การหาเงินที่แท้จริงแล้ว คือ การแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างออกไปเพื่อให้ได้เป็นตัวเงินกลับมา เช่น สินค้าหรือบริการ เมื่อคนเราต้องการ หาเงินเพิ่ม ก็ต้องใคร่ครวญตามลำดับจากความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ว่ามีสิ่งใดที่สามารถแลกเปลี่ยนออกไปเพื่อรับเป็นเงินกลับมาได้บ้าง
สำหรับผู้ที่ทำงานตามระบบเงินเดือนอาจจะยังไม่เห็นภาพเท่าใด แต่การที่คุณทำงานให้นายจ้างด้วยแรงงานและกำลังสมองนั้นก็เป็นการแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งนั่นเอง ถ้าคุณอยาก หาเงินเพิ่ม คุณก็ต้องหาอะไรมาแลกเปลี่ยนมากขึ้น ซึ่งมีวิธีการหาเงินอยู่หลายช่องทาง และมีความยากง่ายที่แตกต่างกันไป บางช่องทางก็มีผลกระทบหรือผลเสียในอนาคตมาก เช่น การกู้เงินนอกระบบ ซึ่งเป็นหนทางที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด
1. ทำงานให้มากขึ้น
หนทางที่ง่ายที่สุดคือการทำงานประจำที่คุณทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่มากขึ้น เมื่อผลงานดีก็มีโอกาสได้รับรายได้มากขึ้นในกรณีที่รับเป็นค่าคอมมิสชั่นบวกกับเงินเดือนประจำ หรือมีผลต่อโบนัสปลายปีจากผลกำไรของบริษัท ถ้าคุณมีความขยันเข้าตากรรมการหรือหัวหน้างานก็จะมีโอกาสได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งตามจังหวะและโอกาสด้วย วิธีนี้เหมาะกับกรณีที่ยังไม่ได้ต้องการเงินเร่งด่วนมากนัก แต่มองไปที่อนาคตระยะยาวมากกว่า งานประจำเป็นแหล่งที่ที่ดีและมั่นคงมากที่สุด ไม่ว่าคุณจะมีหนทางหาเงินทางอื่น ๆ อย่างไร อย่าได้ละทิ้งความรับผิดชอบและประสิทธิภาพในการทำงานประจำ
2. หางานทำนอกเวลางานประจำ
นอกจากการทำงานประจำแล้ว ถ้ามีเวลาเหลือก็ลองมองหาโอกาสหาเงินด้านอื่น ๆ ซึ่งถ้าจะให้ไปทำงานนอกเวลาในสถานที่อื่นอีกคงจะยาก เพราะเป็นการใช้ร่างกายมากเกินไป ลองมองหาโอกาสทางการค้าขายออนไลน์หรือตลาดนัดซึ่งสามารถหาของที่ตลาดกำลังต้องการมาขายตามทุนที่มี หรือรับจ้างทำงานตามความถนัดของตัวเอง เช่น รับซ่อมคอมพิวเตอร์ รับเขียนบทความ แปลภาษา หรือการตกแต่งภาพ ทำภาพกราฟิก บางคนมีฝีมือวาดภาพสติ๊กเกอร์ไลน์ขาย ทำ E-book ขาย เป็นต้น แต่การหางานออนไลน์ต้องระวังคำโฆษณาที่ดูเกินจริงด้วยเพราะโดยมากจะเข้าข่ายหลอกลวง ก่อนหางานออนไลน์จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ
3. นำของสะสมออกขาย
หนังสือ ภาพวาด ของสะสม ของใช้หลาย ๆ รายการที่เคยชื่นชอบ แต่อาจจะไม่ได้ชอบมากนักแล้ว สามารถนำไปประกาศขายได้ เพราะว่ามีผู้ที่กำลังมองหาหรือรับซื้ออยู่เสมอ ของบางอย่างแม้ชอบก็อาจจะต้องตัดใจขายไปในกรณีที่จำเป็นต้องหาเงินเพิ่มแบบเร่งด่วน การลงประกาศขายควรจะพิจารณาผู้จะซื้อให้ดี ทางที่ดีที่สุดคือการให้ผู้จะซื้อโอนเงินค่าสินค้ามาก่อนแล้วจึงส่งของไปให้ หรือนัดรับเงิน-ส่งของเป็นกรณีไปในสถานที่ที่ต่างฝ่ายต่างสะดวก เช่น บนสถานีรถไฟฟ้าหรือในห้างสรรพสินค้ากลางเมือง
4. ขอยืมจากพ่อและแม่
หลังจากพยายามด้วยตัวเองแล้ว แต่ถ้าต้องการเงินเพิ่มแบบเร่งด่วน การเอ่ยปากขอคุณพ่อคุณแม่ดูก็เป็นทางเลือกที่ดี แม้ว่าจะเป็นการรบกวนท่านก็อาจจะขอยืมชั่วคราวแล้วรีบหาเงินมาคืนท่านภายหลังให้เร็วที่สุด บางครอบครัวทำระบบการยืมให้เป็นระบบจะได้แยกให้ชัดเจน ให้ส่วนให้ ยืมส่วนยืม เพื่อฝึกลูกให้มีนิสัยการชำระเงินคืนให้ตรงเวลา พ่อแม่ไม่ได้หวังดอกเบี้ยอะไรอยู่แล้ว นับว่าเป็นแหล่งเงินกู้ใกล้ตัวมากที่สุด และควรขอเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
5. ขอยืมเงินจากญาติ
การยืมเงินจากญาติก็คล้ายกับการยืมเงินจากคุณพ่อคุณแม่แต่มีความรัดกุมมากกว่า ถ้ามีความจำเป็นอย่างมาก ญาติสนิทก็สามารถเป็นที่พึ่งพาได้ในยามที่คับขัน ควรทำสัญญาให้ชัดเจนจะดีกว่าสัญญาปากเปล่า เพื่อความสบายใจของผู้ให้ยืม แต่โดยมากถ้าสนิทกันจริง ๆ ก็อาจจะไม่ต้องมีหนังสือสัญญาให้มากความ เมื่อยืมมาแล้วก็ต้องพยายามชำระคืนตามกำหนดให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นเครดิตต่อตัวเราเองในอนาคต
6. ขอยืมเงินจากเพื่อน
การยืมเงินจากเพื่อนก็เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ต้องระวังการเสียเพื่อน โดยมากเพื่อนเองก็จะไม่มากความอยู่แล้ว ถ้าเขาสะดวกใจและเต็มใจเราก็ต้องขอบคุณเขาและคืนเงินตามกำหนด อย่าให้เพื่อนต้องมาทวง โดยมากเพื่อนที่ให้ยืมกลับเป็นฝ่ายกระอักกระอ่วนใจที่จะทวงคืน ผู้ยืมจึงไม่ควรทำให้เพื่อนเกิดอาการแบบนั้น ต้องตั้งใจว่าจะต้องคืนเงินเพื่อนให้ได้ตามที่สัญญากันไว้ ไม่อย่างนั้นแล้วคุณจะเสียเพื่อนได้และเสียชื่อเสียงในแวดวงสังคมอีกด้วย ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง
7. นำของไปจำนำ
ถ้าทางเลือกอื่นนั้นเป็นไปได้ยาก ขอให้ลองมองดูว่าคุณพอจะมีของไปจำนำได้หรือไม่ เช่น สร้อยทองคำ แหวนทองคำ โรงรับจำนำเป็นทางเลือกที่ดีเพราะว่ามีระบบการให้เงินและจ่ายดอกเบี้ยชัดเจน คุณสามารถรักษาของที่นำไปจำนำไว้ได้โดยการส่งดอกเบี้ยตามกำหนด ถ้าส่งดอกเบี้ยไม่ทันกำหนด ของก็จะหลุดจำนำไป เมื่อคุณมีเงินสดพอสำหรับจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่นับมาจากการส่งดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ก็สามารถไปไถ่ถอนของจำนำกลับคืนมาได้ โรงรับจำนำมีทั้งของรัฐบาล องค์กรท้องถิ่น เช่น กทม. และโรงรับจำนำเอกชน
8. สินเชื่อหรือการกดเงินสดจากบัตรเครดิต
การขอสินเชื่อเงินสดส่วนบุคคลหรือการกดเงินสดจากบัตรเครดิตนั้นเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้เงินสดมาใช้จ่ายก่อน แม้ว่าจะกดได้ง่าย เพียงมีรหัสกดเงินสดก็กดเงินตามวงเงินที่ใช้ได้ออกมาได้ทันทีโดยเสียเพียงค่าธรรมเนียมการกดเงินสด แต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นคือดอกเบี้ยในกรณีที่คุณไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันตามกำหนด ดอกเบี้ยจากการกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตถือว่าสูงมาก อาจจะถึงร้อยละ 28 ต่อปี แหล่งเงินกู้นี้จึงต้องพิจารณาให้รอบด้านและมั่นใจว่าจะหาเงินมาชำระได้ทัน มีคนจำนวนมากที่สุดท้ายต้องเป็นหนี้บัตรเครดิตจากการกดเงินสดมาใช้ก่อนและไม่สามารถหาคืนได้จนกลายเป็นคดีที่ศาลแพ่งก็มาก
9. นำทรัพย์สินไปจำนอง
มีไม่กี่เหตุผลที่จะนำหลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน หรือโฉนดที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้างไปจำนอง นั่นก็คือจำนองเพื่อซื้อตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเองหรือเพื่อลงทุนในธุรกิจสำคัญเท่านั้น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมากเพราะหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ในที่สุดก็จะถูกบังคับคดียึดบ้านยึดที่ดินได้ สร้างความเดือดร้อนอย่างมากเพราะว่าที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ทางเลือกนี้จึงต้องไตร่ตรองให้มาก ๆ และประเมินถึงความสามารถในการชำระหนี้คืน
10. การกู้เงินนอกระบบ
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถหาหนทางอื่นใดได้นอกจากการกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่แนะนำให้ไปกู้หนี้นอกระบบเพราะว่าไม่อยู่ในการควบคุมดูแลของ ธปท. เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นก็ไม่มีกฎหมายช่วยรองรับ เช่น วิธีการทวงหนี้ ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่าหนี้นอกระบบนั้นนอกจากดอกเบี้ยแพงแล้วยังมีวิธีการทวงหนี้ที่อาจจะเป็นการข่มขู่ทั้งวาจาและการใช้ความรุนแรงต่อร่างกายและทรัพย์สิน หรือการทำให้ลูกหนี้ได้รับความอับอายต่อสังคม ดังนั้นจึงไม่ควรกู้หนี้นอกระบบ
การหาเงินนั้นแม้มีหลายวิธี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกวิธีการ ที่ต้องเตือนให้ระวังมากที่สุดคือต้องไม่กู้ยืมเงินนอกระบบเพราะว่าดอกเบี้ยแพงมากไม่คุ้มจำนวนเงินต้นและเสี่ยงต่อความปลอดภัย สำหรับการนำเงินไปลงทุนธุรกิจเพื่อหารายได้เสริมก็ต้องประเมินความเสี่ยงเช่นกัน เพราะว่ามีโอกาสได้ทั้งกำไรหรืออาจจะขาดทุนก็ได้ ที่เป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดคือการพัฒนาความสามารถของตนเองในการทำงานประจำและหมั่นแบ่งเงินเก็บออมและลงทุนในช่องทางต่าง ๆ ตามสมควร ก็จะทำให้คุณหาเงินได้มากขึ้นและเงินที่หามาได้ก็มีโอกาสได้รับดอกผลจากการลงทุนได้มากขึ้นไปพร้อมกัน