“Vision without action is merely a dream. Action without vision just passes the time. Vision with action can change the world.” – Joel A. Barker
เป็นอีกหนึ่งข้อคิดที่เป็นประโยชน์มากเหมาะกับผู้ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสื่อความหมายว่า “ความคิดดี ๆ แต่ไม่เคยลงมือทำก็จะอยู่แค่ความฝัน มุมานะทำสุดกำลังแต่ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ก็คือวันเวลาที่ผ่านเลยไป เมื่อไรที่วิสัยทัศน์และการลงมือทำอย่างจริงจังมารวมเข้าด้วยกัน เมื่อนั้นโลกก็จะพบกับความเปลี่ยนแปลง”
อย่างเช่นที่บรรดาแฟชั่นนิสต้าในปัจจุบันมีความสุขและสนุกกับการแต่งตัวด้วยดีไซน์เสื้อผ้าใหม่ ๆ จาก แบรนด์เสื้อผ้า ดังฝั่งตะวันตกประเทศสเปน ภายใต้ชื่อตราสินค้า Zara ของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งแห่งยุโรป Amancio Ortega และยังขึ้นแท่นมหาเศรษฐีระดับโลกอันดับที่ 3 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 39,500 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 3,800 ล้านดอลลาร์ค่ะ ถือว่าเป็นสปรีดการเติบโตทางการเงินที่เร็วมากคนหนึ่งเลยค่ะ โดยบริษัทที่อยู่ในการบริหารงานของเขาก็คือ บริษัท Inditex ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นขวัญใจหนุ่มสาวยุคนี้อย่าง Zara, Massimo Dutti และ Pull & Bear ค่ะ ทั้ง ๆ ที่ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจฝั่งยุโรปซบเซาเข้าขั้น โดยเฉพาะประเทศสเปน แต่บริษัท อินดิเตกซ์ ภายใต้การดูแลของออร์เตกาก็ฝ่ามรสุมมาเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของโลกที่สามารถขยายสาขาได้มากถึง 4,300 สาขาในโซนประเทศยุโรป, 400 สาขาในทวีปอเมริกาและอีกเกือบ ๆ 900 สาขาในฟากฝั่งเอเซีย หรือ 5,600 สาขาทั่วโลกนั่นเองค่ะ
ย้อนกลับไปมองความเป็นมาของมหาเศรษฐีแห่งวงการเสื้อผ้าแฟชั่นคนนี้ที่ชื่อ ออร์เตกา เขาเติบโตมาจากครอบครัวฐานะปานกลาง โดยพ่อของเขาเป็นคนงานรับจ้างก่อสร้างทางรถไฟ ส่วนแม่ของเขาก็เป็นแม่บ้านตั้งแต่ออร์เตกาอายุได้ราว ๆ 13 ปี เขาก็ไปทำงานรับจ้างเป็นลูกมือในร้านตัดเย็บเสื้อผ้าที่ชื่อ Gala ทำให้เขาได้เรียนรู้ความต้องการของลูกค้าเรื่องความรวดเร็ว, การจัดวางสินค้าที่หน้าร้าน, การดูแลการผลิตและการจัดการเรื่องขนส่งเสื้อผ้าด้วยค่ะ จนกระทั่งปี 1975 หรือ พ.ศ. 2518 ออร์เตกาก็ตัดสินใจเปิดกิจการร้านเสื้อผ้าของตนเองในชื่อแบรนด์ ZARA ซึ่งในตอนแรกนั้น เขาอยากจะใช้ชื่อ Zorba แต่บังเอิญมีคนอื่นจดทะเบียนไปแล้ว เขาก็เลยเปลี่ยนมาเป็น ZARA แทนค่ะ กุญแจดอกสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จครั้งนี้ของเขาที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เรื่องของความเร็ว หรือ ความฉับไว นั่นเองค่ะ
กุญแจดอกแรกที่ออร์เตกาใช้ในการสร้างแบรนด์เสื้อผ้า ZARA ให้ติดใจลูกค้าก็คือความไวของแบบเสื้อผ้าที่เหมือนถอดออกมาจากรันเวย์ได้ทันทีทันใจค่ะ สำหรับร้านเสื้อผ้าทั่ว ๆ ไป กว่าจะเปิดตัวชุดเสื้อผ้าสไตล์แฟชั่นรันเวย์ได้ก็มักจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 – 3 เดือน แต่สำหรับเสื้อผ้าแบรนด์ ZARA นั้น สามารถออกแบบ, ผลิตตัดเย็บและส่งให้วางขายในหน้าร้านภายในระยะเวลาที่ฉับไวมาก ๆ ก็คือ 2 สัปดาห์เท่านั้นค่ะ ซึ่งนับว่าเร็วสุด ๆ จริง ๆ ค่ะ เคล็ดลับของการทำงานฉับไวรวดเร็วของ ZARA มาจากการที่เขาให้พนักงานออกไปเก็บรายละเอียดแบบเสื้อผ้าจากรันเวย์ จากนั้นก็ส่งไม้ต่อให้ดีไซน์เนอร์กว่าร้อย ๆ คนช่วยกันออกแบบที่สำนักงานใหญ่ของ Inditex ในประเทศสเปน จากนั้นก็จะมีทีมผลิตคอยดูแลเรื่องเนื้อผ้าและส่งผลงานการออกแบบตรงไปให้ผู้ผลิตทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ทำให้ขบวนการผลิตเสื้อผ้าของ ZARA ใช้เวลาทั้งหมดเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้นค่ะ เมื่อสามารถวางสินค้าได้เร็วกว่าแบรนด์อื่น ๆ เงินก็เข้ากระเป๋าได้ไวกว่ามากกว่าหน่ะสิค่ะ ว่ากันว่า บริษัท Inditex มีจำนวน supplier ที่คอยส่งวัตถุดิบหรือแบบเนื้อผ้าหลาย ๆ แบบให้มากถึง 1,625 รายด้วยกันค่ะ ทั้งความหลากหลายทางวัตถุดิบจากจำนวน supplier ที่มี ทำให้แบรนด์เสื้อผ้า ZARA สามารถผลิตสินค้าได้เร็วกว่าและมากกว่า แบรนด์เสื้อผ้าคู่แข่งฝั่งยุโรปอย่าง Hennes & Mauritz หรือก็คือแบรนด์ชื่อคุ้นหูคุ้นตาเรา ๆ อย่าง H&M นั่นเองค่ะ
นอกจากความฉับไวในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าแล้ว อีกหนึ่งความเร็วที่พนักงานทุกคนใน ZARA ทราบกันดีก็คือ กฎ 48 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า คลังเสื้อผ้าจะมีการเปลี่ยนถ่ายเข้าออก 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือก็คือทุก ๆ 48 ชั่วโมง หรือ ทุก 2 วัน จะต้องมีแบบเสื้อผ้าใหม่ ๆ เข้ามาที่ร้าน ZARA ค่ะ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้หญิงที่มักอยากจะสวมเสื้อผ้าแบบที่แสดงบนรันเวย์ในราคาที่พวกเธอสามารถจ่ายไหว และเพิ่มแรงกระตุ้นในการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าของผู้หญิงขึ้นไปอีกนิดว่า ถ้าพวกเธอไม่รีบสอยเสื้อผ้าแบบใหม่ไปใส่กันตั้งแต่ตอนนี้ ก็คงไม่ได้ใส่แน่ ๆ เพราะสินค้าจะเปลี่ยนคอลเล็กชั่นออกเร็วมาก ๆ และยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนเองมีแบบเสื้อผ้าใหม่ ๆ ให้เลือกซื้อเลือกใส่ตลอดเวลาอีกด้วยค่ะ เก๋มากมาย ณ จุดนี้ ปรบมือรัว ๆ กับกุญแจดอกที่ 2 ของออร์เตก้าค่ะ
ส่วนกุญแจดอกที่ 3 ของเขาก็คือ ความหนักแน่นในด้าน supply chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน ที่จัดว่ามีความคล่องตัวสูงมาก ๆ ทำให้ ZARA แทบจะไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเรื่องของสินค้าค้างสต็อก ด้วยการออกแบบกลไกการตลาดที่เปลี่ยนให้ลูกค้าเป็นคนมาซื้อล้างสต็อกสินค้าทุก ๆ 2 วัน เพราะลูกค้าเกรงว่าจะพลาดสินค้าของทางร้าน เคล็ดลับการบริหารนี้โดดเด่นมากขนาดที่นิตยสาร Harvard Business Review ตั้งชื่อรูปแบบการบริหารนี้ว่า Rapid-Fire Replenishment และเป็นกรณีศึกษาสำหรับสถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่งอีกด้วยค่ะ
ที่มารูป :www.telegraph.co.uk