คปภ.ลุยคุ้มครองผู้บริโภค คุมเข้ม ขายประกันผ่านธนาคาร ย้ำต้องระบุชัดเจนว่าเป็นประกันหรือเงินฝาก ล่าสุดเตรียมหารือ ธปท.-สมาคมธนาคารไทย ปรับปรุงการขายให้เป็นไปตามเกณฑ์ ขู่โทษสูงสุดถึงขั้นถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน
ลูกค้าธนาคารเตรียมเฮกันได้เลย คราวนี้คงไม่ต้องโดนบังคับทำประกันคู่กับการทำสินเชื่อประเภทต่างๆ การทำประกันแฝงคู่กับการทำบัตรเอทีเอ็ม หรือแม้แต่การทำบัตรเครดิต เพราะคราวนี้น่าจะมีมาตรการที่เอาจริงเพราะหากลูกค้าไม่ยินยอมก็ไม่สามารถจะบังคับขายได้ แต่ อ่านดูแล้วเชื่อว่าน่าจะมีช่องให้ดิ้นออกมาขายกันได้อีก แม้ว่าจะมีการระบุไว้ว่า การทำประกันภัยของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าธนาคารต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ห้ามไม่ให้มีการบังคับ หรือใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองในการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่นๆ ของธนาคาร
อ่านเพิ่มเติม >> ทำไม ใครๆก็ยี้ คนขายประกัน ? <<
แต่สิ่งที่เห็นและเจอกันในปัจจุบันคือ ขายแพคคู่แบบเนียนๆ เช่น บัตรเอทีเอ็ม ขายคู่กับประกันอุบัติเหตุรายปี บัตรธรรมดาไม่พ่วงประกันมักจะถูกพนักงานบอกว่าไม่มี ซึ่งเรื่องนี้อ่านกระทู้มาหลายรอบและลองสอบถามสาขาด้วยตัวเองเป็นแบบกระทู้จริงๆ คือ พนักงานตอบมาว่าบัตรไม่มีแล้ว มีแต่แบบนี้ๆๆๆ พอถามกลับไปว่า ในเว็บของธนาคารยังมีให้บริการอยู่นี่ คำตอบที่ได้ คือ ก็ต้องสั่งบัตรเอทีเอ็มผ่านเว็บแล้วมารับที่สาขาพร้อมสะบัดตูดลุกหาย นี่เจอมาจริงๆกับธนาคารที่ใช้บริการก็ได้แต่นั่งงงสรุปว่าพนักงานและบริการของธนาคารนี้มันห่วยแตกอย่างที่เขาด่ากันในบอร์ดจริงๆด้วย
เชื่อว่าแม้จะมีมาตรการออกมาแต่ก็ต้องมีช่องให้ขายกันได้อยู่ดี โดยอาจเป็นผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่มาแบบแพคเกจไม่บังคับขายแต่มีแต่แบบนี้จะซื้อแบบนี้ก็ต้องเอาประกัน คนที่ต้องการใช้ก็ต้องยอมเสียเงินอย่างเช่น บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม เพราะบัตรเครดิตส่วนใหญ่ปัจจุบันจะบังคับให้ทำประกันพิทักษ์หนี้ด้วยเลยตอนสมัครเพราะเป็นการลดความเสี่ยงของหนี้บัตรเครดิตคือหากเจ้าของบัตรเสียชีวิตธนาคารยังได้เงินคืนจากสินไหมทดแทน รวมถึงสินเชื่ออื่นๆด้วย เช่น บ้าน หรือเงินกู้
แม้ว่าเราจะรู้กันมานานแล้วว่าห้ามบังคับแต่พนักงานของทุกธนาคารทุกสาขาจะบังคับให้เราทำและมีเหตุผลล้านประการบอกว่าคุณต้องทำไม่ทำไม่ผ่านและบลาๆๆๆๆๆๆที่จะพ่นใส่เราจนเราต้องเซ็น นี่คือเรื่องจริงอย่าปฏิเสธว่าเถียงกับพนักงานแล้วชนะคุณไม่ต้องทำ เพราะคุณจะโดนพนักงานตอกกลับและดึงเอกสารให้ล่าช้า และเมื่อคุณโทรไปหาคอลเซ็นเตอร์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ โทรไปสำนักงานใหญ่ก็โอนหลายสิบต่อกว่าจะรู้เรื่องและอิหรอบเดิมเซ็นเถอะมันผ่านง่าย เขาทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่หางยันหัวเป็นเกือบทุกที ดังนั้นหากจะคุมเข้มก็ต้องให้เข้มจริงๆไม่ใช่เสือกระดาษกฎมาแต่ไม่มีใครทำตาม
เรื่องของประกันกับธนาคารมันบานปลายกันมานานกว่า 10 ปีแล้วยุคแรกยังแค่น้อยๆขายกับลูกค้าประจำ ลูกค้าเงินเยอะๆ แต่ต่อมาหนักขึ้นบังคับมันมั่วไปหมดกระทั่งบัตรเอทีเอ็ม แบบนี้จะคุมเข้มกันยังไง ธนาคารต้องการรายได้ ประกันก็ต้องการรายได้ คนจ่ายไม่พร้อมจ่าย ดีมานด์ซัพพลายไม่สมดุลกันปัญหามันก็เกิด และบางคนสมยอมยินดีจ่ายแต่พอจะใช้ประกันของธนาคารปัญหามีร้อยแปดโดยเฉพาะพวกประกันอุบัติเหตุที่พ่วงกับบัตรทั้งหลายแหล่ บางคนมีประกันสังคมได้ค่าชดเชยบางส่วน บางคนได้จากประกันอุบัติเหตุของรถที่ประกันบุคคลที่สาม พวกประกันที่จ่ายรายปีจากธนาคารมักจะเลี่ยงจ่ายเงินตามที่โปรโมท อ้างว่าได้เงินจากประกันอื่นแล้ว ตลกไหมล่ะ?! มีคนเคยโดนเบี้ยวง่ายๆแบบนี้มาแล้วเพราะไม่รู้ข้อสัญญาไม่รู้กฎหมายว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วเวลาทำบัตรพวกนี้พนักงานให้เซ็นอย่างเดียวไม่อธิบายไม่ให้อ่าน ยิ่งเจอลูกค้าบ้านๆมาขอเปิดบัญชีทำเอทีเอ็มพนักงานยัดประกันให้เลยเซ็นแล้วเก็บค่าธรรมเนียมไม่พูดไม่บอกอะไรมากด้วย ไม่เชื่อลองทำหน้าโง่ๆ แต่งตัวปอนๆไปเปิดบัญชีด้วยจำนวนเงินน้อยๆดูแล้วคุณจะเห็นความแตกต่างของการบริการ เจอแบบนี้จริงๆ เพราะลองมาแล้ว
อ่านเพิ่มเติม >> รู้ทัน กลยุทธ์ขายประกัน <<
เชื่อว่าเราคงต้องลุ้นกันว่าเมื่อมีกฎออกมาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเราแล้วมันจะได้ผลจริงไหม ได้ผลแค่ไหน ธนาคารจะทำตามกฎไหมหรือหาช่องเลี่ยง ซึ่งหากเราไม่ประสงค์ซื้อบริการพ่วงแฝงจากธนาคารสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือบอกพนักงานว่าเราไม่ต้องการและไม่ทำไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น หากได้รับการบริการที่ไม่ดีแจ้งกับสำนักงานใหญ่และฟ้องไปที่ สคบ.ให้มาตรวจสอบโดยที่คุณไม่ต้องทะเลาะกับพนักงานพูดเรียบว่าไม่ทำ พนักงานจะบ่นอะไรบอกมาจำแค่ชื่อที่ป้ายบนหน้าอกก็พอแล้วไปร้องเรียนช่องทางมีมากมายเลยที่คุณทำได้รับรองว่าคุณจะไม่ต้องโดนบังคับทำประกันอีกต่อไป
ข่าวจาก : http://m.manager.co.th/iBizChannel/detail/9580000132629