มีชื่อว่าหนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราเป็นหนี้เสมอไป เรามาลงทุนในตราสารหนี้กันเถอะ
เมื่อการฝากเงินในธนาคารให้ผลตอบแทนไม่สูงเหมือนในอดีต หรือหากต้องการผลตอบแทนสูง สูง เราก็ต้องมีเงินฝากในวงเงินที่สูงเช่นกัน ดังนั้นทางเลือกอีกอย่างในปัจจุบันนอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น ก็คือ การลงทุนใน ตราสารหนี้ แล้ว ตราสารหนี้ ที่ว่า คือ อะไรล่ะ จะได้ผลตอบแทนยังไง ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากจริงหรือไม่ จะซื้อขายได้ที่ไหน เรามาเริ่มทำความรู้จักกันเลย
ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่ง ที่ผู้กู้ หรือ ผู้ออกตราสารหนี้ หรือ Issuer มีภาระในการกระจายกระแสเงินสด ได้แก่ ดอกเบี้ย และมูลคาไถ่ถอน ให้ผู้ให้กู้ หรือ นักลงทุนใน ตราสารหนี้ ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ที่ได้กันบ่อย เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ ปตท. หุ้นกู้ CP เป็นต้น หรือจะอธิบายง่ายๆ คือ การออกหุ้นกู้ ก็คือช่องทางหนึ่งในการระดมทุนจากผู้ที่สนใจลงทุนนั่นเอง โดยผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ และบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้ก็คือลูกหนี้ ที่มีภาระหน้าที่ในการจ่ายคืนดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนตามระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้
แต่ก่อนที่เราจะลงทุนกันมาทำความรู้จัก ตราสารหนี้ แต่ละประเภทกันก่อน ที่คุ้นเคยกันจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามประเภทผู้ออก ได้แก่
- พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือ ตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวที่ออกโดยกระทรวงการคลังและบริหารงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน
- ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริหารงานโดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ เราจะเรียกว่า พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State Own Enterprise Bond) เช่น พันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พันธบัตรการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น
- ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยภาครัฐ เราจะเรียกว่า ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill หรือ T-Bill) ซึ่งจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี สำหรับตั๋วเงินคลังนี้การจ่ายผลตอบแทนจะไม่ได้เป็นดอกเบี้ย แต่จะเป็นราคารับซื้อคืนที่สูงกว่าราคาที่เราซื้อมาในครั้งแรก
- ส่วนอีกกลุ่มที่ออกโดยภาคเอกชนจะเรียกว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) ที่ออกโดยบริษัทเอกชนต่างๆ เช่น หุ้นกู้ ปตท. หุ้นกู้ TRUE หุ้นกู้ CP หรือหุ้นกู้ของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นธนาคารของรัฐ เช่น หุ้นกู้ธนาคารไทยพาณิชย์ หุ้นกู้บริษัทบัตรกรุงไทย เป็นต้น
ข้อดีของการลงทุนในตราสารหนี้ คือ ผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยงต่ำ หากเราเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้าสามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้อีกหน่อยก็เลือกลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ผลตอบแทนจะสูงกว่าเงินฝากธนาคาร นอกจากนี้ตราสารหนี้ยังเป็นแหล่งรายได้ประจำให้กับเราได้อีกทางหนึ่ง เพราะว่ามีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ให้กับเรา รวมทั้งมีการจ่ายคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอีกด้วย ซึ่งข้อดีอันนี้จะได้เปรียบเทียบการลงทุนในหุ้น ก็คือ ถ้าเราลงทุนในหุ้นผลตอบแทนที่ได้รับ คือ เงินปันผล จะไม่สม่ำเสมอเหมือนกับดอกเบี้ยที่จะได้รับจากตราสารหนี้ เพราะการจ่ายเงินปันผลนั้นจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของแต่ละไตรมาส หรือแต่ละปี สุดท้ายคือ หากเราต้องการที่จะขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนด ก็สามารถทำได้ เพียงแต่เราติดต่อไปที่ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เราใช้บริการประจำว่าต้องการขายตราสารหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งความยากง่ายในการขายตราสารหนี้นั้นขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของตราสารหนี้แต่ราย
ตราสารหนี้ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี ตราสารหนี้ก็มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงในการลงทุนเหมือน เหมือนกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นกู้ เพราะหุ้นกู้ คือ บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก ดังนั้นเราต้องดูความมั่นคงของบริษัท ผู้ออกว่าน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะเป็นหลักประกันได้ว่าเงินที่ลงทุนไปจะไม่เสียเปล่า ซึ่งสิ่งที่ใช้วัดความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ เราจะเรียกว่า อันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating ที่ออกโดยบริษัทจัดอันดับ ที่เราจะได้กันบ่อย บ่อย เช่น Fitch Rating หรือ TRIS Rating แต่อย่างน้อยหากเรามีหุ้นกู้อยู่ ถ้าบริษัทที่ลงทุนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อ เราในฐานะเจ้าหนี้ เพราะมีหุ้นกู้ในมือจะได้รับเงินคืนก่อน คนที่มีหุ้นสามัญ (หุ้นที่ซื้อในตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจากผู้ถือหุ้นสามัญมีฐานะเป็นเจ้าของ ซึ่งมีลำดับการได้รับเงินคืนรองจากหุ้นกู้อีกที
หากสนใจลงทุนในตราสารหนี้ เราก็เพียงแต่ไปที่เคาน์เตอร์ธนาคารต่างๆ ที่มีประกาศให้จองหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจได้เลย แต่ที่สำคัญก่อนที่จะลงทุนเราก็ควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจว่า จำนวนเงินขั้นต่ำที่ใช้ ระยะเวลาการถือ อัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับ บริษัทผู้ออกน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเราสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนของหุ้นกู้แต่ละบริษัท และอย่าลืมว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง อยู่ที่ว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่เงินออมของเราจะได้งอกเงยให้ชื่นใจ…และทำให้มีกำลังใจในการออมกันต่อไป