สำหรับคนที่ทำงานประจำกินเงินเดือนนั้น เงินเดือนที่เราได้รับทุกเดือนจะไม่ได้รับเต็มเพราะจะต้องถูกบริษัทหักค่าอะไรบางอย่างไว้ และหนึ่งในเงินที่ถูกหักไว้ก็คือภาษีเงินได้ตามที่ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลนั่นเอง เงินภาษีนี้จะถูกหักไว้มากหรือน้อยแค่ไหนส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินรายได้ของเรา ถ้ายิ่งมีรายได้มากก็จะต้องเสียภาษีมากขึ้น
อย่างไรก็ตามคนทำงานประจำมีวิธีในการประหยัดภาษีได้จากค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้นำมาลดหย่อนเงินภาษีที่จะจ่ายให้น้อยลงได้ คนทำงานส่วนใหญ่ที่อยากประหยัดภาษีก็พยายามหาช่องทางในการใช้ค่าลดหย่อนต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อทำให้เราเสียภาษีน้อยลงไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันชีวิต การซื้อกองทุน ฯลฯ
เงินลงทุนที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้นั้น มีกองทุนอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ LTF และ RMF ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเงินลงทุนใน RMF ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีที่มากกว่า LTF อยู่มากเหมือนกัน ทำให้ผู้มีเงินได้หลายคนไม่เลือกที่จะลงทุนใน RMF แต่เลือกไปลงทุนใน LTF เพราะไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องและถือครองแค่อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ก็สามารถขายได้แล้ว
อ่านเพิ่มเติม : 7 ปี LTF !! ควรซื้อต่อ หรือพอแค่นี้ ? (ข่าว)
ก่อนอื่นเรามาทบทวนเงื่อนไขการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF เพื่อให้ได้สิทธิลดหย่อนภาษีกันก่อนดีกว่าค่ะ
RMF มีชื่อเต็มว่า Retirement Mutual Fund หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นช่องทางที่จะลงทุนเพื่อให้ประหยัดภาษีได้เท่านั้น แต่ RMF ยังเป็นทางเลือกในการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณด้วย เนื่องจากลักษณะการออมใกล้เคียงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ส่วนเงื่อนไขการลงทุน RMF เพื่อให้ได้สิทธิลดหย่อนภาษี มีดังนี้
- ลงทุนอย่างต่ำ 3% ของเงินได้ หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่จำนวนที่ต่ำกว่า)
- ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี โดยซื้อไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
- ไม่หยุดซื้อหน่วยลงทุนเกิน 1 ปีติดต่อกัน ยกเว้นกรณีที่ไม่มีเงินได้
- ขายคืนหน่วยลงทุนได้ต่อเมื่อผู้มีเงินได้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุนเท่านั้น
หากการซื้อหน่วยลงทุน RMF เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น ผู้มีเงินได้ก็สามารถนำเงินลงทุนนั้นมาหักเป็นค่าลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษีได้โดยหักได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและประกันชีวิตแบบบำนาญ
มีคนสงสัยมาถามในกระทู้ https://pantip.com/topic/36046681 โดยตั้งชื่อกระทู้ว่า “ถามผู้รู้ กรณีออกจากงานโดยอายุยังไม่ถึง 55 ปี ยังต้องซื้อ RMF ต่อหรือไม่” เจ้าของกระทู้ได้เข้ามาสอบถามโดยบอกว่าก่อนหน้านี้ได้ซื้อ RMF 2 ปีติดต่อกัน แต่ตอนนี้ลาออกจากงานและไม่มีรายได้อื่น อายุยังไม่ถึง 55 ปี จะต้องทำอย่างไรต่อไปสำหรับ RMF ยังต้องซื้อต่อเนื่องไปหรือไม่ แล้วถ้าไม่มีรายได้ควรทำอย่างไร
คำแนะนำสำหรับเจ้าของกระทู้มีดังนี้
- ตามเงื่อนไขของการซื้อหน่วยลงทุน RMF ระบุไว้ว่า ไม่หยุดซื้อหน่วยลงทุนเกิน 1 ปีติดต่อกัน ยกเว้นกรณีที่ไม่มีเงินได้ หมายถึงผู้มีเงินได้จะต้องไม่หยุดซื้อ RMF เกิน 1 ปีติดต่อกันคือ หยุดซื้อในขณะยังมีเงินได้ได้อย่างน้อยได้ 1 ปี ผู้มีเงินได้บางคนที่ไม่อยากซื้อ RMF ทุกปี เขาจึงเลือกซื้อแบบปีเว้นปี ซึ่งก็ไม่ผิดเงื่อนไข ยกเว้นกรณีที่ไม่มีเงินได้ที่สามารถหยุดซื้อหน่วยลงทุนเกิน 1 ปีได้ นั่นก็หมายความว่าหากเจ้าของกระทู้ออกจากงานและไม่มีรายได้ ก็ไม่ต้องซื้อ RMF ในปีนั้นได้โดยที่ไม่ผิดเงื่อนไข เมื่อใดที่เจ้าของกระทู้หางานใหม่ได้และกลับมาเป็นผู้มีเงินได้อีกครั้ง ก็ค่อยซื้อ RMF ในปีที่เริ่มมีรายได้ เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาอย่างน้อย 5 ปี หรือ 5 ครั้งกรณีที่ไม่ได้ซื้อต่อเนื่องทุกปี ก็สามารถขายหน่วยลงทุนได้
- แต่ถ้าเจ้าของกระทู้คิดว่าคงจะไม่ได้กลับเข้าทำงานในระบบอีก ก็มี 2 ทางเลือก คือ
- กัดฟันซื้อต่อเนื่องให้ครบ 5 ครั้ง แล้วรอไปขายตอนอายุ 55 ปี แบบนี้จะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขการซื้อหน่วยลงทุน เงินภาษีที่ลดหย่อนใน 2 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ต้องคืน ส่วนกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนก็ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อจ่ายภาษี
- ไม่ซื้อ RMF เพิ่ม รอไปขายตอนอายุ 55 ปี หรือจะขายตั้งแต่ตอนนี้เลยก็ไม่ค่อยต่างกัน เพราะอย่างไรก็ถือว่าผิดเงื่อนไขที่ลงทุนไม่ต่อเนื่องครบ 5 ปี หากรอเวลาขายก็จะมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องคืนภาษีย้อนหลังและส่วนกำไรของเงินที่ขาย RMF ได้ไม่ว่าจะตอนนี้หรือตอนอายุ 55 ปี ก็จะต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีด้วย ในทางปฏิบัติเมื่อมีการขายหน่วยลงทุน RMF จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ที่ 3%
การซื้อหน่วยลงทุน RMF มีข้อดีทั้งในเรื่องของการประหยัดภาษีและเป็นการเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่อย่างไรผู้มีเงินได้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์จากการซื้อหน่วยลงทุน RMF ควรต้องศึกษาถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการซื้อหน่วยลงทุน RMF ให้ดีเสียก่อน หากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามกับบริษัทจัดการกองทุนรวมที่เราซื้อหน่วยลงทุนอยู่ก็ได้ หรือสอบถามไปยังสรรพากรพื้นที่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและไม่เสียสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับไป
ขอบคุณข้อมูล
https://www.set.or.th/education/th/begin/mutualfund_content09.pdf