การมีอาชีพอิสระ มีรายได้มั่นคง และสามารถสร้างฐานะ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ถือเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆ คน รวมทั้งมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ การเก็บเงินสักก้อนหนึ่งเพื่อทำธุรกิจ หลายคนอาจจะบ่นว่า ยากแสนยาก แต่การทำเงินก้อนนั้น ให้โตขึ้นเรื่อยๆ ยากยิ่งกว่า
ในการเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ลงทุนควรจะมีเงินทุนก้อนแรกที่เป็นเงินสะสมของตนเอง อาจจะไม่ต้องมากมาย แต่ก็ต้องสามารถสร้างธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่างได้พอสมควร จากนั้นเมื่อธุรกิจเริ่มมีทิศทางจึงเริ่มวางแผนขยายกิจการหรือ หาเงินลงทุน เพิ่มในส่วนต่อๆ ไป
แต่อุปสรรคสำคัญของการต่อยอดธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ก็คือ ไม่มีเงินลงทุนเพิ่มแล้ว และไม่รู้ว่าจะ หาเงินลงทุน เพิ่มได้จากที่ไหน วันนี้เรามีข้อมูลแหล่งเงินทุนประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้เริ่มต้นทำธุรกิจศึกษาเป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการรันความฝันกันต่อไป
5 แหล่งเงินทุน ประกอบร่างธุรกิจให้สมบูรณ์
บุคคลใกล้ชิด
ในการกู้ยืมเงิน จากบุคคลใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่ น้อง หรือ เพื่อน เงินที่ได้มักจะเป็นในลักษณะเงินก้อน ดอกเบี้ยอาจจะไม่ต้องเสีย เงินที่ได้มาอาจจะเป็นเงินให้ยืม หรือร่วมลงทุน ตามแต่จะตกลงกัน ระยะเวลาการยืม-คืน ก็ตามแต่ตกลงกัน ดูแล้วน่าจะเวิร์คมาก ได้เงินเร็ว ไม่มีดอกเบี้ย คืนต้นเมื่อไหร่ก็ได้
แต่ใครจะรู้ว่า เงินทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงทางจิตใจสูงมาก เช่น ถ้าผิดนัดชำระ หรือกิจการไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ ไม่มีเงินจ่ายคืน อาจจะมองหน้ากันไม่ติดไปตลอดชีวิต
ดังนั้น เราควรมีการตกลงในการกู้ยืมกันอย่างชัดเจน และควรดำเนินการให้เสมือนการยืมเงินสถาบันหรือแหล่งอื่น เช่น มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร, มีการกำหนดดอกเบี้ย, และมีการกำหนดลักษณะการจ่ายเงินคืน แค่นี้ก็จะช่วยให้ทั้งผู้ยืม และผู้ให้ยืมรู้สึกมั่นใจ และสบายใจยิ่งขึ้น
บัตรสินเชื่อและบัตรเครดิต
คงมีคำถามว่า บัตรเครดิตเป็นแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจได้ด้วยเหรอ? การใช้บัตรเครดิตก็เหมือนกับการใช้เงินสดในวงเงินที่จำกัด เพียงแค่คุณบริหารการใช้จ่ายให้ดี คุณก็จะสามารถลงทุนโดยไม่ต้องกู้ยืมแหล่งทุนประเภทอื่นได้ บัตรเครดิตมีข้อจำกัดในการชำระหนี้ค่อนข้างสั้นกว่าแหล่งเงินทุนแบบอื่น คือ ประมาณ 40 วัน หลังใช้จ่ายไป ถ้าเกินจากนั้นคุณจะต้องเสียค่าดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง
สำหรับธุรกิจที่ต้องการกู้ระยะยาวจึงไม่เหมาะกับรูปแบบนี้ แต่ข้อดีของการใช้บัตรเครดิตในการลงทุน ก็คือ คุณสามารถรูดเงินได้ตามที่ต้องการ(ในวงเงินจำกัด) โดยไม่ต้องเสียเวลารอกู้ ยืม หรือดำเนินการทำเรื่องสินเชื่อ เพราะบางครั้ง ธุรกิจก็ไม่รอเวลา ถ้าช้าอาจถูกใครคว้าโอกาสไปก่อนก็เป็นได้
สถาบันการเงิน
การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือธนาคารถือเป็นแหล่งเงินทุนลำดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่นึกถึง เนื่องจากมีให้เลือกหลายธนาคาร สะดวกในการเดินทางไปยังสาขาที่ต้องการ ในบางครั้งก็ต้องทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารนั้นๆ อยู่แล้วจึงติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้นในการกู้ยืม หรือขอสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ เราจึงนึกถึงธนาคารก่อนเป็นอันดับต้นๆ
การกู้ยืมเงินกับธนาคารอาจจะเป็นการกู้ยืมระยะสั้นที่สามารถนำมาใช้เพื่อเป็น เงินทุนหมุนเวียน หรืออาจเป็นการกู้ยืมระยะยาวสำหรับใช้พัฒนาขยายกิจการก็ได้ การขอกู้เงินจากธนาคารอาจจะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากกว่าแหล่งทุนประเภทอื่น แต่ถ้ากู้ผ่านก็มักจะได้เงินทุนที่เพียงพอต่อความต้องการ
โดยขั้นตอนในการกู้ ผู้กู้ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม และระบุรายละเอียดให้ชัดเจน ว่า ต้องการวงเงินเท่าไหร่, เขียนแผนการขอสินเชื่ออย่างละเอียด, มีหลักทรัพย์อะไรค้ำประกันบ้าง, ธุรกิจหรือกิจการมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่ออะไร เป็นต้น จากนั้นทางธนาคารจะแจ้งผลการพิจารณาว่าคุณได้เงินกู้วงเงินตามต้องการหรือไม่ ถ้าเป็นที่พอใจก็ทำสัญญากู้เงิน โดยการทำสัญญาจะต้องมีข้อตกลงการผ่อนชำระ และดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ผู้กู้ต้องคุยกับเจ้าหน้าที่และอ่านสัญญาอย่างละเอียด
การระดมทุน
เป็นการหาเงินทุนอีกวิธีหนึ่ง ในการขยายธุรกิจ เหมาะสำหรับกิจการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีผลกำไรสม่ำเสมอ ในบางครั้งการลงทุนเพิ่มอาจจะต้องใช้เงินมากขึ้นอีก การเปิดขายหุ้น หรือหาผู้ร่วมทุน (partner) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะระดมเงินทุนมาเพื่อขยายกิจการ
โดยจะต้องมีการระบุชัดเจนถึงสัดส่วนในการร่วมทุนระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่และหุ้นส่วน และมีการระบุข้อตกลงการปันผลกำไรในการประกอบการอย่างชัดเจน เพื่อความโปร่งใสของธุรกิจ การร่วมทุนมีข้อดีคือ ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมากจากการกู้ยืมประเภทอื่นๆ แต่จะแบ่งกำไรออกมาเป็นเงินปันผลให้กับหุ้นส่วนแทน
เงินกู้นอกระบบ
การกู้เงินนอกระบบ มีลักษณะคล้ายๆ กับการยืมเงินจากญาติ หรือคนที่รู้จัก ขั้นตอนเรียบง่าย เพียงเจรจาขอยืมเงิน และตกลงเรื่องดอกเบี้ยและการผ่อนชำระเท่านั้น คุณก็จะได้รับเงินมาลงทุนได้เลย ไม่เสียเวลา ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร
แต่ข้อควรระวังเป็นพิเศษคือ มีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมากกว่าแหล่งอื่นๆ ฟ้องร้องไม่ได้ และในกรณีไม่สามารถจ่ายเงินได้ตามกำหนดเวลา อาจมีการยึดทรัพย์สินแทนเงินต้นที่กู้ไปโดยไม่ต้องได้รับการยินยอม
ดังนั้นในการเลือกแหล่งเงินทุนประเภทนี้ จึงควรพิจารณาตามความจำเป็นพิเศษเท่านั้น
การเลือกแหล่งเงินทุนให้เหมาะสมกับเหตุผลที่จะนำไปใช้ในธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแต่ละแหล่งทุนย่อมมีข้อดี-ข้อเสีย และข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นหากเลือกได้เหมาะสมกับความจำเป็นที่จะใช้ ย่อมทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้กู้ และธุรกิจอย่างแน่นอน