สำหรับการเตรียมความพร้อมของการลงทุนอย่างหนึ่งที่ต้องทำก็คือการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ ทางด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้มีการจัดงานเปิดตัวโครงการ “SMEs เมคโอเวอร์ พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย”ซึ่งเป็นครั้งแรกกับการคัดสรรผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ของไทยให้เหลือเพียง 200 ราย ก่อนนำมาสู่การติวเข้มเชิงลึกเพื่อการปรับกิจการให้ทันสมัย เตรียมพร้อมรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมกับพบปะตัวอย่างกิจการที่พัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม ในปีที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ราชปรารภ
ภายในงานสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า ISMED ได้มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อแนะแนวทาง เทคนิคลงทุน ให้แก่ผู้ประกอบการนำไปสู่การพัฒนากิจการให้เหมาะสม โดยนางสาวอาภาพรรณ ธนานิยม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ กลุ่มที่มีความพร้อมและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นด้านของเงินทุน การผลิต และการตลาด กลุ่มที่มีข้อจำกัดนี้เองที่ต้องมีการปรับตัว มองให้เห็นศักยภาพของตนเองว่ามีตรงไหนหรือขาดเหลืออะไร
สำหรับสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือสามารถสรุปออกมาได้เป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
- ต้องศึกษาความต้องการของตลาดแล้วหันมาปรับปรุงสินค้าของตนเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
- ศึกษาแนวโน้มของกระแสการเปลี่ยนไปของโลก ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันนานาประเทศ
- ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่ามีความแตกต่าง มีความนิยมและพฤติกรรมการซื้ออย่างไร เพื่อพัฒนาให้มีช่องทางและการขายที่เหมาะสม
นางสาวอาภาพรรณ ยังกล่าวไว้อีกด้วยว่า สิ่งสำคัญคือต้องมีการพัฒนาอย่างมีภูมิปัญญาควบคู่ไปกับความรู้ เพราะภูมิปัญญาเป็นเสน่ห์ของความเป็นไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความโดดเด่นในระดับโลก ส่วนทางด้านความรู้หลักวิชาการ งานวิจัยต่าง ๆ จะเป็นที่มาของนวัตกรรมใหม่ ๆ พร้อมกับการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การทำบัญชี และการวางแผนทางการเงิน
ตัวอย่างหนึ่งในงานคือ นายดิศรณ์ มาริษชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนมแม่เอย-เปี้ยะแอนด์พาย (2003) จำกัด ซึ่งเป็นร้านที่โด่งดังในระดับโลก ปัจจุบันมีการผลิตวันละกว่า 10,000 ลูก พร้อมกับยังมีอัตราการเติบโตต่อปีร้อยละ 90 เนื่องจากการส่งออกแล้วก็กระแสความนิยมในช่วงที่ผ่านมา ทางด้านผลิตภัณฑ์ทางร้านมีรสชาติให้เลือกกว่า 20 รสชาติ อาทิ ไส้เผือก ไส้ทุเรียน ไส้ชาเขียว เป็นต้น ในกรุงเทพฯ สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้ากว่า 10 ร้าน
ด้านนายดิศรณ์ มองว่า การรับมือเพื่อเข้าสู่ AEC นั้น ที่ทางบริษัทสามารถทำได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ทำให้สามารถขยายตลาดออกไปต่างประเทศได้ เพราะการทำการตลาดด้วยตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับขนมไทยที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น ซึ่งปัญหานี้ได้หมดไปหลังจากการเข้ามาช่วยเหลือของที่ปรึกษา นำงานวิจัยมาปรับใช้ ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่เก็บไว้ได้นานขึ้น ไม่ต้องแช่แข็งและยังคงรสชาติความหอมหวานไว้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือการไม่ตัดราคากันเองในกลุ่มผู้ส่งออก เพราะเมื่อหั่นราคากันเองเพื่อดึงตลาด สุดท้ายก็จะไม่เหลือผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
ผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง นายสุรเดช นิลเอก กรรมการผู้จัดการของบริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด บริษัทที่เป็นผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวอันดับหนึ่งของประเทศ มียอดขายส่งออกที่น่าประทับใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ออกมาชี้ว่าบริษัทต้องทำการวิจัยอยู่กว่า 2 ปี ถึงจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวทรอปิคานาที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับและมีคณะเดินทางจากต่างประเทศมาศึกษาดูงาน นอกเหนือจากนั้นยังเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองในระดับสากล
จุดสำคัญที่ทางทรอปิคานาเน้นย้ำคือการรับรองจากสากลเพราะเพียงแค่การรับรองจากประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการส่งออกอย่างแน่นอน เนื่องจากยังไม่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก การได้รับการยอมรับในระดับสากลจากประเทศที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องนั้น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ถ้าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกก็ควรเป็นการรับรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศเยอรมนี เป็นต้น
นอกเหนือจากการรับรองแล้วการออกไปทำตลาดในต่างประเทศยังต้องมีการศึกษาว่าผลิตภัณฑ์ของเรานั้นสามารถส่งออกไปยังประเทศไหนได้บ้าง ทั้งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและต้นทุน การศึกษาทางด้านข้อกฎหมายในเรื่องของการจดทะเบียนตราสินค้า เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ รวมทั้งการพิจารณาคู่ค้าให้ดีเสียก่อนจะตัดสินใจมอบตราสินค้าของเราให้เขาดูแล พร้อมกับการวางตำแหน่งสินค้าให้เหมาะสมกับราคาและกลุ่มลูกค้าของผลิตภัณฑ์
สำหรับการเปิดตลาดสมาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น หากมองในมุมกว้างอาจนับได้ว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ เพราะระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น อำนาจการต่อรองและเงินทุนเพิ่มมากขึ้นจากนานาประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำการศึกษาคู่แข่งใกล้ตัวอย่างประเทศข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรือลาวที่มีการพัฒนาก้าวขึ้นมาเรื่อย ๆ ในปีนี้ที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ AEC การปรับตัวและพัฒนาก้าวให้ทันสังเวียนโลกเป็นเรื่องที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือก็สามารถปรึกษาและขอคำแนะนำจากทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000096256&Html=1&TabID=1&
- http://www.thaipr.net/government/64232