เทรนใหม่ของปี 2015 นี้ เป็นปีของการเริ่มต้นของอะไรใหม่ๆหลายๆอย่าง คนหนุ่มสาวและคนวัยทำงานมากมาย เริ่มสนใจอยากเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตนเอง แต่ก็ยังประสบกับปัญหาพื้นฐานอยู่มากมายเช่นกัน ตั้งแต่จะทำอะไรดี จะค้าขายอะไร เริ่มที่ตรงไหนก่อน ถึงแม้จะคิดว่าอยาก ทำธุรกิจให้รวย อยากสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่ก็ยังติดกับภาระต่างๆ เช่น อยู่ในระหว่างกำลังศึกษาเล่าเรียน มีงานประจำ ยังไม่มีเงินลงทุน ล้วนเป็นปัญหาที่คิดไม่ตก
แต่อย่าเพิ่งคิดมากไปเลยค่ะ เพราะวันนี้เรามีคำแนะนำดีดีมาฝากเป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่ยังเคว้งคว้างที่จะเริ่มต้น มาดูกันดีกว่า
1. เปลี่ยนรูปแบบการตั้งเป้าหมาย
ถ้าคิดว่าจะทำอะไร ให้คิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินเข้ามาต่างหาก ยิ่งถ้าเริ่มแรกเรายังไม่มีต้นทุนอะไรเลย เริ่มจากคำว่าไม่มี ถ้ายังเรียนอยู่ แนะนำให้เก็บออมค่ะ ตั้งงบการเงินของเราไว้เลยว่า เดือนนี้จะออมเท่าไหร่ เมื่อมีรายรับเข้ามาให้รีบเก็บออมก่อนเป็นส่วนแรก ประมาณ 20 % ของรายรับ หรือไม่ก็เราอาจจะทำงานพิเศษ หารายรับเพิ่มแล้วเอาเงินทั้งหมดนั้นเก็บไว้เป็นเงินลงทุนในอนาคต
2. เลือกที่จะลงมือทำและลองผิดลองถูก
เพราะการลองผิดลองถูกทำให้คนเราเกิดกระบวนการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด การเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะวัย 20 ต้นๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ พ่อแม่บางคนก็อาจจะแย้งว่า วัยนี้เป็นวัยที่ต้องเรียนหนังสือให้ได้คะแนนและเก็บเกรดดีดี เพื่อเกียรตินิยม ไม่ควรที่จะไปทำงาน จะทำให้ไม่เต็มที่กับการเรียน เราจะไม่บอกว่าการสอนแบบนี้เป็นการสอนที่ผิด แต่มันอาจจะเก่าไปแล้วสำหรับยุคนี้ การเรียนในโรงเรียนนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อย่าลืมว่ามันเป็นแค่ทฤษฎี ปัญหาคือสิ่งที่ยกตัวอย่างและสมมติขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่ในโลกของการทำงาน ปัญหาคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ต้องได้คิดและตัดสินใจจริง ถ้าตัดสินใจพลาดก็คือพลาด ไม่ใช่แค่เสีย 1 คะแนน แต่เป็นสิ่งที่นำไปสู่เรื่องราวที่มีความหลากหลายมากขึ้น
3. อย่าเพิ่งลาออกจากงานประจำ
แต่ให้หาเวลาว่าง ศึกษาและอยู่กับเป้าหมายของเราไปสักพัก อย่างเช่น ถ้าอยากจะลงเล่นหุ้น อย่างแรกคือต้องฟังและต้องอ่านให้มากๆ การลงทุนที่ดีที่สุด ยังไงก็ไม่พ้นลงทุนกับมันสมองของตนเอง ติดอาวุธให้ตัวเองไปพร้อมๆกับการเก็บออม
4. ใช้ความล้มเหลวเป็นแรงผลักดัน
ข้อนี้ดีมากสำหรับคนหนุ่มสาว เพราะคนวัยนี้ยังมีไฟ ไม่ค่อยกลัวกับอุปสรรค ที่จะแตกต่างจากคนที่ผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นนี้ไปแล้ว ซึ่งอย่าว่าแต่ความล้มเหลวเลย ถ้าเป็นช่วงอายุที่เลยหลัก 30 ขึ้นไป จะเริ่มไม่อยากเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเสียด้วยซ้ำ เพราะเกรงกลัวว่าจะสูญเสีย สิ่งที่มีอยู่มากไปกว่าเดิม อีกทั้งพวกเขานั้นมีครอบครัว มีภาระและพันธะต้องดูแล แต่ถ้ามีการวางแผนทางการเงินที่ดี การลงทุนก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเกินไปหรอกจริงไหมคะ ความล้มเหลวก็คือข้อผิดพลาด ที่จะสอนให้เราเรียนรู้และคิดแก้ไข หาทางออก ถ้าได้อ่านประวัติคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆคน พวกเขานั้นก็ต่างมีประสบการณ์หรือเจอกับความล้มเหลวมาก่อนทั้งนั้น ดังคำที่ว่า เจ็บและล้มมาพันครั้ง เพื่อชัยชนะเพียงครั้งเดียว
5. ถ้าอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ
อย่าคิดกลัวที่จะเริ่มต้น จงทำงานให้หลากหลาย ดิฉันชื่นชอบการฝึกงานของนักศึกษาสถาบันแห่งหนึ่ง นักศึกษาที่ใกล้จบ เขาจะลองให้ไปฝึกงานตามตำแหน่งต่างๆที่บริษัทจัดให้ ตั้งแต่เป็นแม่บ้าน ถูพื้น ทำความสะอาด ทำหน้าที่เสิร์ฟ ไปจนถึงเดินเอกสาร ทำงานธุรการ พนักงานบัญชี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้งานที่หลากหลายและเข้าใจ สถานภาพการทำงานที่แตกต่างกัน ปัญหาและความกดดันไม่ได้เกิดจากตัวงาน แต่เกิดขึ้นกับตัวบุคคล ที่พูดยากและเดายากมากที่สุดก็คือใจคน ที่มีหลากหลายรูปแบบ นั่นก็คือ โจทย์ที่เราจะต้องรับมือ คนที่จะบริหารคนได้ต้องเข้าใจผู้อื่นให้มาก ธุรกิจก็เช่นกันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนโดยตรง ถ้าอยากสร้างสินค้าขึ้นมาสักชิ้น อย่างน้อยล่ะ ต้องเข้าถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่ และทำอย่างไรจะให้สินค้าของเราติดตลาดนั่นเองค่ะ
6. หาสิ่งที่แตกต่าง
ยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารมากมาย ใครรู้ก่อนก็ยังไม่สู้ใครคิดได้ก่อน การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น สูตรอาหารใหม่ๆ ที่เน้นคลีนฟู๊ดกับกระแสของการรักษาสุขภาพ เป็นต้น คิดได้ก่อน ลงมือทำก่อน ย่อมสำเร็จก่อน เช่นเดียวกับการเล่นหุ้น นักลงทุนย่อมมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หุ้นที่ราคาตกจะไม่ค่อยเป็นที่ต้องการ ซื้อไปก็มีความเสี่ยงเพราะไม่ได้รับความนิยม มันอาจจะใช่ในช่วงระยะเวลานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแบบนี้ไปตลอด คนที่ฉลาดก็มักจะรีบโกยซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่ช่วงที่มันราคาตก แล้วอดทนรอ ให้ถึงช่วงที่มันกลับมาขึ้นอีกครั้ง เพื่อที่จะขายออกและหันไปมองหาตัวอื่นต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ
เรียนรู้ที่จะผิดพลาดในวันนี้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย ล้มเหลวไม่เป็นไร ใช้เป็นบทเรียน จำไว้ว่าปัญหาทำให้เราแกร่งขึ้น มองปัญหาเป็นโอกาส สี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ใช้ปัญญานำพาสู่ทางออก ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละคนแล้วล่ะค่ะ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป