แบงก์ชาติ ขึ้นดอกเบี้ย +0.25% มีผลทันที เหตุแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นราคาดอกเบี้ยนโยบายอีกเป็นจำนวนร้อยละ 0.25% ต่อปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะอยู่ที่ 2.25% ต่อปี แน่นอนว่าประชาชนคนไทยทุกคนย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ยกตัวอย่าง การขอสินเชื่อ หรือการกู้ซื้อบ้าน ในวันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาดูกันว่าตัวเลขนี้คืออะไร และจะส่งผลกระทบกับเราในด้านไหน อย่างไรบ้าง
ทำความรู้จักกับดอกเบี้ยนโยบาย
ดอกเบี้ยที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นในครั้งนี้ คือดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางเป็นผู้กำหนด ดังนั้นจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีความสำคัญที่สุด และจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ภายในระบบเศรษฐกิจด้วย อย่างเช่น เป็นอัตราที่ธนาคารกลางจะจ่ายดอกเบี้ยให้กับเหล่าธนาคารพาณิชย์ที่นำเอาเงินมาฝากไว้ หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ทางธนาคารกลางใช้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากทางธนาคารพาณิชย์ที่มาขอกู้ยืมเงิน ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายจึงส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยของทางธนาคารพาณิชย์ที่จะใช้คำนวณกับลูกค้าซึ่งเป็นผู้ฝากเงิน หรือผู้ขอสินเชื่อ
ย้อนการปรับตัวขึ้นลงดอกเบี้ย 2566
-
- ครั้งที่ 1 วันที่ 25 มกราคม 2566 ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น 0.25% จากเดิม 1.25% เป็น 1.5%
- ครั้งที่ 2 วันที่ 29 มีนาคม 2566 ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น 0.25% จากเดิม 1.5% เป็น 1.75%
- ครั้งที่ 3 วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น 0.25% จากเดิม 1.75% เป็น 2%
- ครั้งที่ 4 วันที่ 2 สิงหาคม 2566 ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น 0.25% จากเดิม 2% เป็น 2.25%
เปิดสาเหตุ แบงก์ชาติ ขึ้นดอกเบี้ย +0.25%
การปรับดอกเบี้ยขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยมีสาเหตุจากการที่เศรษฐกิจในประเทศของเราภาพรวมแนวโน้มมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าตอนนี้อุปสงค์ในต่างประเทศจะชะลอไปบ้าง แต่คาดว่าในอนาคตก็จะมีขึ้นต่อไป ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวลดลงแล้วและยังมีแนวโน้มว่าจะทรงตัวอยู่ในเป้าหมาย แต่ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงสูงไม่น้อยเช่นเดียวกัน
คณะกรรมการจึงได้ประเมินว่าบริบทของเศรษฐกิจในตอนนี้ได้กลับเข้าสู่ศักยภาพนโยบายทางการเงินที่เราควรดูแลให้สภาพเงินเฟ้ออยู่ในกรอบอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มเสถียรภาพเศรษฐกิจทางการเงินระยะยาว และยังเป็นการป้องกันปัญหาการเงินไม่สมดุลและสะสมจนทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานเกินไป และเป็นการรักษาความสามารถของนโยบายทางการเงินที่ช่วยรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคของภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นหลัก
- การส่งออกสินค้ามีการหดตัวในเวลาสั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจจีน รวมไปถึงวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวช้า แต่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในหมวดพลังงานมีการปรับลดลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ระบบการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยรวม ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองและระดับเงินกองทุนที่เข้มแข็ง
- ภาวะการเงินผ่อนคลายลง และเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชน ช่วยให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว ต้นทุนการกู้ยืมโดยภาคเอกชนมีแนวโน้มจะสูงขึ้นซึ่งสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ผลกระทบต่อผู้บริโภค
การปรับดอกเบี้ยขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยในครั้งนี้เป็นนโยบายที่ช่วยควบคุมเงินเฟ้อและสร้างเสถียรภาพทางการเงินระดับประเทศ ผ่านการประเมินแล้วว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในระยะยาวอย่างมีเสถียรภาพ แต่ในขณะเดียวกันเองผู้บริโภคอย่างเราก็ยังคงได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนเช่นเดียวกัน ทั้งด้านบวกและด้านลบ แตกต่างกันออกไปตามสุขภาพการเงินของแต่ละคน
ผลกระทบด้านลบ
- ธนาคารจะมีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นลูกหนี้สินเชื่อธนาคารที่กู้มาเพื่อลงทุนหรือใช้จ่ายจะต้องผ่อนด้วยจำนวนเงินที่สูงมากขึ้น มีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
- เมื่อลูกหนี้ต้องผ่อนชำระหนี้สินเป็นจำนวนเงินที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทำให้ไม่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยเหมือนกับในอดีตแต่อย่างใด
- หากการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เศรษฐกิจก็จะเกิดการชะลอตัว
- การสร้างแรงจูงใจให้คนนำเอาเงินไปฝากธนาคารเนื่องจากดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
- ร้านค้า ตลาด ห้างสรรพสินค้าจะขายสินค้าได้น้อยลงกว่าเดิม ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังโรงงานผลิตสินค้าที่ทำให้ขายได้น้อยลง
- เกิดผลกระทบในด้านแรงงาน เพราะเมื่อโรงงานหรือแม้แต่ร้านค้าไม่สามารถขายสินค้าได้ตามยอด สิ่งที่ต้องทำจึงเป็นการลดต้นทุน ซึ่งหนึ่งในวิธีการนั้นก็คือการปลดคนออกนั่นเอง ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และอาจทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา อย่างเช่น ปัญหาโจรผู้ร้ายหรือการทำธุรกิจผิดกฎหมาย
ผลกระทบด้านบวก
- ผู้ที่นำเอาเงินไปฝากธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคารมากขึ้นกว่าเดิม
- สำหรับใครที่ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ความผันผวนของราคาจะลดลงและมีการฟื้นตัวของราคาที่ดีขึ้นกว่าเดิม หากถือครองจนครบอายุจะได้รับผลตอบแทนจากทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแบบเต็มจำนวน และกองทุนยังสามารถนำเอาเงินไปลงทุนใหม่เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลดีกับพอร์ตของเราในอนาคต
- ช่วยให้ประชาชนระมัดระวังเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าเดิม ไม่กล้าสร้างหนี้ เนื่องจาก ต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้น
- เงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่ามากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก ต่างชาติจะให้ความสนใจในการลงทุนหากดอกเบี้ยสูงกว่าในต่างประเทศ
- สำหรับใครที่ถือหุ้นธนาคาร หุ้นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิต หุ้นบริษัทที่หนี้สินต่ำ กรมธรรม์ประกันชีวิต จะได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น มีเงินสดในมือสูงขึ้นกว่าเดิม
สรุปแล้ว การที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย +0.25% ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราก็จริง เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องการเงิน และเศรษฐกิจได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีทั้งผลกระทบในด้านบวก และด้านลบ หากมองถึงเศรษฐกิจระดับมหาภาคแล้ว การปรับดอกเบี้ยขึ้นจะช่วยสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงให้กับเงินบาทของเรามากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับใครที่ลงทุนก็มีทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าแต่ได้ดอกเบี้ยไม่ต่างกัน สำหรับคนที่จะได้รับผลกระทบในด้านลบก็คือกลุ่มผู้มีหนี้สินที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าเดิม ดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องวางแผนทางการเงินให้ดี