เคยคิดไหมคะว่าวันหนึ่งถ้าเรามีรายได้เป็นหลักแสนเราจะรู้สึกอย่างไร บางคนอาจรู้สึกดีใจ บางคนอาจรู้สึกภูมิใจ หรือบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรก็ได้ เพราะกว่าจะถึงวันที่มีรายได้เป็นหลักแสนได้ก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะ เรียกได้ว่าค่อย ๆ ไต่เต้ามา ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะเปลี่ยนจากมีรายได้แค่ไม่กี่หมื่นมาเป็นหลักแสนได้ภายในพริบตา
เราลองไปฟังประสบการณ์ของคน ๆ หนึ่งที่เมื่อถึงวันที่เขามีรายได้หลักแสน ไม่ใช่หลักแสนธรรมดา แต่มีรายได้มากถึง 300,000 บาท เขาได้มาแชร์ความรู้สึกของตัวเอง รวมไปถึงจุดที่เขามองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่าผิดพลาด นำมาบอกต่อไว้ในกระทู้นี้ https://pantip.com/topic/35752724 เนื้อหาในกระทู้ค่อนข้างยาวหน่อย เจ้าของกระทู้น่ารักที่สละเวลามาพิมพ์เรื่องของตัวเองให้คนอื่นได้อ่านกัน เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ให้แง่คิดที่น่าสนใจทีเดียวค่ะ
จขกท ก่อนที่จะมีวันนี้ เขาเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้เริ่มต้นแค่ 8,000 บาทเท่านั้น ชีวิตเคยผ่านการตกงาน มีรายได้ไม่แน่นอน และได้พยายามต่อสู้จนถึงวันที่ชีวิตพลิกกลับมามีรายได้ 300,000 อย่างในปัจจุบันได้ แง่คิดที่ จขกท ให้ไว้สรุปได้ดังนี้ค่ะ
- รายได้หลักแสนไม่ได้มากอย่างที่คิด จขกท ตอนมีรายได้ 300,000 เขาคิดทันทีว่าสบายแล้ว ซึ่งไม่จริงเลย รายได้ไม่ได้มากอย่างที่คิด เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้เงินสามแสนดูเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ารายได้นี้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ และเราสามารถสร้างรายได้ระดับนี้ได้นานแค่ไหน
- รายได้มากทำให้ใช้จ่ายมาก จขกท ยอมรับว่าเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สมัยตอนมีรายได้ไม่มาก ค่าใช้จ่ายของทั้งครอบครัวต่อเดือนอยู่ที่หลักหมื่น แต่พอมีรายได้ 300,000 ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มเป็นหลักแสนเหมือนกัน และส่วนใหญ่ก็เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการกินอยู่ทั้งนั้น กลายเป็นว่าสัดส่วนในการออมเงินน้อยลงมาก ที่สำคัญพอรายได้เพิ่มเร็ว ก็รู้สึกอยากเปลี่ยนรถให้สมกับฐานะ จึงมีการเปลี่ยนรถหลายครั้ง ขายรถคันเก่าซื้อคันใหม่มาใช้ ทำให้ขาดทุนติดลบไปหลายหน
- ลงทุนในสิ่งที่ไม่ถนัดทำให้เสียเวลา จขกท แชร์ประสบการณ์ในการลงทุนที่ผ่านมาไว้สองเรื่อง คือการลงทุนซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า และการออมในหุ้น ซึ่งเขามองว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ อย่างการซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่าจะคุ้มค่าหากลงทุนจำนวนมาก ๆ ส่วน จขกท ซื้อแค่ที่เดียวทุกวันนี้จึงไม่รู้สึกว่ามีกำไร แถมยังยุ่งยากต้องคอยดูแล ส่วนเรื่องออมหุ้นนั้น จขกท ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย แต่เห็นเพื่อน ๆ ลงทุนก็ลงตาม แล้วก็ใช้เวลาศึกษาและติดตามหุ้นอย่างเต็มเวลา สุดท้ายก็รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ พอร์ตหุ้นที่เคยเป็นบวกถึงเวลาก็กลับมาขาดทุน แล้วก็คงตัว สลับกันไปมาแบบนี้ จขกท จึงรู้สึกว่าเสียเวลามาก หากเขาเอาเวลาไปตั้งใจทำงานอย่างอื่นก็น่าจะได้อะไรที่ดีกว่านี้ ทุกวันนี้จึงคิดได้ว่าเราควรเลือกลงทุนในสิ่งที่เรามีความถนัด มีทักษะ หรือเชี่ยวชาญจะดีที่สุด
- รายได้มากซื้อของเร็วทำให้ผิดพลาด จขกท เล่าว่าเพราะรายได้มากทำให้เมื่อซื้อของไม่ตัดสินใจให้ดี ใจเร็วด่วนได้ บางครั้งก็เกิดความผิดพลาด อย่างซื้อคอมพิวเตอร์ใช้เวลาตัดสินใจแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อตัดสินใจเร็วสเปคของเครื่องจึงพลาด ใช้งานไม่ได้อย่างที่คิดไว้ ต้องเอาไปแบ่งให้พี่น้องใช้ การจัดซื้อของมาใช้ในธุรกิจช่วงแรกจ่ายแพงตลอด เพราะต้องการให้เร็ว มาตอนหลังมีการเปรียบเทียบราคากับเจ้าอื่น ๆ ถึงได้รู้ว่าที่ซื้อมาตลอดนั้นแพงมากมหาศาล
- งานประจำเปรียบเหมือนต้นมะม่วงใหญ่ จขกท ยังได้ให้แง่คิดสำหรับพนักงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือนไว้ด้วย เพราะเขาเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่เคยตกงานมาก่อน เคยเป็นทั้ง รปภ. และคนขับรถแท็กซี่ เก็บเงินเกือบสองปีก็ยังได้แค่แปดพัน โดยเขาบอกว่างานประจำก็เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ออกดอกออกผลให้เราเก็บกินได้นาน การลาออกจากงานประจำก็เหมือนกับการโค่นต้นมะม่วงทิ้ง ถ้าเรายังไม่ได้ปลูกต้นไม้อื่น ๆ ไว้รองรับ ไม่ได้มีงานอื่นที่มีรายได้เพียงพอที่จะยังชีพ เราก็ต้องดูแลต้นมะม่วงต้นนี้ให้ดีที่สุดก่อน
- หลีกเลี่ยงการกู้เงินหากไม่จำเป็น จขกท เป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องการกู้เงิน ตอนที่เขาขับแท็กซี่แล้วรถเกิดชน เขาเลือกที่จะบากหน้าไปหยิบยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาคืนเถ้าแก่แทนการผ่อนจ่ายเดือนละ 500 บาท ซึ่งไม่รู้ว่าต้องขับแท็กซี่ผ่อนจ่ายไปอีกกี่ปีถึงจะหมด ช่วงที่ทำงานเกี่ยวกับเงินกู้ทำให้เขาเห็นวงจรชีวิตของคนเป็นหนี้ เขาคิดว่าถ้ากู้เงินมาใช้ ชีวิตเขาก็คงไม่ต่างอะไรกับคนขับแท็กซี่ที่ติดหนี้เถ้าแก่แล้วต้องผ่อนใช้เงินจนกว่าจะครบค่าซ่อม เขาเคยหนีจากสภาพนั้นมาแล้ว จึงไม่คิดอยากกลับไปอยู่ในสภาพนั้นอีกแน่ ๆ ชีวิตคนที่ติดอยู่ในวงจรหนี้ทำให้ไม่เห็นอนาคต บั้นปลายชีวิตที่มีทรัพย์สินน้อยแต่มีหนี้สินเยอะคงจบไม่สวยแน่
สุดท้ายที่ จขกท สรุปไว้ก็คือเรื่องของจิตใจที่สำคัญมากที่เราต้องรู้จักปรับ กว่าจะมีรายได้มากทุกคนย่อมต้องฝ่าฟัน ต้องผ่านความลำบาก ทั้งงานที่หนัก ทั้งเรื่องบริหารลูกน้องและดูแลลูกค้า จนถึงจุดหนึ่งที่รายได้มากพอ ก็ต้องทำระบบให้ดีให้สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้กิจการของเรายั่งยืนได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักปล่อยวาง ต้องเข้าใจถึงวัฏจักรของธุรกิจทุกอย่างว่ามีทั้งขาขึ้นและขาลง หากธุรกิจที่เราทำอยู่วันหนึ่งไม่เป็นไปอย่างที่คิด ถึงวันต้องล้มเลิกไป ก็ให้เชื่อมั่นว่าเราสามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลา อย่าไปยึดติดแล้วชีวิตเราก็จะมีความสุข
เรื่องของ จขกท ทำให้เห็นภาพว่ารายได้ที่มากขึ้นทำให้ความคิด จิตใจ การตัดสินใจ และชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งบางครั้งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอาจไม่ได้สร้างความสุขแบบยั่งยืนให้กับเราก็ได้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการหารายได้ให้พอเลี้ยงชีพให้อยู่ดีมีสุขได้ก็คือเรื่องของจิตใจที่เราต้องมองหาแก่นแท้ของชีวิตที่สร้างความสุขให้เจอ