ชัดเจนแน่นอน! สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ตั้งตารอฟังคำตอบเกี่ยวกับนโยบายการซื้อ LTF เมื่อราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 ก.ค. 2559 ได้ลงประกาศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 317 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการถือครองจาก 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน และมีผลย้อนหลังสำหรับ LTF ที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 59 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 62 โดยยังคงซื้อได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์เงินเดือนหลายคนทันทีว่า ควรจะชื้อต่อ หรือพอไว้แค่นี้ดี??
ควรซื้อต่อดีไหม
ไม่แปลก!! ถ้าจะมีคำถามนี้เกิดขึ้นในใจ ซึ่งหลายคนก็คงคิดเช่นเดียวกับคุณ เพราะการขยายเวลาการถือครอง LTF จาก 5 ปีปฏิทิน ไปเป็น 7 ปีปฏิทินนั้น สำหรับบางคนอาจคิดว่ายาวนานเกินไป ที่จะปล่อยให้เงินก้อนใหญ่วางไว้ในกองทุน ยิ่งภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนไม่แน่นอน หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องการใช้เงิน ก็ต้องเสียโอกาสกับเงินก้อนนี้ไป หรือถ้าอยากจะถอน LTF ออกก่อนระยะเวลาที่กำหนด ก็ต้องพบกับความยุ่งยากทั้งจากการเสียภาษีเพิ่ม และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 3% ในกรณีที่การขายหน่วยลงทุนมีกำไร
ในทางกลับกัน หากคุณคิดว่า เป้าหมายการซื้อ LTF คือการลงทุน ซึ่งมีของแถมเป็นการลดหย่อนภาษี โดยที่กระแสเงินสดในมือยังไม่ขัดสน บอกได้เลยว่า การขยายเวลาการถือครองเป็น 7 ปีปฏิทินยังคงคุ้มค่าสำหรับคุณเสมอ ซึ่งสอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายคนที่มองว่า การถือครองที่นานขึ้นอาจเป็นผลดี เพราะคุณควรให้เวลาผลตอบแทนได้งอกเงย ซึ่งระยะเวลาที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุนในหุ้น ก็คือ ระยะเวลาที่ 7 ปีนั่นเอง
แล้วถ้าอยากขายคืนล่ะ
ทำได้!! แต่ต้องอย่าลืมว่า คุณได้ทำผิดเงื่อนไขของการซื้อ LTF ไปแล้ว แม้ว่าจะยังไม่นำไปลดหย่อนภาษีก็ตาม ซึ่งการขายคืนจะเหมาะสำหรับผู้ที่ซื้อ LTF ในปี 59 นี้เป็นปีแรก และไม่เคยมีการซื้อมาก่อน เพราะคนกลุ่มนี้จะตัดใจขายได้ หากไม่ต้องการถือครองนานๆ แต่คุณต้องถูก บลจ. หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% และนำมาคำนวณภาษีตอนปลายปี รวมทั้งค่าธรรมเนียมขายคืนที่สูงกว่าปกติจากเดิม 0.25% เป็น 0.5% เพราะถือว่าคุณถือครองไม่ครบตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ในเรื่องของการลดหย่อนภาษีก็ยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะยังไม่ได้นำ LTF ก้อนนี้มาลดหย่อนภาษีแต่อย่างใด ส่วนคนที่เคยซื้อในปีก่อนๆ และซื้อในปี 59 ไปแล้ว หากเห็นว่าไม่อยากถือครองนาน แนะนำว่าให้ “หยุดซื้อ” จะดีกว่าการ “ขายคืน” แล้วมองหาการลงทุนแบบอื่นที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะอย่างน้อย LTF ที่คุณซื้อไปก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ในปลายปี
จะเกิดอะไร…ถ้าปี 63 มีการยกเลิก LTF
อย่างที่ทราบกันว่า LTF เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการลงทุนในระยะยาว และรักษาเสถียรภาพของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลายคนจึงอาจหวั่นเกรงว่า เมื่อถึงปี 63 ที่จะยกเลิก LTF นั้น สภาพตลาดหุ้นไทยจะผันผวน หรือน่าลงทุนต่อไปหรือไม่ เพราะอาจมีแรงเทขายกองทุน ซึ่งจะทำให้หุ้นตก และมูลค่าหน่วยลงทุนลดลง ในประเด็นนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ความผันผวนที่ว่าคงมีขึ้น แต่อาจไม่รุนแรง เพราะเมื่อยกเลิก LTF กองทุนเหล่านี้จะกลายร่างไปเป็นกองทุนรวมซึ่งปัจจุบันมีคนให้ความสนใจมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงอาจมีกองทุนใหม่ๆ ที่ชวนให้น่าลงทุนเกิดขึ้นเช่นกัน
อย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะเมื่อถึงปี 63 จริงๆ อาจมีมาตรการต่อเวลา LTF ให้คุณอีก…ก็เป็นได้
ที่มา