สรุป 10 เรื่องการเงิน ที่ควรรู้ ปูพื้นฐานสู่ความมั่นคง
เงินถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในปัจจุบันที่เป็นยุคทุนนิยม แต่รู้หรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงิน ในวันนี้เราจะพาทุกคนไปดู สรุป 10 เรื่องการเงิน ที่ควรรู้กัน เพราะแค่การมุ่งมั่นทำงานหาเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการบริหารเงินในยุคนี้อีกต่อไป เราต้องเรียนรู้วิธีการจัดการ บริหารเงินอย่างชาญฉลาด และทำตามเป้าหมายที่วางเอาไว้อย่างไรให้สำเร็จ จะมีอะไรที่คุณควรรู้บ้าง ไปดูกันเลย
สรุป 10 เรื่องการเงิน ที่ควรรู้ เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
เงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตาย ก็หาใหม่ลำบาก ถ้าเรารู้สรุป 10 เรื่องการเงิน ที่ควรรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตอนที่เรายังเป็น New Jobber มันก็จะช่วยให้เราสามารถหาทางวางแผน และบริหารการเงินได้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ของแบบนี้ยิ่งทำอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันนานเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเห็นผลดีเท่านั้น เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการบริหารการเงิน มีดังนี้
1.เงินสำรองฉุกเฉิน
การมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินขั้นต่ำจึงควรเริ่มตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป คือเงินเก็บก็นี้ต้องมีเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอย่างสบาย 3 เดือน ถึงแม้ว่าในช่วงนั้นเราจะไม่มีรายได้อื่นเข้ามาเลยก็ตาม
ให้คำนวณดูว่าใน 1 เดือนเราใช้เงินเท่าไหร่ อย่างเช่น ถ้าคุณมีเงินเดือน 15,000 บาท เดือนนึงใช้เงินไป 12,000 บาท มีเงินเก็บ 3,000 บาท เราก็ต้องมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินสำหรับ 3 เดือน 12,000 X 3 = 36,000 บาท หากเราต้องการเก็บเงินให้ได้จำนวนนี้โดยเก็บเดือนละ 3,000 บาทเหมือนเดิม เราต้องใช้เวลา 1 ปีในการเก็บเงิน ถึงจะเรียกว่าเริ่มมีความมั่นคงทางการเงินในชีวิต
2.เก็บเงินก้อนแรกให้สำเร็จ
แนะนำว่าให้พยายามกัดฟันผ่านเงินเก็บ 30,000 บาทก้อนแรกให้สำเร็จ เพราะหลังจากนั้นมันก็จะเจริญงอกงาม และกลายเป็นเงินที่มากขึ้นกว่าเดิมโดยที่คุณไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำไป
แต่กว่าที่เราจะได้ 30,000 บาทแรกมาไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงอย่างนั้นเงินก้อนนี้ก็จำเป็นที่จะต้องหามาให้ได้เร็วที่สุดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ช่วงนี้เราอาจจะต้องพูดคุยกับคนใกล้ตัวเอาไว้ให้ดีว่ากำลังอยู่ในช่วงเก็บเงิน ไม่สามารถนำเอาเงินก้อนนี้ออกไปใช้จ่ายอะไรได้ และอย่าลืมพูดคุยกับตัวเองด้วยว่าเงินก้อนนี้ไม่สามารถเอามาใช้สนองความต้องการโดยเด็ดขาด
3.ห้ามใช้เงินสำรองฉุกเฉินหากไม่ได้ฉุกเฉินจริง
สำหรับใครที่มีเงินเก็บขั้นต่ำ 30,000 บาทขึ้นไป และสามารถอยู่ได้นานกว่า 3 เดือนเรียบร้อยแล้ว เราก็จะต้องมาดำเนินการขั้นตอนที่ยากที่สุดนั่นก็คือการเก็บเงินเพิ่ม และไม่หยิบเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้โดยเด็ดขาด ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจริง เช่น คนในครอบครัวเจ็บป่วยกะทันหัน ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน ให้เราพิจารณาเป็นกรณีไป ว่ากรณีไหนมีความสำคัญมากพอที่เราจะนำเอาเงินเก็บ ซึ่งเป็นหลักความมั่นคงทางการเงินของเราออกมาใช้จ่าย
4.การเริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อของที่อยากได้ (สินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ)
เงินเก็บแค่ส่วนของการสำรองฉุกเฉินอาจไม่เพียงพอในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ที่มีของล่อตาล่อใจมากมายเต็มไปหมด ถ้าเราอยากจะให้รางวัลตัวเองบ้างเป็นครั้งคราวก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะเปย์ตัวเองบ้าง แต่สิ่งสำคัญก็คือมันควรเป็นการเอาเงินเก็บในส่วนของการสนองความต้องการของตัวเองออกมาเปย์ตัวเอง
อย่านำเอาเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้ และในขณะเดียวกันเองเราก็ไม่ควรสร้างหนี้สินเพิ่มเติมเกินความจำเป็นอีกด้วย อยากได้อะไรก็เก็บเงิน และฝึกความอดทนไปก่อน เมื่อมีเงินพอแล้วซื้อมา คุณจะเห็นคุณค่าของของชิ้นนั้น และเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจอย่างแน่นอน
5.ไม่ควรเก็บเงินอย่างเดียว อยากรวยต้อง “ลงทุน”
หลายคนให้ความสำคัญกับการเก็บเงิน แต่แค่การเก็บเงินอย่างเดียวไม่ช่วยให้คุณรวยขึ้นมาได้ เพราะถึงแม้ว่าจะฝากเงินกับบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ให้ดอกเบี้ยสูงที่สุดจากบรรดาเงินเก็บทั้งหมด มันก็ไม่สามารถเทียบเท่ารายได้ที่เราจะได้รับจากการลงทุนอยู่ดี เราเลยอยากแนะนำให้เก็บเงินเย็นเพิ่มไว้อีกก้อนนึงเอาไว้สำหรับการลงทุน เป็น Passive Income ที่เราให้เงินทำงานไป มีวิธีการลงทุนเท่านั้นที่จะช่วยเราสามารถชนะค่าเงินเฟ้อที่ขึ้นเป็นประจำทุกปีได้สำเร็จ
6.การเล่นหุ้น ทางลัดสำหรับคนรวย
สำหรับใครที่มีเงินเย็นจำนวนหนึ่ง จะเอาไปลงกับหุ้นอเมริกาก็ได้ เพราะถือว่าเป็นหุ้นที่ค่อนข้างเติบโตแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว ขอเพียงแค่เราศึกษาเรื่องความเสี่ยง และลงทุนแบบกระจาย ลงตัวที่เสี่ยงมาก ได้ผลกำไรมาก และลงตัวที่เสี่ยงน้อย แต่ผลกำไรต่ำลงมาอีกสักหน่อยด้วย อย่าทุ่มกับการลงทุนในหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดที่มีโดยเด็ดขาด
และพยายามทำใจให้สบายเมื่อหุ้นของคุณราคาตก เพราะถ้ามันเป็นหุ้นที่ดีจริง สุดท้ายแล้วมันก็จะมีช่วงที่ราคาขึ้น และมอบผลตอบแทนให้กับเราอย่างคุ้มค่าในภาพรวมอยู่ดี สิ่งสำคัญ จึงเป็นการเลือกลงทุนกับหุ้นที่เหมาะสม ใครที่ไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อนจะลองปรึกษาโบรกเกอร์ก็ได้เหมือนกัน
7.หนี้สิน ศัตรูตัวฉกาจทางการเงิน
หนี้สินสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือหนี้สินที่เรากู้ยืมมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่อย่างบ้าน หรือรถยนต์ และแบบที่ 2 คือหนี้สินที่ความจริงแล้วเราสามารถจัดการก่อนที่มันจะกลายเป็นหนี้ได้ อย่างเช่น หนี้บัตรเครดิต ถ้าเราจ่ายตรงเวลามันก็จะไม่กลายเป็นหนี้ เราไม่จำเป็นต้องเสียดอกเบี้ยไปกับมันด้วยซ้ำไป หรือการเป็นหนี้เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง อยากได้ของที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับชีวิตถึงขนาดนั้น
หนี้ในรูปแบบที่ 2 จึงเป็นสิ่งที่คุณควรระวังให้ดี เพราะหนี้สินที่คุณต้องจ่ายคืนไม่ได้มีแค่เงินต้น แต่มันยังมีดอกเบี้ยที่เราต้องเสียเปล่าให้กับเจ้าหนี้ด้วย อะไรที่ไม่จำเป็นต้องก่อหนี้ก็อาจจะต้องพิจารณาว่าเราควรซื้อมันจริงหรือเปล่า ใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ ไม่ใช่ใช้เพื่อการสร้างหนี้ เพราะมันจะเป็นตัวฉุดรั้งทำให้คุณไม่มีเงินเก็บไปอีกหลายเดือนเลยทีเดียว
8.รถยนต์คันแรก กับดักทางการเงินที่ต้องระวัง
สำหรับคนที่เพิ่งทำงานใหม่ได้สักพักหนึ่ง สิ่งแรกที่อยากมีแน่นอนว่าคงเป็นรถยนต์ เพราะมันช่วยให้การเดินทางของเราสะดวกสบาย ไปไหนมาไหนง่ายขึ้น แต่รู้หรือไม่ ว่าความจริงแล้วมันเป็นกับดักทางการเงินที่ต้องระวังให้ดี เพราะเดี๋ยวนี้มีการซื้อรถยนต์แบบดาวน์ 0% สามารถผ่อนดาวน์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยเด็ดขาด
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีเงินเดือน 15,000 บาท ต้องผ่อนรถเดือนละ 7,000 บาท คุณอาจจะมองว่าเรายังเหลืออีกตั้ง 8,000 บาท เหลือเงินเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินเดือนด้วยซ้ำไป แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณยังมีค่าใช้จ่ายอื่นรออยู่ในชีวิต และรถยนต์ก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ค่าผ่อนอย่างเดียว แต่ยังมีค่าตรวจสภาพ ค่าซ่อมบำรุง ค่าเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ค่าน้ำมัน ประกันเสริม ติดฟิล์ม เติมลมยาง เดือนนึงคุณอาจจะต้องเสียเงินไปกับรถยนต์ถึง 9,000 บาทหรือมากกว่านั้นก็ได้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถซื้อรถยนต์ได้ ความจริงแล้วเราสามารถซื้อได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจจะต้องพิจารณาราคารถยนต์ให้เหมาะสมกับเงินเดือนของเรา เก็บเงินดาวน์เอาไว้ก่อนให้ได้ซัก 10% ขึ้นไป มันก็จะช่วยให้หนี้สินมียอดน้อยลงกว่าเดิม ดอกเบี้ยก็ถูกลงไปด้วย หรือจะซื้อเป็นรถยนต์มือสองก็ได้เหมือนกัน
9.เลือกซื้ออะไรก่อนดีระหว่างบ้าน และรถยนต์
ต่อมาคือปัญหาโลกแตกสำหรับคนทำงาน ว่าระหว่างซื้อบ้านกับรถยนต์ อะไรควรซื้อก่อนกัน ความจริงแล้วมันไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าคุณระดับความสำคัญของสองสิ่งนี้ไว้ยังไง อย่างเช่น ถ้าคุณมีบ้านสำหรับอยู่อาศัยโดยที่ไม่ต้องเสียค่าเช่าอยู่แล้ว บ้านอาจยังไม่ใช่สิ่งที่มีความจำเป็น หากคุณทำงานในต่างจังหวัดที่ไม่มีขนส่งสาธารณะดีๆ รถยนต์อาจมีความจำเป็นมากกว่า นอกจากนี้เรายังสามารถใช้รถยนต์ในการทำงานเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่งได้ด้วย
แต่ในกรณีที่คุณเช่าบ้านอยู่ ค่าเช่าราคาสูงกว่าค่าผ่อน และคิดว่าในอนาคตคงไม่ย้ายไปไหนอีกแล้วอย่างแน่นอน อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีขนส่งสาธารณะค่อนข้างดี ไปไหนมาไหนสะดวกสบาย แต่ถ้ามีรถยนต์ก็จะต้องเผชิญกับปัญหารถติดเป็นชั่วโมง กรณีนี้สิ่งที่ควรมีก่อนก็น่าจะเป็นบ้านมากกว่ารถเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจจึงเป็นการลำดับความสำคัญว่าอะไรที่จำเป็นมากกว่า
10.วางแผนซื้อบ้านหลังแรกอย่างไรให้ปัง
ความจริงแล้วบ้านหลังแรกถือว่าเป็นบ้านที่การผ่อนจะสบายที่สุด หากคุณมีการผ่อนบ้านหลังที่ 2 ที่ 3 ตามมาในอนาคต แต่ใครเคยผ่านบ้านหลังแรกมาก่อนก็จะเข้าใจดีเลยว่าในช่วงแรกค่างวดที่เราผ่อนไป เงินต้นแทบไม่ลดเลย เช่น เราผ่อนบ้านเดือนละ 25,000 บาท เป็นดอกเบี้ยไปแล้ว 23,000 บาท เป็นเงินต้นแค่ 2,000 บาทเท่านั้น ช่วงแรกเหมือนกับผ่อนดอกเบี้ยยังไงอย่างนั้น ถึงแม้ว่าเราจะผ่อนทุกอย่างหมดทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยภายใน 30 ปี แต่เชื่อว่าทุกคนจะต้องสงสัยแน่นอนเลยว่าทำไมช่วงแรกเราถึงต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขนาดนั้น
ลองคิดในมุมกลับกัน หากคุณเป็นเจ้าหนี้ มีลูกหนี้มาขอยืมเงินหลักล้าน และใช้เวลาในการผ่อนชำระนานถึง 30 ปี แน่นอนว่าคุณคงไม่นอนกินดอกเบี้ยเดือนละพันสองพันในช่วงแรกอย่างแน่นอน ช่วงแรกธนาคารเลยต้องคิดดอกเบี้ยสูงกว่าเงินต้นค่อนข้างเยอะ เพื่อให้ตัวเองได้อะไรกลับไปบ้าง มันเป็นการป้องกันความเสี่ยง เพราะธนาคารก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าคุณจะเบี้ยวหนี้ หรือจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามันจะต้องกัดฟันกันสักหน่อย แต่ถ้าช่วงแรกที่มีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ค่อนข้างสูงแต่ตายตัว เพราะเป็นดอกเบี้ยคงที่ ถ้าเราโปะเงินเพิ่มเข้าไปมันก็จะไปเพิ่มในส่วนของเงินต้นแทน เงินต้นก็จะลดลงอย่างรวดเร็วทันใจ และช่วยให้เราปิดหนี้ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย พอครบ 3 ปีตามกำหนดสัญญา เราก็ค่อยไปรีไฟแนนซ์บ้านให้ดอกเบี้ยมันถูกลงกว่าเดิม ยิ่งหมดหนี้ไวขึ้นหนักไปอีก
สรุป 10 เรื่องการเงิน ที่ควรรู้ หลักๆ แล้วก็จะพูดถึงเรื่องการเก็บเงิน การลงทุน และการวางแผนซื้อของขนาดใหญ่อย่างบ้าน และรถยนต์ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกับดักทางการเงินของมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ทั้งสิ้น ถ้าเรารู้ตัวเร็ว มันก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผน และบริหารการเงินได้ดีขึ้น ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการเงินในอนาคตที่อายุเยอะแล้ว จะจัดการอะไรก็มีภาระค่าใช้จ่ายมากมายเต็มไปหมด ใครอยากมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง เราขอแนะนำให้เราเอาไปทำตามกันดู