ยอดตัวเลขผลิตรถยนต์ของเดือนมีนาคม 2559 ที่ได้เปิดเผยออกมาล่าสุด แสดงให้เห็นถึงความกระเตื้องขึ้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยที่ถือว่าอยู่ในช่วงขาลงตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาพรวมของอุตสาหกรรมและค่ายรถยนต์ต่างก็ลดเป้าถอยตั้งหลักกันไปก่อนหน้านี้ จากเศรษฐกิจโลกที่ซึมยาวที่กระทบที่เศรษฐกิจรวมของไทย ภาวะภัยแล้งราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น ประกอบกับผลจากนโยบายภาษีรถคันแรกของรัฐบาลและโครงสร้างภาษีตัวใหม่ของรถยนต์ ตอนนี้ถือว่าอมยิ้มกันได้ โดยนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ได้ออกมารายงานถึงตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ของเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 192,811 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ถึง 8.19% ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการผลิตที่มียอดสูงสุดนับย้อนหลังไป 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง หลัก ๆ ที่เพิ่มก็เป็นการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะสำหรับจำหน่ายในประเทศ
ในด้านของยอดขายรถยนต์ในประเทศของเดือนมีนาคม 2559 ถือว่าลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 ประมาณ 2.3% หรือ 72,404 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังถือว่าซึม ปัญหาภัยแล้งที่มีผลกระทบกับภาคการเกษตร และทำให้สินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจโดยรวมทั้งจากภาคเอกชนด้วยก็มีการชะลอตัว แต่ตัวเลขของการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้ว่าส่วนหนึ่งจะผลิตเผื่อสำหรับเดือนเมษายน 2559 ที่มีวันหยุดเทศกาลยาวหลายช่วงก็ตาม ในส่วนของแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 น่าจะยังทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ทางด้านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเจน นำชัยศิริ ก็ได้ออกมาบอกถึงสัญญาณที่ดีนี้ว่าเปรียบเหมือนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เนื่องจากรถยนต์นั่งและรถกระบะที่ใช้ในประเทศจะเป็นตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจในประเทศได้ดี ยอดผลิตที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ทั้งสองประเภทสะท้อนว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในอนาคต ในด้านของผลกระทบจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลปีที่ผ่านก็เริ่มเบาบางลงไป ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้น และในส่วนของโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก
อีกตัวเลขที่ส่งสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็คือ ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนมีนาคม 2559 สามารถส่งออกได้มากกว่า 100,000 คัน โดยทำได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง มียอดส่งออก 109,334 คัน หรือคิดเป็นมูลค่า 57,336 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรถประเภทรถยนต์อเนกประสงค์ หรือ รถพีพีวี ซึ่งมีราคาสูง ทำให้มูลค่าของรถยนต์ที่ส่งออกสูงตามไปด้วย ทำให้มูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาก็ยังถือใกล้เคียงกัน แม้จำนวนรถยนต์ที่ส่งออกลดลงก็ตาม ตัวเลขยอดส่งออกรวมของทั้งไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 อยู่ที่ 307,760 คัน ลดลง 6.24% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มูลค่ารวมส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 163,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.35% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นของรถยนต์ราคาสูงอย่างรถอเนกประสงค์พีพีวี
ค่ายรถยนต์หลายค่ายก็เริ่มยิ้มออกกันได้บ้าง อย่าง ฟอร์ด ประเทศไทย ก็ได้ออกมาประกาศตัวเลขยอดขายของไตรมาสแรก ปี 2559 ว่าเติบโตถึง 29% โดยรถที่มีส่วนผลักดันให้ยอดขายเพิ่มขึ้นและสามารถทำให้ส่วนแบ่งตลาดของฟอร์ดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือ ฟอร์ด เรนเจอร์ และ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ยอดขายรวมรถฟอร์ดไตรมาสแรก อยู่ที 8,653 คัน แม้ตลาดรถยนต์ในไทยจะอยู่ในภาวะถดถอยมาตลอด 4 ปี แต่ฟอร์ดเองก็สามารถเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันฟอร์ดมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 4.8% ถือเป็นการเติบโตที่สวนทางกับตลาดรถยนต์โดยรวมที่ฟอร์ดทำได้ดี
ในขณะที่ค่ายบีเอ็มดับเบิ้ลยู ประเทศไทย พร้อมส่งรถยนต์ไปขายในประเทศจีนเป็นครั้งแรกโดยจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2559 รถยนต์ที่จะส่งออกไปขายในประเทศจีนจะมี 2 รุ่นด้วยกัน คือ รุ่น X5 และ X3 ซึ่งผลิตและประกอบในประเทศไทย โดยบีเอ็มดับเบิ้ลยูเตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตของรถทั้งสองรุ่น พร้อมกับเตรียมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อป้อนโรงงานของบีเอ็มดับเบิ้ลยูทั่วโลกอีกด้วย ด้วยความเป็นแบรนด์พรีเมียมและพัฒนาให้รถยนต์ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทางบีเอ็มดับเบิ้ลยูเชื่อว่าจะทั้ง 2 รุ่นจะทำตลาดได้ดีในประเทศจีนอย่างแน่นอน โดยการส่งออกรถบีเอ็มดับเบิ้ลยูไปขายในประเทศจีน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกนี้ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและก้าวสำคัญที่ตอกย้ำว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียอย่างแท้จริง
ทางด้านรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ได้ออกมาคาดการณ์สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยว่า แนวโน้มของปี 2559 จะดีขึ้นเล็กน้อย โดยยอดรวมของการผลิตรถยนต์ทั้งปีน่าจะถึง 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้น 10.26% เป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ 900,000 เพิ่มขึ้น 6.67% และผลิตเพื่อส่งออก 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.17% เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็จะส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจของไทยในแง่ของการส่งออกด้วย ปัจจัยที่สำคัญที่จะผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่อไปได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักอย่างการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐ เนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจไฟแนนซ์ต่างก็ปล่อยสินเชื่อยาก