ในที่สุดแล้วโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่พลิกมาเอาชนะฮิลลารี คลินตัน ได้ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกที่กุมชะตาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไว้ทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ การที่ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศนี้จึงเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่งยวด เพราะนโยบายในการบริหารประเทศของคนนั้นย่อมส่งผลมาถึงประเทศของตนด้วยอย่างแน่นอน
ประเทศไทยเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียก็ต้องสนใจกับนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะใช้ในการบริหารบ้านเมืองด้วยว่าจะมีผลอย่างไรต่อทั้งประเทศของเราและต่อภูมิภาคที่เราอยู่นี้ด้วย เราได้ทราบนโยบายของทรัมป์ตั้งแต่ที่เขาเริ่มหาเสียงแล้วว่า ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการค้าต่าง ๆ มาตลอด ทรัมป์ต้องการสร้างประเทศอเมริกาให้กลับมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกอีกครั้งด้วยการตั้งกำแพงภาษี และกลับมาใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความรู้สึกที่ทรัมป์มีต่อประเทศจีนและญี่ปุ่นนั้นก็ต้องถือว่าค่อนข้างรุนแรงทีเดียวจากการที่เราเห็นในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา
มีหลายฝ่ายต่างออกมาวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจในเอเชียและประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากที่สหรัฐมีประธานาธิบดีคนที่ 45 ที่ชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์แล้วนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เชื่อว่าทรัมป์น่าจะต้องเลือกทำตามนโยบายที่ตัวเองเคยหาเสียงไว้ แต่ความเข้มข้นของนโยบายเหล่านั้นจะมากหรือน้อยอย่างไรก็ต้องคอยดูกันอีกครั้ง
แนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจต่อจีน
ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ทรัมป์ได้กล่าวโจมตีประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้บอกถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนว่ามีผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งยังกล่าวโจมตีจีนว่าทำให้เกิดสงครามค่าเงินระหว่างเงินหยวนและเงินดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลได้แทรกแซงค่าเงินหยวนจนทำให้ค่าเงินหยวนนั้นต่ำค่ากว่าความเป็นจริง ทรัมป์ได้กล่าวไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้าทำงานเป็นประธานาธิบดี เขาจะเพิ่มกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 45%
แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่าโดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีนก็ได้ต่อสายตรงไปแสดงความยินดีกับทรัมป์ โดยผู้นำจีนได้กล่าวย้ำถึงความร่วมมือว่าเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศไว้ได้ นาย หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้ออกมาย้ำเช่นกันว่า รัฐบาลปักกิ่งพร้อมที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น
ด้านแจ๊ค หม่า ซีอีโอของอาลีบาบา บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านอี-คอมเมิร์ซของจีนก็ได้ออกมาให้ความเห็นถึงการย้ายฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมกลับสหรัฐซึ่งเป็นแนวนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะก่อให้เกิดหายนะขึ้น และได้บอกว่าความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนถือว่ามีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องรักษาไว้ต่อไป
แนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่น
อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่นก็ต้องบอกว่าเป็นกังวลไม่แพ้กัน หลังจากที่รู้ผลว่าทรัมป์ได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เนื่องจากทรัมป์ได้เคยประกาศไว้ในตอนที่หาเสียงเลือกตั้งว่า สหรัฐจะถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรีหรือ TPP และรวมไปถึงจะถอนกำลังทหารสหรัฐออกจากญี่ปุ่นด้วยหากว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา นายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้เดินทางเข้าพบและหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่บ้านพักส่วนตัว ถือเป็นผู้นำชาติแรกที่ได้พบกับทรัมป์หลังชนะเลือกตั้ง โดยต้องบอกว่าเป็นการแหวกธรรมเนียมที่เคยมีมาพอสมควร เพราะเป็นการพบกันในขณะที่ทรัมป์ยังไม่ได้สาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการที่นายชินโซ อะเบะ รุดเข้าพบกับทรัมป์ในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจกับทรัมป์อย่างรวดเร็วที่สุด การพูดคุยเบื้องต้นก็เพื่อจะได้ทราบว่าทรัมป์คิดอย่างไรกันแน่ เพราะที่ผ่านมาเรียกได้ว่าญี่ปุ่นไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัมป์มาก่อนเลย
คนใกล้ชิดของทรัปม์และคนสำคัญในพรรครีพับลิกันหลายคนพากันออกมาบอกว่า เราต้องจริงจังกับคำพูดในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์มากนัก แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า ถ้าทรัมป์ไม่ได้ทำอย่างที่เคยพูดไว้ในขณะหาเสียงเลือกตั้งก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเขา ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของทรัมป์เองด้วย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย
สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยของเรานั้น มีการประเมินไว้ว่าหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การส่งออกของไทยจะยังไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก ยกเว้นเรื่องของค่าเงินที่จะมีผลกระทบบ้างจากความผันผวนที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนในเรื่องต่าง ๆ แต่ในระยะยาวต้องรอติดตามนโยบายที่ชัดเจนของสหรัฐอีกครั้งหนึ่งว่าจะทำได้ตามที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่ ทั้งเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือ TPP ที่เป็นเรื่องใหญ่มากและนโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐที่ถ้าเข้มงวดเกินไปก็จะขัดแย้งกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก
การกีดกันสินค้าจากจีนจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศไทย เป็นการสร้างโอกาสของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐมากขึ้น ในขณะที่ผลกระทบเชิงลบต่อไทยจะเป็นเรื่องของเงินทุนที่จะไหลคืนสู่สหรัฐ อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดผลกระทบมากที่สุด ก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ เคมีภัณฑ์และธุรกิจค้าส่ง ราคาน้ำมันและค่าเงินจะมีความผันผวนต่อเนื่องและเรื่องสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐอาจหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกีดกันทางการค้ากับไทยได้อีก
ผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะมีต่อภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยเรานั้นจะมากหรือน้อยแค่ไหน ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้มากหรือน้อย เร็วหรือช้าแค่ไหน กำแพงการค้าที่รัฐบาลของทรัมป์ประกาศเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะนำมาใช้ต้องส่งผลต่อการค้าและการส่งออกไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
อ้างอิง