ธุรกิจการเงิน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือประชาชนทั่วไปควรรู้จักไว้บ้างบางส่วน เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวอย่างยิ่ง หากสนใจการบริหารและการลงทุนเงินในกระเป๋าของคุณ และเข้าใจกลุ่มธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินในประเทศไทยทั้งแบบถูกต้องตามกฎหมายหรือตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พุทธศักราช 2551 และแบบผิดกฎหมายที่ควรหลีกเลี่ยงหากไม่อยากมีปัญหา
เห็นอย่างนี้แล้วเรามารู้จัก 5สิ่งควรรู้ หากสนใจเรื่อง ธุรกิจการเงิน กันเลยดีกว่า
1. กลุ่มธุรกิจสถาบันทางการเงิน
กลุ่มธุรกิจการเงินนี้เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดประเภทหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเกี่ยวกับการรับฝากเงินและการให้กู้ยืมแก่ประชาชน เรามาดูกันว่ากลุ่มธุรกิจสถาบันทางการเงินแบ่งออกเป็นกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร
- ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หมายถึง กลุ่มธุรกิจการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจรับฝากเงินและรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นทางใดทางหนึ่งหรือหลายทาง ปัจจุบันในประเทศไทยมีทั้งหมด 14 ธนาคาร
- ธุรกิจบริษัทเงินทุน หมายถึง กลุ่มธุรกิจการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน ซึ่งรับฝากเงินและรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ แต่ไม่ใช่การรับฝากเงินหรือรับเงินไว้ในบัญชีที่จะเบิกถอนโดยใช้เช็ค เช่น ธุรกิจเงินทุนเพื่อเคหะ ธุรกิจเงินทุนเพื่อการศึกษา เป็นต้น
- ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หมายถึง กลุ่มธุรกิจการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่จะจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และนำเงินนั้นมาใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่งดังต่อไปนี้
- ให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์
- รับซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายฝาก
2. กลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน (Non-bank)
เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินโดยทั่วไปที่ไม่ใช่ทั้งธนาคาร ธุรกิจบริษัทเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยมากแล้วจะมีการบริการที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างสถาบันการเงินอย่างเข้มข้น เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ซึ่งกลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงินนั้น ได้เข้ามามีบทบาทในช่วงเศรษฐกิจไทยติดต่ำปี40 ทำให้ธนาคารแต่ละธนาคารเกิดวิกฤติ ไม่สามารถให้กู้ยืมเงินได้ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประสบปัญหาไม่มีเงินทุนประกอบกิจการ เพื่อความอยู่รอดจึงจำต้องมองหาเงินทุนจากที่อื่น กลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงินจึงแจ้งเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจนั้น โดยกลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงินที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจการให้เช่าแบบleasing ธุรกิจFactoring ธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจการให้เช่าซื้อ
3. กลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์
หมายถึง กลุ่มธุรกิจการเงินที่ได้จดทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พุทธศักราช 2541เพื่อทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินต่างๆที่ยังให้บริการอยู่หรือปิดบริการไปแล้ว โดยกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์มีหน้าที่รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมถึงการนำหลักประกันของสินทรัพย์นั้นไปบริหารให้เกิดประโยชน์ เช่น ฟื้นฟูลูกหนี้ หรือโอนต่อไป นอกจากนั้นยังทำการจัดหาเงินทุนโดยกู้ยืมทั้งในและนอกประเทศ หรือออกหลักทรัพย์เฉพาะ เช่น หุ้นหรือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตราสารหนี้อื่นที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้การจัดหาทุนไม่รวมถึงการรับฝากเงินจากประชาชน จัดทำบัญชีและการจัดชั้นกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ปัจจุบันกุล่มบริษัทบริหารสินทรัพย์มีด้วยกัน 35 แห่ง
4. กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ
หมายถึง กลุ่มบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ที่เป็นธนาคารแม่ในต่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งถือหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมไม่ต่ำกว่าร้อยละ95 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น ในประเทศไทยได้แก่ ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) ธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
5. กลุ่มธุรกิจการเงินผิดกฎหมาย
มาถึงกลุ่มธุรกิจการเงินกลุ่มสุดท้ายที่ควรรู้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของคนในสังคมเสียหาย เช่น ธุรกิจปล่อยเงินกู้นอกระบบ ธุรกิจการเงินประเภทนี้ จะอาศัยกลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถดำเนินการกู้ในสถาบันการเงินถูกกฎหมายได้ โดยอาจฉกโอกาสเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด(ร้อยละ1.5ต่อปี) และเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ทุกเดือน ธุรกิจผิดกฎหมายอีกประเภทหนึ่งอาจทำเป็นขบวนการ โดยแฝงการต้มตุ๋นหลอกลวงจึงทำให้ประชาชนหลงเชื่อได้ง่าย เพราะธุรกิจการเงินประเภทนี้มักให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงอย่างรวดเร็ว โดยผู้หลงเชื่ออาจได้รับผลตอบแทนจากการชักชวนผู้อื่นเข้าให้ร่วมองค์กร หรือค่าสินค้าที่สมาชิกต้องนำไปขายต่อ แต่อาจมีค่าสมัครเข้าร่วมลงทุนกับองค์กร ซึ่งเงินจำนวนนี้แหละที่นำไปหมุนเวียนภายในองค์กรต่อไป ตัวอย่างธุรกิจการเงินประเภทนี้ได้แก่ แชร์ลูกโซ่ ธุรกิจขายตรงบางประเภท
เห็นถึงประโยชน์ของการสนใจเรื่องธุรกิจการเงินรึยังเอ่ย มันอาจดูเยอะและยุ่งยากสำหรับคนทั่วไป แต่เรื่องแบบนี้หากเราไม่ศึกษาไว้บ้าง เวลาทำธุรการทางการเงินอาจต้องยืนงงเป็นไก่ตาแตกแน่
สำหรับผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้ไว้ทั้ง 5ข้อเลย เผื่อเวลาที่ต้องการเงินทุนจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากธนาคาร เราจะได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจเรา และควรเลือกกลุ่มธุรกิจการเงินที่ถูกกฎหมายด้วย ถ้าไม่อยากเสียใจภายหลัง