วันที่ใช้บัตรเครดิต ตามที่ผู้บริโภคเข้าใจ ซึ่งหากนับผิดวิธี อาจส่งผลต่อระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยอย่างมาก
ตัวอย่าง คือ กำหนดสรุปยอดค่าใช้จ่ายทุกวันที่ 9 ธ.ค. ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยจะนับจากวันที่ 9 ไปอีก 45 วัน ซึ่งจะไปครบกำหนดชำระเงินในประมาณวันที่ 24 ม.ค. นั่นคือ หากชำระเงินหลังจากวันนี้ ธนาคารจะเริ่มคิดดอกเบี้ย แม้ว่าผู้บริโภคจะใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า ในวันที่ 2 ม.ค. ก็ต้องชำระเงินภายในวันที่ 24 เช่นกัน ซึ่งหากนับแล้ว จะเท่ากับมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย นับจากวันที่ใช้บัตรไปแค่ 22 วันเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยฯ ที่ถูกต้องก็ต้องว่ากันตามสัญญา ซึ่งธนาคารก็ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนับจากวันที่สรุปยอดค่าใช้จ่าย ดังนั้น ถ้าใช้บัตรเครดิตให้ได้ในระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนานที่สุด ก็ต้องใช้หลังจากวันที่สรุปยอดค่าใช้จ่ายใหม่ๆ
จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าของที่อยากจะได้ ยังไม่จำเป็นต้องรีบใช้ ยังสามารถรอได้ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อวันที่ 2 ม.ค. แต่ควรรอให้สรุปยอดค่าใช้จ่ายเสร็จ (9 ม.ค.) แล้วค่อยไปซื้อเอาเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ก็ได้ซึ่งแบบนี้กว่าจะครบกำหนดก็วันที่ 23 ก.พ. โน่น คิดเป็นระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยตั้ง 43 วัน เท่ากับได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเพิ่มอีกตั้ง 21 วันเพียงแค่ชะลอการซื้อของออกไปอีกไม่กี่วัน เกร็ดความรู้ผู้บริโภคอันนี้ก็เอาไว้ใช้สำหรับถ้าซื้อของชิ้นใหญ่ๆ ราคาแพงด้วยบัตรเครดิต ก็ควรจะซื้อหลังจากวันที่เพิ่งสรุปยอดค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมนานที่สุด