เมื่อพูดถึงค่าใช้จ่ายในบ้านแล้วก็จะนึกถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าอาหาร ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าซักรีด ค่าโทรศัพท์ ค่าทำความสะอาด ค่าล้างรถ ฯลฯ เป็นค่าใช้จ่ายที่ดูเหมือนจะจุกจิก จิปาถะ เป็นค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องหยิบเงินจ่ายออกไปทุกวัน แต่ค่าใช้จ่ายจิปาถะเหล่านี้แหละที่เมื่อรวมกันออกมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนแล้วกลับไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจุกจิกเหมือนที่เราคิดไว้เลย
โดยเฉพาะค่าอาหารที่หากดูเวลาที่เราจ่ายเป็นมื้อ ๆ ออกไปดูแล้วไม่เยอะ หรืออาจเยอะเป็นบางมื้อ แต่เมื่อรวมคิดเป็นรายเดือนขึ้นมาเมื่อไหร่ บางคนเห็นยอดแล้วจะตกใจว่าเดือนหนึ่งเรากินอะไรกันมากมาย บางครอบครัวแค่เฉพาะค่าอาหารเดือนหนึ่งเป็นหมื่น ๆ บาทเลยก็มี
ค่าอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เราต้องจ่ายมากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพราะเราต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น บางทีมีมื้ออาหารว่างเพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งหากในครอบครัวมีคนเยอะ ค่าอาหารก็จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ เทียบกับค่าไฟที่ถึงจะใช้เปลืองขนาดไหนบางทีเดือนหนึ่งก็ตกไม่กี่พันบาท หรือค่าน้ำที่จะใช้เปลืองอย่างไรก็ยังอยู่ที่หลักร้อยบาทเท่านั้น
เมื่อคิดที่จะวางแผนการเงินโดยการประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว การเลือกประหยัดค่าอาหารจึงถือเป็นความคิดที่ถูกต้องมากที่สุด เพราะอย่างที่บอกว่าค่าอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด ที่หากเรามีเทคนิคในการประหยัดได้แล้วล่ะก็ น่าจะเหลือเงินเก็บได้มากโขอยู่ทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม : บริหารรายรับ-รายจ่าย ในครอบครัวใน 1 เดือน
เรามาดูทริคการประหยัดค่าอาหารสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คนกันดีกว่าค่ะ ว่ามีทริคดีดีอะไรบ้างที่เราจะนำไปใช้ได้
- เลือกทำอาหารทานเองที่บ้าน แม้จะดูเหมือนไม่ใช่เทคนิคหรือทริคอะไรที่แปลกนักเห็นมีคนแนะนำกันออกจะบ่อยไปอยู่แล้วกับการทำอาหารทานเองที่บ้าน แต่มันเป็นวิธีที่จะช่วยประหยัดอาหารได้มากที่สุดจริง ๆ ค่ะ คนที่ทำอาหารทานเองทุกคนจะเข้าใจดี ยิ่งบ้านที่มีจำนวนคนเยอะอย่าง 4-5 คนขึ้นไปนี่ จะยิ่งประหยัดได้มากหากทำอาหารทานกันเอง เพราะเมื่อทำอาหารเองส่วนใหญ่แล้วปริมาณที่ทำจะมากกว่าเมื่อเราไปทานหรือซื้อจากข้างนอก การปรุงอาหารก็ทำทีเดียว หากเลือกทำเยอะหน่อยไหน ๆ ซื้อของมาแล้ว ก็ซื้อเพิ่มอีกนิด เก็บไว้ทานได้หลายมื้อด้วย อย่างอาหารประเภทต้ม ๆ เช่น ต้มจับฉ่าย ต้มไข่พะโล้ แกงจืดกระดูกหมู สามารถต้มหม้อใหญ่ทิ้งไว้ได้ แล้วเลือกผัดอาหารจานหลักเพิ่มอีกแค่ 1-2 อย่างก็รอดไปอีกมื้อแล้วค่ะ ที่สำคัญนอกจากประหยัดแล้วอาหารที่ทำเองยังสะอาดและอร่อยกว่าอีกด้วยนะ
- เลือกซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหารตามฤดูกาล การเลือกซื้อผัก ผลไม้ตามฤดูกาลนอกจากจะได้ผัก ผลไม้ที่สดใหม่ น่าทาน มีให้เลือกมากแล้ว ราคายังไม่แพงอีกด้วย นอกจากควรซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาลแล้ว การซื้อของในตลาดสดจะทำให้ได้ของดีราคาถูกกว่าการเลือกซื้อของในซุปเปอร์มาร์เกตอีกด้วย อย่างบ้านที่มีสมาชิก 5 คนเมื่อเลือกซื้อผลไม้ทาน ควรเลือกซื้อที่ตลาดที่มีขายเป็นกิโลจะประหยัดมากกว่าซื้อตามรถเข็นขายผลไม้
- วางแผนคิดเมนูอาหารไว้ล่วงหน้า การวางแผนไว้ล่วงหน้าจะทำให้เรากำหนดวัตถุดิบที่เราต้องไปซื้อที่ตลาดได้ บางอย่างซื้อทีเดียวในปริมาณมากจะได้ราคาที่ถูกกว่า อย่างพ่อค้าแม่ค้าขายผักจะลดราคาให้เมื่อเราซื้อผักในปริมาณมาก แต่ถ้าคิดอะไรออกก็ไปซื้อทีแบบนี้นอกจากจะไม่ได้ส่วนลดแล้วยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มอีกด้วย อย่างเมนูผัดผักหากเรากำหนดเลยว่าวันนี้เราจะผัดผักรวมมื้อกลางวัน มื้อเย็นเราจะผัดผักบุ้ง ส่วนพรุ่งนี้กลางวันเราจะผัดผัดคะน้า ตอนเย็นเราจะผัดบร็อคโคลี่ เราก็ไปตลาดซื้อผักมาทีเดียวสำหรับ 2 วัน 4-5 มื้อจะประหยัดได้มากกว่า และไม่ต้องออกไปตลาดหลายรอบด้วย
- เลือกร้านที่มีส่วนลดหากต้องทานอาหารนอกบ้าน ทำอาหารทานเองที่บ้านทุกวันบางทีก็เบื่อ ในหนึ่งสัปดาห์เราอาจกำหนดไว้ว่าเราจะออกไปทานข้าวนอกบ้านกัน 2-3 ครั้ง แต่ละมื้อนอกบ้านนอกจากจะเลือกประเภทของอาหารที่ทุกคนในครอบครัวอยากทานร่วมกันแล้ว ควรเลือกร้านอาหารที่มีส่วนลด อาจจะจากบัตรเครดิตที่เราถืออยู่ หรือเป็นส่วนลดจากร้านค้าเอง 5% หรือ 10% ก็ช่วยประหยัดไปได้เยอะนะคะ หากเป็นมื้อพิเศษที่เลือกทานบุฟเฟต์โรงแรมก็เลือกแบบที่มีส่วนลดแบบ ไป 4 จ่าย 2 แบบนี้ ไป 5 คนก็จ่ายแค่ 3 คนยังไงก็คุ้มค่ะ
- ซื้ออาหารในซุปเปอร์ตอนค่ำ ๆ มื้อเช้าของบางครอบครัวอาจเป็นอาหารง่าย ๆ อย่างเช่น ขนมปัง แซนวิช กับนมหรือกาแฟ ถ้าทำเองได้ก็ประหยัดเลยค่ะ แซนวิชแฮม แซนวิชทูน่า แซนวิชไข่ต้ม ทำไม่ยากเลย หรือหากอยากทานอะไรที่ทำเองไม่ได้ ให้ลองไปเดินซุปเปอร์มาร์เกตช่วงหัวค่ำก่อนที่เขาจะปิด อาหารจำพวกขนมปังหรืออาหารสำเร็จรูปบางอย่างที่ทำไว้ตั้งแต่เช้าเขาจะเอามาขายลดราคา เพราะไม่อยากเก็บไว้ถึงวันพรุ่งนี้ นี่ถือเป็นช่วงนาทีทองของเรา อาหารในซุปเปอร์ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยทำค้างอยู่แล้ว ที่เห็นนั่นก็เป็นที่ทำตอนเช้าอยู่ในห้องแอร์ตลอด อย่างไรก็ไม่เสียแน่นอนค่ะ หากเราเลือกไปซื้ออาหารในช่วงเวลาที่ว่าจะช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้มาก บางทีประหยัดไปถึง 50% เลยก็มีนะ
- กำหนดงบประมาณในแต่ละมื้อไว้คร่าว ๆ วิธีนี้จะช่วยให้ประหยัดค่าอาหารได้ดีกว่า อย่างถ้าบ้านเรามี 5 คน เราอาจกำหนดไว้ว่าค่าอาหารในแต่ละมื้อของบ้านจะไม่เกิน 250 บาท สำหรับ 5 คน คนละ 50 บาท ในกรณีที่ทำอาหารทานเองที่บ้าน และกำหนดค่าอาหารเวลาไปทานนอกบ้านไว้ที่หัวละไม่เกิน 250 บาท มื้อหนึ่งเราก็จะสั่งทานไม่เกิน 1,250 บาท ก็ไม่ได้ถึงกับว่าจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดนี้ไว้เป๊ะ ๆ จะเกินหรือขาดไปบ้างในบางมื้อก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยการมีเป้าหมายการใช้จ่ายไว้แบบนี้ก็ดีกว่าเราไม่กำหนดอะไรไว้เลย