จากบทความที่แล้วเรื่อง “ 9 กองทุนที่น่าลงทุน ฉบับมนุษย์เงินเดือน” เราได้แนะนำกองทุนที่น่าสนใจในการลงทุนกันไปแล้ว ในบทความนี้ เราขอพูดถึง 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวม ก่อนตัดสินใจลงทุน ข้อที่ควรรู้มีอะไรบ้าง มาดูพร้อมกันตามรายละเอียดด้านล่างนี้ค่ะ
ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวม
-
ควรมีเงินเก็บประมาณ 3 – 6 เท่าของรายได้ต่อเดือน
ก่อนการลงทุนนักลงทุนควรจะมีเงินออมประมาณ 3 – 6 เท่าของรายได้ต่อเดือน เพื่อเป็นเงินฉุกเฉิน เวลาเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อย ๆ ก็มีเงินสำรองไว้ใช้จ่าย หรือคุณสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ 3 – 6 เดือน โดยไม่ต้องไปรบกวนเงินที่คุณกำลังจะลงทุนในช่วงเวลานั้น จากนั้นค่อยนำเงินเก็บในแต่ละเดือนไปลงทุนเพิ่มเติม
-
เปิดบัญชีกองทุน
ซึ่งก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน สำหรับการเปิดบัญชีกองทุน เราขอแนะนำให้คุณเปิดบัญชีกับตัวแทนซื้อขาย หน่วยลงทุนจะดีกว่า เนื่องจากมีกองทุนให้เลือกค่อนข้างมาก และสามารถซื้อขายได้สะดวกมากว่าเมื่อก่อน
- ซื้อที่ธนาคาร ข้อดี ก็คือ สะดวก ง่าย ไว เพราะอยู่บริเวณใต้ตึกสำนักงานของบริษัท ฯ ต่าง ๆ แต่ข้อเสีย คือ มีกองทุนให้เลือกเฉพาะของ บลจ. ที่เป็นของธนาคารนั้น ๆ ถึงแม้ว่าหลัง ๆ ธนาคารทหารไทย จะเริ่มนำกองทุนของบลจ. อื่น ๆ เข้ามามากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังคงไม่ครอบคลุมกับ บลจ.อื่น ๆ
- ซื้อผ่าน บลจ.ผู้ออกกองทุน ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่การซื้อกองทุนได้จำกัด เช่นเดียวกับข้อแรก
- ซื้อผ่าน บล. หรือบลน. ที่เป็นนายหน้าซื้อขาย กองทุน ซึ่งค่อนข้างสะดวกพอสมควร เนื่องจากมีให้เลือกหลากหลาย แต่ข้อเสีย คือถ้าซื้อกองทุนเยอะ ๆ แทนที่จะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากธนาคาร หรือบลจ. ก็ไม่ได้
-
ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
เนื่องจาก หากคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็จะช่วยให้คุณสามารถวัดผล หรือติดตามผล และสามารถกำหนดเงินออมไว้เพื่อการลงทุนได้ในอนาคตได้
-
การเลือกกองทุน
ก่อนที่คุณจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ คุณควรศึกษา ทำความรู้จัก และหาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนต่าง ๆ ไว้ให้มาก ๆ เวลาลงทุนแล้วจะได้ไม่ต้องข้องใจ ถ้าหากมีความผันผวนเกิดขึ้นระหว่างลงทุน ส่วนกองทุนที่ไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ก็ควรหาผลตอบแทนที่สูง และความเสี่ยงต่ำ หรือสอบถามกับ บลจ.ที่เป็นผู้ออกกองทุนก็ได้เพื่อความแน่ใจ
-
หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ
ไม่ว่าคุณจะเลือกกองทุนใด ก็ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับผลตอบแทนย้อนหลัง ความเสี่ยง วิธีการจัดการกองทุน โดยอาจจะหาจาก Website ที่เกี่ยวกับกับกองทุนรวม ได้ เพื่อหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ มากกว่ากองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเพียงปีเดียว
-
ดูค่าธรรมเนียมกองทุนที่เหมาะสม
ถ้าละเลย และเลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมการจัดการแพงมาก อาจส่งผลเสียได้ ซึ่งคุณจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นว่าค่าธรรมเนียมมีผลอะไร เมื่อระยะเวลานานขึ้น คุณอาจเสียเงินค่าธรรมเนียมเป็นหมื่น เป็นแสนบาทได้ ดังนั้น ให้เลือกดูกองทุนที่มีค่าใช้จ่าย Total Expense ratio ต่ำ ๆ น่าจะดีกว่า อย่างเช่น Active ไม่ควรเกิน 2% กองทุน Passive ไม่ควรเกิน 1% แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎที่ตายตัว เราเพียงแค่ประมาณการอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น
-
ตรวจสอบเกี่ยวกับ กองทุนเปิด – กองทุนปิด
ก่อนการลงทุนในกองทุนรวมควรดูด้วยว่า เป็นกองทุนประเภทไหน ซึ่งกองทุนนั้นมี 2 แบบ คือ กองทุนเปิด เป็นกองทุนที่สามารถสามารถขายหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา และ กองทุนปิด เป็นกองทุนประเภทที่ไม่ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนกำหนดเวลา นอกจากนี้กองทุนยังมีหลายรูปแบบ ได้แก่
- Passive หรือ Active เพื่อให้คุณสามารถเลือกลงทุนได้อย่างลงตัว Passive เป็นการลงทุนที่เน้นลงทุนให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ส่วน Active เป็นกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้ผลตอบแทนของกองทุนนั้นชนะ ค่ามาตรฐาน หรือ พยายามทำกำไรสูงสุด ซึ่งคุณควรศึกษาเพิ่มเติม และเลือกได้อย่างเหมาะสมกับเงินลงทุนมากที่สุด
- ปันผล และ ไม่ปันผล กองทุนก็มีทั้งแบบปันผลให้ระหว่างลงทุน กับ กองทุนที่ไม่มีปันผล ซึ่งคุณก็สามารถเลือกได้ตามความชอบ กองทุนที่มีปันผล คุณก็จะได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ ส่วนกองทุนที่ไม่มีปันผลคุณจะได้รับผลตอบแทนในคราวเดียว เมื่อถึงกำหนดหรือเลิกกิจการเท่านั้น แต่คุณจะได้รับผลประโยชน์ก้อนใหญ่ ซึ่งคุณควรศึกษาเพิ่มเติม และเลือกอย่างได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน
-
ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินหรือไม่
ในเรื่องนี้คุณต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะในการลงทุนกับกองทุนที่ไปลงทุนกับกองทุนรวมต่างประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของคุณพอสมควร ดังนั้น จึงควรให้ความสนใจและใส่ใจในส่วนนี้ให้มาก
-
ใช้เทคนิคเข้าช่วยเวลาซื้อกองทุน
เทคนิคช่วยเวลาซื้อกองทุน ได้แก่ DCA (Dollar Cost Averaging) เป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ซึ่งการลงทุนแบบ DCA นี้คุณสามารถกำหนดการลงทุนเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กันได้ หรืออาจลงทุนเป็นรายเดือน รายไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน หรือราคาหุ้นที่คุณจะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไหร่ ซึ่งเป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติไปเรื่อย ๆ แต่เทคนิคการใช้ DCA ก็มีให้เลือกหลายแบบ อย่างเช่น แบบ DCA (ซื้อทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน), DCA + TIMING (ซื้อทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กันถ้าเดือนไหนมูลค่าหน่วยกองทุนที่จะซื้อลงต่ำมากกว่าต้นทุนคุณก็ซื้อเพิ่ม) และ Lump sum (ลงเงินเป็นก้อน) เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถเลือกใช้ได้ตามความชอบ และความเหมาะสม
-
ติดตามผลการลงทุน
ควรมีการติดตามผลการลงทุน โดยทำการ Rebalance พอร์ต ให้ความเสี่ยงคงที่ และเหมาะสมกับตัวคุณเอง สำหรับวิธีการ Rebalance คือ การที่คุณจัดสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนให้มีความลงตัว อย่างเช่น คุณต้องจะลงทุนหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% ต่อมาสัดส่วนนี้มันผิดจากเป้าหมายของคุณ เป็นหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% คุณก็จะต้องขายหุ้นส่วนเกิดออก 10% แล้วนำมาซื้อตราสารหนี้ 10% อย่างนี้เรียกว่า “Rebalance” ดังนั้น อัตราส่วนที่ดีที่สุดก็ขึ้นอยู่กับคุณเลือก ว่าคุณตั้งใจจะลงทุนในสัดส่วนแบบไหนนั่นเอง
ข้อควรรู้ทั้ง 10 ข้อที่เราแนะนำไปนั้น คุณสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการลงทุนในกองทุนรวมได้ ซึ่งผลตอบแทนจะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุนทุกครั้งต้องเข้าใจ และศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ในอนาคต ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาก่อนตัดสินใจ” ขอให้โชคดีกับการลงทุนในแบบของคุณค่ะ