ทุกวันนี้ เวลาที่เราเข้าไปทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่สาขาไหน ธนาคารอะไร เราก็จะพบเห็นโปสเตอร์ หรือ โบรชัวร์แนะนำการออมเงินในรูปของการลงทุนกับกองทุนต่าง ๆ แต่ที่โดดเด้งเตะตาและเป็นที่สนใจมากสุด หรือ คนรู้จักของคุณต่างก็แนะนำให้นำเงินออมมาลงทุนกัน ก็น่าจะเป็นกองทุนรวมระยะยาว หรือ LTF นั่นเองค่ะ ยิ่งช่วงปลายปีใกล้ ๆ จะต้องเตรียมคำณวนภาษีด้วยแล้ว ยิ่งเดินพาเหรดเข้ามาซื้อกองทุนกันเป็นว่าเล่น
หากคุณ ๆ เองก็ได้ยินได้ฟังมาว่า การ ออมเงินใน LTF นั้นดีจริง แล้วคุณได้ถามตัวเองบ้างหรือยังว่าคุณรู้อะไรเกี่ยวกับ LTF บ้าง และที่เขาบอกว่าลงทุนแบบนี้ความเสี่ยงต่ำ เขานำเงินของคุณไปทำอะไรบ้าง แล้วสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนไปมาจะกระทบกระเทือนต่อกองทุน LTF มากน้อยแค่ไหนค่ะ ถ้าเริ่มพูดในใจว่า อืม นั่นหน่ะสิ หล่ะก็ มาพิจารณาประเด็นนี้ด้วยกันสักหน่อยดีมั๊ยคะ
ประเด็นแรก ถ้าคุณเข้าใจมาตลอดว่า การซื้อหน่วยลงทุนใน LTF นั้นไม่มีความเสี่ยง หรือ มีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่ก็น้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น โปรดจงรู้ไว้เถิด ว่าคุณเข้าใจผิดถนัดค่ะ
ถ้าสงสัย มึน ๆ งง ๆ ก็ลองอ่านที่ชื่ออีกทีค่ะ LTF หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ชื่อชัด ๆ ว่าหุ้นเต็ม ๆ ค่ะ และเมื่อเป็นการลงทุนเกี่ยวกับหุ้น ไม่มีความเสี่ยงเลยก็ไม่มีทางนะคะ เคลียร์นะคะ ทีนี้ ถ้าจะถามว่าเสี่ยงกว่า หรือ เสี่ยงน้อยอย่างไรนั้น ขอให้ดูประกอบกันเป็น 2 แบบนะคะ แบบแรกคือแบบที่เราค่อนข้างจะคุ้นหูคุ้นปากและคุ้นตากันในชื่อที่ว่า กองทุน LTF 70/30 แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นสัดส่วนอื่น ๆ บ้างนะคะ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายของธนาคารค่ะ ซึ่งแบบนี้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง หรือ เสี่ยงน้อยมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้วนั้นน่าจะฟังกันมาผิด ๆ หรือ ไม่ก็สับสนกันไปนะคะ คำว่าลงทุน 70 นั้น บางคนอาจจะนึกว่าเป็นการลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียว 70 และสัดส่วนที่เหลืออีก 30 ค่อยนำไปลงทุนในหุ้น ถ้าคุณเองก็คิดอย่างนั้นหล่ะก็ ทำความเข้าใจจูนกันใหม่ ณ บัดนาวเลยนะคะว่า สัดส่วน 70 แรกนั้น คือการนำเงินไปลงทุนในหุ้น และส่วนอีก 30 ที่เหลือคือการลงทุนในตราสารหนี้ค่ะ
ทีนี้ ถ้าเราจะทึกทักไปกันเองว่าการลงทุนในหุ้นถึง 70% ของพอร์ตนั้น ไม่เสี่ยงอะไรเลยสักนิด อันนี้ก็เป็นไปไม่ได้นะคะ พูดตรง ๆ ค่ะ ส่วนการลงทุน LTF อีกแบบ ที่เรารู้จักกันว่าเป็นการลงเงินเกือบจะทั้งหมด 100% ไปที่หุ้นนั้น อันนี้ชัด ๆ นะคะว่าผู้ลงทุนก็ต้องเจอกับความเสี่ยงแบบเดียวกันกับเวลาที่ลงทุนเล่นหุ้นตรง ๆ ในตลาดหุ้นนั่นเองนะคะ จะต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่เวลาที่เราลงทุนผ่านกองทุน LTF นั้น เขาก็จะมีเจ้าหน้าที่มาดูแลเงินลงทุนอย่างเป็นระบบมากกว่าเราดำเนินการผ่านตัวแทนเองค่ะ จึงอาจทำให้ใครต่อใครรู้สึกว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือ ความเสี่ยงลดลง เพราะไม่ต้องมาตัดสินใจว่าจะถือต่อ หรือ จะปล่อยเมื่อไร, ไม่ต้องมาตื่นตาตื่นใจว่าจังหวะนี้ปล่อยเลยดีหรือเปล่า และไม่ต้องมานั่งจับตาดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นตลอด ๆ ค่ะ แต่ถ้าสำหรับคนที่มีทักษะในการบริหารจัดการพอร์ตหุ้นของตัวเองดีอยู่แล้ว ความเสี่ยงนั้นก็ไม่ค่อยจะต่างกันเท่าไรนักค่ะ ดังนั้นถ้าคุณ ๆ ตัดสินใจออมเงินผ่านกองทุน LTF ก็ต้องทำใจยอมรับและทำความรู้จักกับความเสี่ยงไว้ด้วยเลยนะคะ
ประการที่ 2 คุณ ๆ ต้องเข้าใจตรงกันก่อนนะคะว่า การลงทุนในกองทุน LTF คือการลงทุนระยะยาว ดังนั้นถ้าคุณ ๆ วิตกกังวลเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง หรือ พิษเศรษฐกิจโลกใด ๆ ก็ตาม ระลึกไว้นิดหนึ่งว่า การลงทุน LTF นั้นคุณต้องถือหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่า 3 – 5 ปี
ซึ่งอะไรก็ตามที่คุณไม่มั่นใจก็น่าจะเข้าที่เข้าทาง คงเส้นคงวา หรือ กลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นปกติกันบ้างแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณ ๆ ก็ไม่น่าจะหวั่นเกรงการลงทุนระยะยาวนะคะ
ประการที่ 3 อย่ามัวไปจับจ้องที่ราคาทุกวี่วัน
เพราะอะไรน่ะเหรอคะ เหตุผลแรกเลยก็คือ นี่เป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นถึงคุณ ๆ จะเช็คราคาซื้อขายทุกวัน บางวันได้เห็นราคา NAV ของกองทุนเป็นบวก ก็นั่งยิ้มปลื้มปริ่ม แต่บางวันเช็คราคาแล้วเห็นว่า ติดลบ ก็เดินหน้างอคอตกเป็นปลาทูในเข่งซะงั้น ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ การลงทุนหุ้น LTF นั้นเราควรถือเอาไว้ให้ครบตามระยะเวลา เราไม่ได้จะขายกันวันนี้ พรุ่งนี้ สักหน่อย จริงมั๊ยค่ะ แล้วก็สำหรับใครหลาย ๆ คนที่ถือกับจนครบกำหนดเวลาที่สามารถทำการขายได้ ส่วนใหญ่ก็เห้นจะกำไรกันทุกคน แต่จะมากหรือน้อยอันนี้ก็แล้วแต่กองทุน และขึ้นอยู่กับซื้อกันเมื่อปีไหนบ้างค่ะ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จงวางใจให้สงบแล้วก็ปล่อยให้เงินทำงานของเขาไป เหมือนเราวางลูกน้องมือดีในตำแหน่งงานที่เหมาะสมเราก็ไม่ต้องคอยเช็คคอยดูเขาตลอดเวลาค่ะ ท่องไว้ในใจก็ได้ค่ะ ว่าเราไม่สามารถเทขาย LTF ได้ถ้ายังไม่ครบเวลา ดูไปก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ดูให้รกใจดีกว่าหรือเปล่าคะ