การดูหนัง อาจเป็นกิจกรรมนันทนาการอย่างหนึ่งที่ใครหลาย ๆ คน นิยมทำกัน แต่จะมีสักกี่คน ที่รู้ว่า การดูหนังในบ้างครั้ง ก็ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเราได้อย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการลงทุน การเงิน
พอท่านผู้อ่านหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเริ่มงงกันแล้วใช่ไหมครับ ว่าการดูหนังมันจะไปเกี่ยวข้องกับการเงินได้ยังไง ห่างกันตั้งหลายศอก หลายวาต้องขอบอกก่อนเลยว่า อันที่จริงแล้ว ยังมีหนังอยู่หลายเรื่องด้วยกันที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเงิน การลงทุนและสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ วางแผนหรือคาดการณ์เกี่ยวกับการเงินและการลงทุนได้
ซึ่งข้อมูลหนังที่จะนำมาพิจารณาเพื่อเป็นแนวคิดการลงทุนมาจากกระทู้ในเว็บไซต์ Pantip.com โดยผู้ใช้นามว่า Oracleman The Prince Of QH ชื่อกระทู้ “6 หนังน่าดูเกี่ยวกับวิกฤติการเงิน Financial Crisis” แต่สำหรับในบทความนี้ เราจะขอยกมาเพียงบางเรื่องที่ให้ความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการเงิน การลงทุนอย่างชัดเจนเท่านั้น
Margin Call
เริ่มจากภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Margin Call หนังฝรั่งที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2554 เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครที่ยังไม่รู้จักหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนในวงการนักลงทุนทั้งหลาย เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการแสดงให้เห็นถึงวิกฤติการทางการเงินในช่วงปี พ.ศ. 2551 หรือ ค.ศ. 2008 อันมีจุดเริ่มต้นมาจากการล่มสลายของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง คือ บริษัทวาณิชธนกิจ ส่งผลให้ระบบการเงินเกิดการล่มสลายราวกับโดมิโน่ที่เมื่อชิ้นหนึ่งล้มลง มันก็ไปผลักให้ชิ้นต่อ ๆ ไป ที่ถูกเรียงไว้ล้มครืนตามมาด้วย ซึ่งการเดินเรื่องของหนังเรื่องนี้เป็นไปอย่างเข้มข้นและเคร่งเครียดอยู่พอสมควร แต่ก็มีเสียงวิจารณ์จากผู้ที่เคยดูหนังเรื่องนี้ว่า แม้จะเครียดแต่ก็สนุกต้องติดตามตอนต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่เหมือนกับหนังบางเรื่องที่เครียดเกินไปจนต้องลุกหนีออกมาจากโรงหรือปิดแผ่นไม่ดูต่อกันเลยทีเดียว
ภาพยนตร์เรื่อง Margin Call นี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการล่มสลายทางเศรษฐกิจได้ดี ว่าเมื่อเวลานั้นมาถึงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมถึงแสดงวิธีการแก้ปัญหาระหว่างสภาวะเศรษฐกิจเป็นพิษ จากการกระทำของตัวละคร อย่างเช่น การเรียกประชุมผู้บริหารตำแหน่งใหญ่ CEO กันแบบทั้งวันทั้งคืน แน่นอน ว่าถ้าเป็นผู้ลงทุนรายย่อย ๆ อาจจะไม่สามารถสัมผัสกับความเครียดในการแก้ปัญหาได้อย่างเด่นชัด แล้วจะเกิดคำถามว่า “ถ้าอย่างนั้น หนังเรื่องนี้ให้อะไรเราบ้างละ” คงต้องขอตอบว่า หนังเรื่องนี้สอนให้เรารู้ ว่าการลงทุนใด ๆ ก็ตาม มีความเสี่ยงทั้งสิ้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ประเมินความเสี่ยง ภาวะทางเศรษฐกิจในขณะนั้นให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะหากลงทุนไปแล้ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจเกิดพังพินาศ เท่ากับว่าเงินที่มีอยู่ต้องสูญเปล่าไป อย่างไม่มีวันจะเอากลับมาใหม่ได้เลย
Too Big To Fail
ภาพยนตร์เรื่องต่อมาที่อยากจะขอหยิบยกมา ก็คือ Too Big To Fail ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2554 เช่นกัน หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะคล้ายกับ Margin Call อยู่พอสมควร แต่จะเน้นรายละเอียดไปที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่กระทำต่อองค์กรทางการเงินต่าง ๆ ที่อยู่ในสภาพง่อนแง่น ทำท่าจะล่มสลายเต็มทน อย่างเช่น การนำเงินทุนรัฐซื้อหนี้เน่าหรือเพิ่มเม็ดเงินรัฐเข้าไปในธนาคารเอกชน เป็นต้น
จุดที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่แนวคิดของคนในเรื่องที่เกิดการแตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของรัฐบาล โดยมองว่าเป็นการ “อุ้ม” ไม่ให้สภาพทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งแย่หนักลงไปอีก กับอีกฝ่ายหนึ่งที่มองว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเป็นการไป “ยึด” พื้นที่ทางเศรษฐกิจจนทำให้เอกชนไม่สามารถดำเนินการทางธุรกิจ ทางการเงินได้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีการถกเถียงกันอีกด้วยว่า การทำเช่นนั้นของรัฐบาลจะมีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ถามว่าส่วนนี้จะมาช่วยให้เกิดแนวคิดอะไรได้บ้าง แน่นอนว่าแนวคิดการเงินที่จะเกิดขึ้น ก็คือ การให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้จะมีข้อดี ข้อเสีย หรือไม่ อย่างไร การมีแนวคิดเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถรับมือและยอมรับได้ หากเกิดปัญหาทางด้านการเงิน แล้วรัฐบาลเข้ามาช่วยและทำให้รู้เท่าทัน หากพบว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลเมื่อรัฐบาลเข้ามา “อุ้ม” ได้อย่างทันท่วงที
Inside Job
ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงในบทความนี้ ก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Inside Job ฉายไปเมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ว่าด้วยเรื่องพิษเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 เหมือนกัน แต่จะเน้นไปที่การเผยให้เห็นสาเหตุมากกว่า ว่าทำไมจึงเกิดเหตุเศรษฐกิจล่มสลายดังกล่าว โดยสาเหตุที่ว่านั้นก็มาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาดของใครหลาย ๆ คน และไม่เลือกที่จะแก้ปัญหา แต่กลับใช้วิธีกวาดปัญหาเหล่านั้นไปซุกไว้ แล้วเลือกแต่ส่วนที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเพียงอย่างเดียว จนเมื่อระบบภายในเกิดการเน่าเฟะ สุดท้ายก็จบลงด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่ล่มสลาย รวมถึงยังแสดงให้เห็นการปัดความรับผิดชอบของเหล่านักการเมืองที่เห็นแก่ตัวในขณะนั้นด้วย
เรียกว่าหนังเรื่องนี้ให้ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการจะนำเสนอได้ดีมากและสามารถนำมาเป็นแนวคิดการเงิน การลงทุน ว่าหากจะทำอะไร ต้องทำให้รัดกุม มุ่งประโยชน์ทั้งส่วนตนและคิดถึงผลกระทบต่อส่วนรวมด้วย อย่าเอาแต่กอบโกยเพียงอย่างเดียว เพราะจุดจบก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่หนังต้องการนำเสนอมากนัก
ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะขอเอามานำเสนอในบทความนี้เท่านั้น อันที่จริงยังมีหนังที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงิน การลงทุนอีกมากมาย ผู้ใดที่สนใจ สามารถค้นหาชื่อหนังผ่านทาง Search Engine แล้วเข้าไปดูแบบเต็มเรื่องได้เลย หรือถ้าไม่รู้ว่านอกเหนือจากนี้แล้วยังมีหนังเรื่องอะไรอีกบ้าง สามารถค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดว่า “หนัง” และ “การเงิน” ได้เลย