ผู้มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ในแต่ละปี โดยภาษีเป็นเงินที่รัฐเรียกเก็บจากบุคคลผู้มีรายได้เหล่านั้น หลายคนคงจะสงสัยกันไม่น้อย และได้ตั้งคำถามถึงประเภทของภาษี หรือรายละเอียดของ ภาษีแต่ละประเภท วันนี้เราจึงนำรายละเอียดของภาษีแต่ละประเภทมาเสนอ
ประเภทของภาษีมี 5 ประเภทจำแนกได้ดังนี้
- ภาษีอากรตามระดับที่จัดเก็บ ได้แก่
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต เรียกกันว่า ภาษีระดับประเทศ
- ส่วนภาษีโรงเรือน เรียกว่า ภาษีระดับท้องถิ่น
- ภาษีอากรด้วยหลักการผลักภาระภาษี ได้แก่
- ภาษีทางตรง คือภาษีที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่น
- ภาษีทางอ้อม คือภาษีที่ผู้เสียภาษีสามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่น
- ภาษีอากร
- ภาษีตามมูลค่า
- ภาษีที่จัดเก็บตามปริมาณของฐานภาษี เรียกกันว่า ภาษีตามสภาพ
- ภาษีอากรตามลักษณะการนำเงินภาษีไปใช้ ได้แก่
- ภาษีที่จัดเก็บเพื่อนำไปใช้ในกิจการทั่วไป รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ภาษีทั่วไป
- ภาษีที่จัดเก็บเพื่อนำไปใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งโดยเฉพาะจะเรียกกันว่า ภาษีเฉพาะอย่าง
- ภาษีตามความถาวรของกฎหมายภาษีอากร ได้แก่
- ภาษีที่เก็บอยู่เป็นปกติในแต่ละปี เรียกว่า ภาษีถาวร
- และภาษีสุดท้ายทีเราควรรู้จักนั่นคือ ภาษีชั่วคราว
ผลกระทบของการจัดเก็บภาษีอากร
การจัดเก็บภาษีอากรนั้นส่งผลหลายด้าน ทั้งด้านการจัดสรรทรัพยากร ด้านการกระจายรายได้ และด้านผลกระทบต่อผลผลิตของชาติ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
ผลกระทบด้านการจัดสรรทรัพยากร คือการโอนย้ายทรัพยากรจาก ภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐ ดังนั้นผลกระทบจะเกิดกับเอกชนในภาคส่วนใด ขึ้นอยู่กับว่ารัฐเก็บภาษีจากคนกลุ่มใด เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ดังนั้น ถือว่าภาษีประเภทนี้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้สินค้าหรือบริการที่ต้องส่งเงินให้กับรัฐบาล เป็นต้น
ผลกระทบด้านการกระจายรายได้ ดังที่กล่าวไว้ว่าการจัดเก็บภาษี จะจัดเก็บจากผู้มีเงินได้ ซึ่งมีผลทำให้รายได้ที่แท้จริงของผู้มีเงินได้ลดลง การจัดเก็บภาษีจึงมีผลต่อการกระจายรายได้ด้วย หมายความว่า ถ้าภาษีส่วนใหญ่ของประเทศเป็นภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า ภาระภาษีจะตกอยู่กับผู้ที่มีรายได้สูง ทำให้การกระจายรายได้มีความเป็นธรรม หรือถ้าภาษีนั้นเป็นภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาระภาษีก็จะกระจายอยู่กับคนทุกกลุ่มที่ใช้สินค้าหรือบริการ ผลกระทบต่อการผลิตของชาติ การเก็บภาษีจะมีผลต่อการบริโภค การออม และการ ลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตด้วย การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการผลิตจึง ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละประเภทเป็นสำคัญ เช่น การเก็บภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจะทำให้ รายได้ของผู้เสียภาษีน้อยลง การทำงานลดลง การจ้างงานลดลง ส่งผลให้การผลิตโดยรวมของชาติลดลงไปด้วย เป็นต้น
การหลบหนีภาษีกับการหลบหลีกภาษี
การหลบหนีภาษี คือการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายหรือฉ้อฉลเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งการกระทำเช่นนี้มีความผิดและต้องได้รับโทษตามกฎหมายตัวอย่างของการหนีภาษี เช่น ผู้เสียภาษีไม่กรอกจำนวนเงินได้ หรือทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษีในแบบแสดงรายการโดยเจตนา หรือกรอกแบบแสดงรายได้ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงกว่าความเป็นจริง ในขณะเดียวกันการตั้งราคาโอน ก็เป็นการเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกัน การตั้งราคาโอนหมายถึง การที่บริษัทในเครือของบริษัทข้ามชาติ ซื้อสินค้าจากบริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศในราคาสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อทำให้ต้นทุนสูง กำไรของบริษัทในประเทศจะได้ต่ำ ทำให้เสียภาษีน้อยลง หรือการที่บริษัท ในประเทศขายสินค้าให้แก่บริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศ ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง กำไรจะได้ต่ำหรือขาดทุน ทำให้เสียภาษีในประเทศไทยน้อยลง หรือไม่ต้องเสียภาษีเลย
การหลบหลีกภาษี คือการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงหรือเลี่ยงภาษี การใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลงก็ถือเป็นการหลบหลีกด้วย ดังนั้นการหลบหลีกภาษีถือเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างของการหลบหลีกภาษีเช่น การที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่นำเงินได้ที่ได้รับจาการทำงาน หรือประกอบธุรกิจในต่างประเทศมาแสดงในแบบแสดงเงินได้ในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้นั้น แต่นำเข้ามาในปีภาษีอื่น ทำให้ ไม่ต้องเสียภาษี ถือเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร หากผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไม่นำเงินได้ที่ได้รับจากการทำงาน หรือประกอบธุรกิจในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับที่ได้รับเงินได้นั้น กรมสรรพากรก็ไม่เรียกเก็บภาษี