เมื่อไม่นานมานี้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องของที่อยู่อาศัยในผู้ที่มีรายได้น้อย คือมีรายได้ที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนต่อ 1 ครอบครัว ของทางภาครัฐที่มีความต้องการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยภายในประเทศถึง 2.7 ล้านครัวเรือน ต้องมีที่อยู่อาศัยที่ดีและเป็นหลักแหล่งภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในเรื่องของที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยทั้งหลาย ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งในด้านกรอบของการดำเนินการในเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยนี้
ในเบื้องต้นผู้ที่ต้องการจะซื้อต้องมีรายได้ประจำหรือมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน สามารถซื้อบ้านแบบเป็นห้องแถว ทาวเฮาส์ อาคารชุดหรือคอนโดมีเนียมในรูปแบบเช่าภายในระยะเวลา 30 ปี
- สำหรับอาคารที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 22 ตารางเมตร ราคาขายจะอยู่ที่ 5 แสนบาท สำหรับเช่า 30 ปี และ 7 แสนบาทสำหรับขายขาด
- ส่วนในทาวเฮาส์ที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 ตารางเมตร ราคาเช่า 30 ปีจะอยู่ที่ราคา 8 แสนบาท แต่ถ้าหากขายขาดจะอยู่ที่ 9 แสนบาท
ทางกระทรวงการคลังได้มีการมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง หรือ สคส. เข้ามาศึกษาโครงการนี้โดยให้ทางกรมธนารักษ์เป็นผู้ที่ดำเนินงานจัดหาที่ดินราชพัสดุในแปลงที่มีศักยภาพมาทำการพัฒนาโครงการ โดยมีธนาคารอาคารสงเคราะห์คอยดูแลทางด้านสินเชื่อรายย่อย ส่วนในด้านของการพัฒนาโครงการได้มอบหมายให้ทางการเคหะแห่งชาติเป็นผู้ดูแลต่อไปอีกที นอกจากนี้ก็ยังมีการออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการเพิ่มอีกด้วย
ล่าสุดทางที่ประชุมก็ได้มีมติให้โครงการนี้ผ่านการเห็นชอบและพร้อมให้ดำเนิน โครงการประชารัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยมีการขอรับเงินสนับสนุนจากงบกลาง 1,300 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และมีการจัดเป็นเงินกองทุนที่เอาไว้ใช้เพื่อเป็นเงินในการสนับสนุนโครงการกว่า 1,138 ล้านบาท และแยกออกเป็นค่าจัดการต่าง ๆ มากมายอีกกว่า 162 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการประชุมร่วมกันสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและฝ่ายภาคเอกชนเรื่องของการขอความร่วมมือกันในเรื่องนโยบายประชารัฐ ที่มีการประชุมหารือกัน 3 ฝ่าย คือภาครัฐ ตัวแทนจากผู้ประกอบการเอกชนและตัวแทนของ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความเห็นจากผู้ประกอบการเอกชนว่าให้ทางภาครัฐช่วยแก้ปัญหาในเบื้องตนก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับหลักเกณฑ์ที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่าง ๆ พร้อมทั้งเสนอปัญหาที่อาจจะเดขึ้นในอนาคตตามและคิดหาทางป้องกันไปก่อน
ภาคเอกชนเห็นพ้องกันว่าโครงการเป็นโครงการที่ดีเพื่อทำให้เหล่าผู้มีรายได้น้อยทั้งหลายจะสามารถมีที่อยู่อาศัยได้เป็นหลักแหล่ง เพียงแต่ก็ห่วงหลาย ๆ ปัญหาที่อาจจะตามมา ทั้งเรื่องของเกณฑ์ในการปล่อยกู้ที่ทางธนาคารอาจจะปล่อยให้กับผู้กู้ที่ผ่านเกณฑ์ มีอยู่แค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่ผ่านจะทำให้เกิดปัญหาที่ทางภาคเอกชนผลิตที่อยู่อาศัยออกมาแต่บ้านนั้นกลับขายไม่ออก ก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นทันทีทั้งระบบ ซึ่งธนาคารบางแห่งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะให้ยอกู้อยู่ที่ 40-50% ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็อาจจะให้กู้อยู่ที่ 70% และธนาคารบางที่ก็อาจจะไม่ให้เลย จึงทำให้ความเสี่ยงตkรางนี้มีค่อนข้างสูง ประกอบกับการต้องมีการสร้างที่ค่อนข้างมีจำนวนเยอะ จึงต้องคำนวณตัวต้นทุนให้ดี ๆ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะขาดทุนจนเสียหายได้ ต้องมีการดำเนินงานที่รอบคอบ ควบคุมต้นทุนการผลิตให้ดีเพื่อป้องกันสภาวะการขาดทุน เพราะด้วยความต้องใช้ต้นทุนตามที่กรอบของรัฐกำหนด และต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวนมาก
ดังนั้นการศึกษาข้อมูลพร้อมรายละเอียดต่าง ๆ จะต้องมีความชัดเจนอย่างมากเพื่อนำมาสู่การวางแผนที่รัดกุมและรอบคอบต่อไป และมีการยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐได้นำกลับไปแก้ไขและหาแนวทางป้องกัน คือเรื่องของสัญญาเช่าที่ดินนำมาพัฒนาโครงการ ขอเป็นส่วนพื้นที่ที่ดี มีทำเลที่น่าดึงดูดใจ ราคาเช่าที่ดินก็จะต้องไม่แพง เพื่อเป็นการลดต้นทุนของภาคเอกชนลงให้สามารถขายได้ที่ 5 แสนบาท ควรมีการงดเว้นภาษีโรงเรือนที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเมื่อทำการขายห้องชุดต่อไป และเรื่องของธนาคารที่ควรจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการยื่นกู้ สามารถผ่านได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น หรือจะมีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ลงนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้าภาคประชาชนที่ถือว่าคนสำคัญของนโยบายนี้ยังไม่สามารถมีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ ก็จะทำให้เกณฑ์ของการปล่อยกู้ในธนาคารก็จะน้อยลง และเมื่อพอการปล่อยกู้น้อยลงก็จะไปสู่ปัญหาที่อยู่อาศัยที่มีมากเกินไปแต่กลับไม่มีใครมาอยู่แต่ถ้าทางธนาคารปล่อยกู้ที่ง่ายเกินไปก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่พร้อมจ่ายในประชาชนที่มีรายได้ที่ไม่มั่นคง จนอาจจะทำให้เกิดการเบี้ยวหนี้และเป็นการเพิ่มหนี้ภาคครัวเรือนให้มากขึ้น และอาจจะก่อปัญหาให้กับทางธนาคารที่ก็อาจจะเสียหายไปด้วย เพราะถึงทางภาครัฐจะแก้ปัญหาโดยการให้เช่าก่อน 30 ปี แต่ถ้าเศรษฐกิจชาติและเศรษฐกิจโลกยังคงนิ่งอยู่ประกอบการใช้เงินที่ไม่เป็นระบบของภาคประชาชน ก็คาดว่าโครงการนี้ก็อาจจะยากสำเร็จไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้นทางภาครัฐก็ยังคงต้องติดตามปัญหาและรายละเอียดเหล่านี้พร้อมแนวทางแก้ไขในอนาคตต่อไปอย่างใกล้ชิด