การลงทุน คำคำนี้ดูเท่ห์ดี ฟังดูเหมือนเป็นคนรวย คนมีเงิน เป็นคนมีการศึกษา เป็นคนทันสมัย การลงทุนคือการรับผิดชอบสภาพการเงินส่วนตัว เป็นการสร้างคุณค่าให้กับเงินของเรา หลายๆคนอยากลงทุน แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร อยู่ๆจะเอาเงินไปซื้อหุ้นเลยดีไหม ซื้อคอนโดปล่อยให้คนเช่าก็ไม่เลว เอาเงินเก็บไปเก็งกำไรที่ดินสักแปลงหนึ่งจะดีไหม สุดท้ายได้แค่คิด เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นและทำอย่างไร อันดับแรกในการลงทุน เราจะต้องมีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วก็ต้องมีแผนว่าเราจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายอย่างไร หรือจะวางแผนอย่างไร บทความนี้มีแนวทางให้โดยลองตั้งคำถามสำคัญๆ เกี่ยวกับการเงิน ดังนี้
ข้อหนึ่ง ถามตัวเองว่าในอนาคตเราจะใช้เงินอย่างไร
คิดเลยไปถึงตอนที่เราอายุมากแล้ว ทำงานไม่ได้แล้ว และเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ ใช้ทำอะไรบ้าง ลองเขียนเป็นรายการออกมา เขียนไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับอะไร นึกอะไรได้ เขียนมาให้หมด
ข้อสอง เราต้องใช้เงินเท่าไหร่ในตอนนี้ที่ใช้ลงทุนแล้วให้ได้ผลตอบแทนตามเป้า
และมีพอสำหรับใช้จ่ายในสิ่งที่เราคิดแล้วเขียนออกมาในข้อหนึ่ง เช่น ต้องใช้เงิน หนึ่งล้านบาท หรือ ห้าแสนบาท สำหรับการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนยั่งยืนหลังจากเราเกษียณ เป็นต้น
ข้อสาม เราต้องใช้เวลากี่ปี ในการที่จะให้เงินลงทุนนี้งอกเงย
และบรรลุเป้าหมายการลงทุน อาจมองว่าเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวก็ลองแบ่งซอยออกมาดู
ข้อสี่ เราสามารถรองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพื่อจะบรรลุเป้าหมายการลงทุนนั้นๆ
แน่นอนว่าถ้าเราอายุยังน้อยก็จะรองรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก เพราะถ้าล้ม ยังมีแรงยังมีเวลาที่จะเริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าอายุมากแล้ว เสี่ยงมากอาจไม่ไหว เพราะเวลาและกำลังของเราไม่เหมือนตอนหนุ่มสาว
ข้อห้า เราต้องการอัตราผลตอบแทนที่หวังว่าจะได้ประมาณเท่าไหร่
ถ้าเราต้องการผลตอบแทนมากๆ แน่นอนว่าความเสี่ยงจะต้องมากตามไปด้วย ถ้าต้องการมาก ต้องเรียนรู้และยอมรับความเสี่ยงนั้นด้วย คือต้องเรียนรู้และวางแผนเรื่องความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี
ข้อหก เราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างไรบ้าง หรือพร้อมแค่ไหนที่จะต้องเสียสละหลายๆสิ่ง
เพื่อให้บรรลุในผลที่เราคาดหวัง เช่น สามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนรูปแบบการใช้เงิน ลดความอยากได้ อยากมี เลิกฟุ่มเฟือยได้หรือเปล่า เพื่อที่จะได้เริ่มเก็บเงินให้ได้ตามแผน บางคนอยากมีเงินเก็บ แต่อยากสะดวกสบายเหมือนเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็ยากที่จะทำเงินให้งอกเงยขึ้นมาได้
ข้อเจ็ด เรามีเงินมากพอ เหมาะสมกับแผนของผลตอบแทนที่คาดหวังไว้หรือเปล่า
หรือมีความสามารถในการหารายได้และเก็บเงินได้สม่ำเสมอไหม ไม่ใช่ว่า บางเดือนเก็บได้มาก บางเดือนเก็บได้น้อย มีรายได้สามเดือน ต้องหยุดทำงานไป สี่เดือน แบบนี้การเงินของเราก็จะไม่สม่ำเสมอ เงินที่จะนำไปลงทุนก็ยากที่จะเป็นไปตามแผน ก็ต้องไปปรับเรื่องเป้าหมายการลงทุนอีกที
จะเห็นได้ว่าการลงทุนนั้นไม่ใช่เพียงแค่คิดว่าจะลงทุน ก็รีบทุ่มเงินไปลงทุนซื้อหุ้น ซื้อทอง ซื้อที่ดิน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องตั้งคำถามว่าเราจะลงทุนไปเพื่ออะไร ต้องรู้วัตถุประสงค์ของการลงทุนก่อน จากนั้นก็เขียนขอบเขตและแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพราะการลงทุนมีหลายรูปแบบ อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงก็แตกต่างกันไป ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายของการลงทุนเอาไว้ ก็จะทำให้ลงทุนสะเปะสะปะ สุดท้ายอาจไปไม่ถึงฝัน หรือได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับเงินและเวลาที่เสียไป ลองถามตัวเองและตอบคำถามตามแนวทางทั้ง 7 ข้อด้านบนนี้ แบบไม่โกหกตัวเองและอยู่บนความเป็นไปได้ในปัจจุบัน เมื่อตอบคำถามได้แล้วลองวางแผนดู แล้วจึงค่อยๆเริ่มนำเงินไปลงทุนตามที่ตั้งใจไว้ ก็จะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดีมีหลักการ หากพลาดพลั้งก็อยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้