การใช้เงินในยุคที่เศรษฐกิจกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้คงจะต้องประหยัดกันเสียหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะต้องเก็บออมเงินกันเป็นหน้าเป็นหลัง เพราะยิ่งต่างคนต่างเร่งออมเงิน ไม่เกิดการใช้งานก็จะยิ่งทำให้ไม่มีเงินมาหมุนเวียนในตลาด เศรษฐกิจก็จะยิ่งฝืดเคือง ทว่าพ่อค้าแม่ค้า ผู้ที่ทำธุรกิจด้านการขาย หรือธุรกิจใหญ่ ๆ ที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าจะโดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้าอย่างจัง และสำหรับประชาชนมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ อาจจะต้องเจอกับปัญหาข้าวยากหมากแพง หนักสุดก็ถูกลดโบนัสปลายปี!
โดยที่การรับมือในการใช้เงินนั้น ยุค เศรษฐกิจขาลง ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เรามีวิธีการจัดการเงินอย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เงินให้เป็น ก็จะสามารถดำรงอยู่ได้กับทุกสถานการณ์เศรษฐกิจแบบไม่สะทกสะท้านเลยทีเดียว ซึ่งการวางแผนวิธีการใช้เงินที่ดีนั้นจะต้องเริ่มจากการสำรวจตนเองเสียก่อน การจะวางแผนการเงินได้นั้นไม่ใช่เพียงแค่การใช้จ่ายส่วนบุคคล แต่บางคนยังมีภาระด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกมาก เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ หรือบางคนอาจมีบุตรที่ต้องส่งเสียค่าเรียนอีกด้วย
ดังนั้นจึง ต้องสำรวจด้านการเงินของตนเอง เพื่อให้รู้จักกับอุปสรรคทางการเงินของตนเอง เพื่อเป็นการคำนวณในการจัดสัดส่วนของเงินให้เหมาะสมไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างของแต่ละคน จากนั้นก็ให้แบ่งส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไว้และจัดงบดุลค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อไม่ให้เป็นการใช้เงินนอกลู่นอกทาง แนะนำให้ใช้การจดบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำทุกวัน มีการรวมยอดของรายรับและรายจ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สามารถนำมาวางแผนการใช้เงินเพื่อการประหยัดมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไป และจะต้องมีการรวมยอดรายรับรายจ่ายในแบบรายเดือนไปจนถึงรายปีเพื่อเป็นการวางแผนทางการใช้เงินต่อไปด้วยเช่นกัน ซึ่งหากรวมยอดรายได้และรายจ่ายทั้งหมดแล้วพบว่าเกินดุลก็ให้เก็บเงินคงเหลือไว้ใช้ในยามยาก แต่หากขาดดุลก็ให้กลับมาดูที่รายได้และรายจ่ายของตนเองว่าเราสามารถหาทางเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ หรือมีรายจ่ายส่วนใดที่สามารถตัดทิ้งโดยไม่มีผลกระทบในชีวิตประจำวัน
ซึ่ง การจดบันทึกรายรับรายจ่าย อยู่เป็นประจำนั้นจะช่วยให้เราคาดคะเนการเงินของเราในอนาคตได้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นการลดหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะหนี้สินนั้นถือเป็นการใช้เงินที่มีความฟุ่มเฟือยมากที่สุด เนื่องจากหากเป็นหนี้แล้วก็จะก่อหนี้เพิ่มพูนขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ ด้วยการจ่ายดอกเบี้ย ยิ่งเป็นหนี้สินนอกระบบยิ่งมีดอกเบี้ยที่แพงจนเกินเหตุอีกด้วย รายได้ต่อเดือนที่ได้มาจึงหมดลงไปกับการชำระดอกเบี้ย ไม่มีเหลือให้เก็บออม แต่ทว่าหนี้สินบางประเภทก็ยังถือเป็นหนี้ที่ดี ควรค่าต่อการกู้ยืมเพื่อการลงทุนที่ไม่เสียหาย ยกตัวอย่างเช่น การกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น หรือหากใครที่อยากจะซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้ซื้อรถยนต์ที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อไม่เกิน 15% ของรายได้ตนเอง และควรเลือกธนาคารหรือไฟแนนซ์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อไม่ให้เกิดภาวะผ่อนส่งเกินตัว และแนะนำให้ซื้อบ้านที่มีราคาไม่เกิน 30 เท่าของรายได้ตนเองต่อเดือน ที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการผ่อนต่อเดือนจะต้องไม่เกิน 25-30% ด้วย ซึ่งการซื้อบ้านและรถยนต์เหล่านี้อาจใช้การคำนวณรายได้ของครอบครัวรวมกัน เพื่อให้สามารถมีเงินใช้จ่ายต่อเดือนได้อย่างเพียงพอ
การใช้เงินให้เป็นอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินด้วยการลองลงทุนในสิ่งที่ถนัดสักอย่าง เพราะเมื่อเรารู้จักวิธีการใช้เงินอย่างเหมาะสมแล้วก็จะเกิดเงินออมมากมาย และการนำเงินเหล่านั้นมาลงทุนไว้ย่อมดีกว่าการนำไปใช้สอย ด้วยการเริ่มจากการสำรวจความถัดของตนเอง และความต้องการของตลาด เพื่อที่จะคิดหาสินค้าหรือบริการมาลงทุนขายเพื่อทำเงิน ทว่าการจะลงทุนใด ๆ นั้นจะต้องศึกษาช่องทางในการลงทุนให้ดีเสียก่อน เนื่องจากเปอร์เซ็นต์ที่การลงทุนจะล้มเหลวหรือรุ่งเรืองนั้นมี 50:50 เลยทีเดียว หรือบางคนที่อาจจะไม่ค่อยถนัดทางด้านการลงทุน และกลัวที่จะนำเงินลงไปเสี่ยงก็อาจจะใช้เงินออมที่มีเหล่านั้นไปฝากกินดอกเบี้ยธนาคารแทนได้ โดยแนะนำให้ฝากเงินในประเภทเงินฝากประจำที่จะมีการกำหนดระยะเวลาในการฝากเงินอย่างแน่นอน เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี หรือแบบเงินฝากประจำ 5 ปี ตามแต่ความต้องการของเรา ซึ่งจะเป็นประเภทเงินฝากที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากแบบออมทรัพย์ เนื่องจากเป็นเงินฝากที่มีระยะเวลายาวนานโดยที่เราจะไม่สามารถถอนเงินในบัญชีก่อนเวลาที่กำหนดไว้ได้ หรืออาจจะสามารถถอนเงินฝากก่อนกำหนดได้โดยไม่ได้รับดอกเบี้ยตามแต่ที่ธนาคารแต่ละธนาคารจะกำหนด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินได้ แม้อาจจะมีเงินเพิ่มพูนขึ้นมาน้อยกว่าการลงทุน
การใช้เงินให้เป็นนั้นจะต้องเกิดจากการวางแผนทางการเงินที่ดี เพราะว่าเราไม่สามารถคาดเดาราคาน้ำมันที่ดูจะพุ่งทะยานไปไม่มีหยุด ของซื้อของขายก็พากันขึ้นราคาสวนทางกับรายได้มวลรวมของประชากรทั้งประเทศ ที่ยิ่งจะตกต่ำลง การใช้เงินให้เป็นจึงถือเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัว ให้สามารถเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ และจะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่เป็นหนี้เป็นสินนั่นเอง