มาต่อกับ Adidas vs Puma นะคะ จากรอยร้าวของสองพี่น้องตระกูล Dassler ที่ค่อย ๆ ปริแตกออกทีละนิด จนท้ายที่สุดก็เกิดเป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ขึ้นมาและกลายเป็นฉนวนเหตุที่ทำให้ รูดอล์ฟ คนพี่ ตัดสินใจแยกออกมาทำกิจการของตนเองในปี 1948 ซึ่งตอนแรกเขาใช้ชื่อบริษัทว่า Rudi แต่ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น Puma เพื่อให้ฟังแล้วได้ความแข็งแกร่ง และน่าเกรงขามมากขึ้น
โดยแบรนด์ Puma นั้นก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาพูม่า นับเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ดังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่ะ ส่วน อาดี คนน้องก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น Adidas โดยการผสมชื่อตนกับชื่อสกุลเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนโลโก้สินค้าจากแถบสี 2 ขีดมาเป็น 3 ขีด เหมือนที่ใช้กันจนมาถึงปัจจุบันนี้ค่ะ แต่เส้นทางเกมธุรกิจนั้นเพิ่งเริ่มต้น
ในปี 1949 บริษัท Adidas ก็ได้เปิดตัวรองเท้าสำหรับนักกีฬาฟุตบอลขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปลี่ยนมาใช้เป็นปุ่มที่ทำมาจากยาง จากนั้นในปี 1954 ชื่อเสียงของแบรนด์ Adidas จากผลงานของ อาดี ดาสเลอร์ก็กระฉ่อนวงการรองเท้ากีฬาขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนักเตะทีมชาติเยอรมันตะวันตกที่สวมใส่รองเท้าฟุตบอลของ Adidas โดยในการดวนแข้งครั้งนั้นได้ขุนพลอย่าง ฟริตซ์ วอลเตอร์ และ เฮลมุท ราห์น มานำทัพและสามารถพลิกเกมส์มานำทีมชาติประเทศฮังการี ซึ่งเป็นทีมมหาอำนาจของกีฬาลูกหนังในยุคสมัยนั้นไปได้จนสำเร็จในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ รองเท้าของ Adidas ที่ออกแบบขึ้นมาสู้ศึกนัดพิเศษในครั้งนั้นมีปุ่มแบบพิเศษช่วยให้การยึดเกาะพื้นสนามได้ดีขึ้นแม้ในขณะที่สภาพสนามจะมีความชื้นแฉะจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขันก็ตาม และลักษณะของทรงรองเท้าที่ให้ความกระชับกับรูปเท้าทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกเหมือนรองเท้าเป็นส่วนหนึ่งของเท้าตัวเอง, น้ำหนักเบา และไม่มีความเทอะทะเมื่อเทียบกับรองเท้าของแบรนด์อื่น ๆ ที่มีขายในยุคนั้น ยิ่งทำให้ชื่อรองเท้า Adidas ติดอันดับความนิยมและได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลกไปอย่างใส ๆ
สำนวนโบราณที่ว่า “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” น่าจะตรงกับกลยุทธ์ด้านการตลาดของ Adidas ภายใต้การบริหารของอาดี ดาสเลอร์ มากที่สุดค่ะ ด้วยแรงตอบรับจากผลงานรองเท้าที่ผ่านมา อาดี เป็นผู้นำธุรกิจรายแรกที่เห็นความสำคัญของ Influencer และรู้จักเรียกความสนใจในสินค้าด้วยการดึงตัวนักกีฬาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมาช่วยโปรโมทโฆษณาสินค้ารองเท้าของตนเองค่ะ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์และความพิเศษให้กับแบรนด์ Adidas ของเขา นักกีฬาคู่บุญรุ่นแรก ๆ ที่มาช่วยโปรแกรมส่งเสริมการขายของ Adidas ก็คือ เจสซี่ โอเว่น, มูฮัมหมัด อาลี, เซ็ปป์ แฮร์แบร์เกอร์ และ ฟร้านซ์ เบ็คเค่นเบาเออร์ แน่นอนว่าบรรดานักกีฬาระดับโลกเหล่านี้มีความผูกพันกับตระกูล Dassler ไปโดยปริยายค่ะ ซึ่งผลของความสำเร็จจากการโฆษณาผ่านพรีเซนเตอร์ที่เป็นนักกีฬาดัง ๆ นั้นก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของแบรนด์ Adidas ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เรื่อยมา
นอกจากการนำรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาของตนเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาสำคัญ ๆ ระดับโลกแล้ว Adidas ยังผลิตสินค้าด้วยดีไซน์และเทคนิคใหม่ ๆ เหนือกว่าคู่แข่งของเขาอยู่เสมอ มากไปกว่านั้นก็คือขยายไลน์สินค้าของตนออกไปครอบคลุมรองเท้ากีฬาประเภทอื่น ๆ เกือบครบทุกด้าน อย่างเช่น ในปี 1960 Adidas ได้เริ่มผลิตเสื้อผ้าและชุดกีฬาหลาย ๆ ประเภท จากนั้นก็พัฒนามาผลิตลูกบอลเป็นครั้งแรกในปี 1963 จนกระทั่งปี 1970 ลูกฟุตบอลที่ได้รับการผลิตจากแบรนด์ดัง Adidas ก็ได้รับเลือกให้เป็นฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการเป็นต้นมาค่ะ ความสำเร็จในวันนี้ของแบรนด์ Adidas นอกจากจะมาจากความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ด่านต่าง ๆ อย่างไม่หยุดนิ่งแล้ว กลยุทธ์ทางการตลาดที่สื่อออกมาอย่างต่อเนื่องยังเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญและทำให้แบรนด์ Adidas ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์ด้านอุปกรณ์กีฬาระดับโลกที่ได้รับเลือกเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ ๆ จนถึงปัจจุบันค่ะ
อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันในวงการธุรกิจว่า 2 พี่น้องตระกูล Dassler เปิดศึกกันชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่กลับทำให้ทั้งสองแบรนด์ทะยานขึ้นมาเป็นสุดยอดด้านเครื่องกีฬา จนกระทั่งปี 2007 ผู้บริหารงานบริษัท พูม่า คือ กลุ่มบริษัท PPR ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลสินค้า Luxury ชั้นนำอย่าง Gucci ในประเทศฝรั่งเศสและได้ถูกเปลี่ยนมือมาเรื่อย ๆ ส่วน Adidas เองก็ขึ้นเป็นบริษัทมหาชน ชื่อ Adidas Group ซึ่งมีแบรนด์ชั้นนำทั้ง Reebok ต่างก็อยู่ในความดูแลด้วย แม้ว่าตอนนี้ทายาทของตระกูล Dassler จะไม่ใช่ผู้บริหารหลักของบริษัททั้งสองนี้แล้วก็ตาม แต่ความบาดหมางมากกว่า 60 ปีของสองแบรนด์ใหญ่ได้ถูกปลดล็อคในปี 2009 เมื่อ CEO ของแบรนด์ทั้งสองจับมือจัดกิจกรรมเพื่อองค์กรในแคมเปญที่ชื่อว่า One Day Peace โดยให้บรรดาพนักงานของพูม่าและอดิดาสมาลงเล่นฟุตบอลร่วมกัน เป็นการปิดฉากรอยร้าวของสองพี่น้องลง
แต่เรื่องราวดี ๆ ที่ยังคงมีอยู่ก็คือ หลานชายของรูดอล์ฟ ชื่อ แฟรงค์ ดาสเลอร์เป็นหนึ่งในทีมงานที่ดูแลทั้งงานของพูม่าและอดิดาสค่ะ ตำนานความสำเร็จของตระกูล Dassler ผู้ให้กำเนิดรองเท้ากีฬาดี ๆ มากกว่า 1,000 ล้านคู่ยังคงเป็นอมตะถึงวันนี้ ในปี 2004 นั้น พูม่ามีพนักงานทั้งหมดกว่า 3,910 คนและวางจำหน่ายใน 80 ประเทศทั่วโลก รายได้รวมกว่า 1,530 ล้านยูโร ส่วนแบรนด์ Adidas ของ Dassler ผู้น้องนั้น ในปีเดียวกันมีพนักงานกว่า 15,866 คน และกวาดรายได้มากถึง 6,267 ล้านยูโร ที่สำคัญคือครองความนิยมอันดับ 2 ของโลกมาโดยตลอดค่ะ