ขึ้นชื่อว่าเด็กส่วนมากจะเป็นวัยที่ดื้อรั้น ซึ่งการเลี้ยงลูกคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกเป็นคนดีได้ เพียงเลือกใช้เคล็ดลับที่บางครั้งหลายคนอาจละเลยไป
1.มองโลกในแง่มุมเดียวกับลูก
แม่ควรทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกว่าการกระทำนั้นเกิดจากความคิดแบบวัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่มองโลกแตกต่างจากผู้ใหญ่และมีวิจารณญาณในการตัดสินใจที่น้อยกว่าผู้ใหญ่มาก เด็ก ๆ มีความคิดและเข้าใจโลกคนละแบบกับแม่ ในช่วงเวลาที่มารดากำลังอบรมสั่งสอนลูก ลูกอาจมองว่ามารดาบ่นว่า หรือบางครั้งยามที่มารดาแสดงความกังวลถึงสวัสดิภาพ เด็ก ๆ อาจมองเป็นการน่ารำคาญก็เป็นได้เช่นกัน
2.พูดคุยกับลูกอย่างสนิทสนม
ก่อนที่แม่จะชักจูงจิตใจของลูกได้ แม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจในมุมมองของลูกเสียก่อน ส่วนใหญ่แล้วลูกมักปกปิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ให้แม่ทราบ เนื่องจากว่าเกรงกลัวความผิดหรือเกรงว่าแม่จะต่อว่า หากแม่ต้องการให้ลูกไว้วางใจ ควรพูดจากับลูกในทุกๆ เรื่องราวเพื่อให้ลูกมีความสนิทสนมและไว้วางใจ เพื่อให้ลูกเชื่อใจเสียก่อน ไม่ควรใช้ประโยคสั่งห้ามเพราะนั่นอาจจะทำให้ลูกยิ่งต่อต้านมากยิ่งขึ้น
3.เปลี่ยนมุมมองและความคิดของลูกอย่างแนบเนียน
แม่ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและความคิดของลูกโดยไม่ใช้การบังคับ เพราะยามที่แม่ได้สร้างความเชื่อใจกับลูกได้ ลูกจะรู้สึกว่าแม่เป็นฝ่ายของตนเอง และจะยอมรับในสิ่งที่แม่ชี้แนะ ยกตัวอย่างเช่น หากลูกบอกกับมารดาว่า ไม่ชื่นชอบการเรียนหนังสือแม่ควรบอกกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและถามถึงสาเหตุอันทำให้ลูกไม่ต้องการเรียน เพื่อให้ลูกไว้วางใจในตัวแม่มากที่สุด
4.เริ่มเปลี่ยนที่ตนเอง
หลาย ๆ ครั้งแม่มักคิดว่าลูกต้องเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าจะเป็นผู้เปลี่ยนพฤติกรรมเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะหากแม่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียบ้างลูกอาจเกิดความเครียดและมีโอกาสที่กลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิมได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้แม่ควรเชื่อในตนเองว่าตนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ และแม่เป็นบุคคลต้นแบบของลูก ซึ่งในกรณีที่แม่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีลูกอาจจะทำพฤติกรรมเลียนแบบได้
5.ให้กำลังใจยามลูกเหนื่อยล้า
แม่ควรเป็นบุคคลแรกที่อยู่เคียงข้างลูกยามลูกรู้สึกเหนื่อยล้าและท้อแท้ หมดกำลังใจ เพราะแม่เปรียบเสมือนบุคคลที่ลูกเชื่อมั่นว่ามารดาจะสามารถปกป้องคุ้มครองได้ ทั้งนี้การให้กำลังใจควรพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนหว่านและอ่อนโยน และไม่ควรซ้ำเติมลูกให้เสียใจซ้ำอีก
6.ปรับเปลี่ยนวิธีหากไม่ได้ผล
แม่บางคนมักบ่นในเรื่องที่ลูกทำพฤติกรรมไม่ได้ดังใจ แต่การบ่นว่านั้นก็ไม่ได้ทำให้มีสิ่งใดดีขึ้นมาได้ โดยแม่ไม่ควรด่วนโทษตัวเองแต่ควรพิจารณาว่าเพราะเหตุใดลูกจึงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แม่ควรเรียนรู้คำว่าผิดพลาด และพยายามคิดหาหนทางเพื่อให้เลี้ยงลูกแล้วประสบความสำเร็จ และไม่ควรท้อแท้ในการเลี้ยงลูก ควรคิดว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์อันจะทำให้ไปสู่ความสำเร็จได้
7.รู้จักผ่อนปรน
แม่ควรผ่อนปรนและยืดหยุ่น เพราะการยืดหยุ่นจะทำให้ลูกรู้สึกดีกับแม่มากขึ้นและเชื่อฟังในคำพูดของแม่มากขึ้นอีกด้วย ไม่ควรใช้น้ำเสียงข่มขู่เพราะนั่นจะทำให้ลูกกลายเป็นดื้อดึงกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุดคือการผ่อนปรนให้กับลูก ควรเสนอทางเลือกให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตนต้องการบ้าง เพราะการบังคับจนลูกรู้สึกเก็บกดจะยิ่งทำให้ลูกอยากหนีห่างจากแม่มากขึ้น
8.สนับสนุนในความฝันของลูก
แม่ควรสนับสนุนความฝันของลูกแม้ว่าบางครั้งความฝันนั้นอาจไกลตัวก็ตามที ยกตัวอย่างเช่นลูกมีความสามารถทางการเล่นกีฬา แม่ควรสนับสนุนให้ลูกได้เล่นกีฬาที่ตนเองชอบอย่างเต็มที่เพื่อลูกอาจได้มีโอกาสก้าวไกลไปในเส้นทางที่ตนเองรัก และแม่ควรเป็นผู้ที่ค้นหาทักษะความสามารถพิเศษของลูกเพื่อนำไปต่อยอดได้ในอนาคต เนื่องจากบางครั้งลูกอาจไม่รู้ว่าตนเองมีความชอบหรือความถนัดในเรื่องใดนั่นเอง
9.แม่ควรแนะนำด้วยการตั้งคำถาม
การบอกกล่าวหรือสั่งให้ลูกทำในสิ่งที่ตนเองต้องการจะยิ่งทำให้ลูกก่อกำแพงในใจกับแม่อย่างไม่รู้ตัว และกลายเป็นดื้อไม่ยอมฟังเหตุผล ดังนั้นแม่ควรเปลี่ยนพฤติกรรมในการบอกลูกยามที่ต้องการให้ลูกทำสิ่งใด เริ่มต้นจากการบอกลูกให้ลูกได้ทราบถึงความรู้สึกของแม่ และชี้แนะหนทางเพื่อให้ลูกได้ทำโดยไม่ใช้คำสั่ง นอกจากนี้แม่ควรตั้งคำถามที่ส่งผลให้ลูกรู้สึกได้ถึงผลลัพธ์ที่ตามมาหากทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น หากลูกต้องการไปเที่ยวกลางคืน แม่ควรถามลูกว่าหากลูกไปเที่ยวกลางคืนสิ่งใดจะตามมา และคิดว่าจะมีผลใดต่อลูกบ้าง
การเลี้ยงลูก เป็นเหมือนการใช้จิตวิทยาซึ่งแม่ควรศึกษาอย่างถี่ถ้วนเพราะเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาวที่รอการแต่งแต้มสีสันจากการเลี้ยงดูของผู้เป็นแม่นั่นเอง