นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่ามาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่จะครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีความคืบหน้าของการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
แบงก์ชาติเน้นแก้หนี้ให้ตรงจุดแทนการช่วยเหลือทั่วไป
3 เหตุผลที่แบงก์ชาติเน้นแก้หนี้ SMEs เชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย แทนการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปที่จะครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือนในวันที่ 22 ต.ค. 63 นี้
- ลูกหนี้มีแนวโน้มกลับมาจ่ายคืนหนี้ได้ตามปกติมากขึ้น
- บรรเทาภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว
- รักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินระยะยาว
ลูกหนี้ SMEs ที่ยังมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายคืนหนี้ ควรจ่ายหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้ที่มีอยู่แล้ว ยังจะทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะรายที่สถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม
“หนี้เสียไม่พุ่งหลังหมดมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป” เพราะอะไร
- ยอดสินเชื่อยังครอบคลุมลูกหนี้
ลูกหนี้ SMEs ที่เลือกขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวมีจำนวน 1.05 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งต่างจากยอดสินเชื่อจำนวน 6.89 ล้านล้านบาท ตามที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน โดยยอดหนี้ 6.89 ล้านล้านบาทนั้นครอบคลุมลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากมาตรการช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนด้วยการขยายระยะเวลาพักหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เป็นต้น
- ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ ถึง 6 เดือน
ลูกหนี้ SMEs ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาตรการวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลา พักชำระหนี้ ไปอีก 3 – 6 เดือนแล้ว
- ลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
ลูกหนี้ SMEs ของธนาคารพาณิชย์อีกประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่แสดงเจตจำนงว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด และมีลูกหนี้เพียง 6% ที่ยังอยู่ระหว่างการติดต่อของธนาคารพาณิชย์หรือยังติดต่อไม่ได้
และแบงก์ชาติได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานะเดิมของลูกหนี้ SMEs ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการจ่ายหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL จนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการจ่ายหนี้ด้วย
นอกจากนี้ หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด 19 แล้ว ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังพื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่การฟื้นตัวยังอยู่เพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด 19
ลูกหนี้ SMEs มีทางเลือกอะไรบ้างหลังหมดมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป
แบงก์ชาติเน้นแก้ไขปัญหาให้ลูกหนี้ SMEs แบบเชิงรุกและตรงจุดแทนการช่วยเหลือแบบทั่วไป หลังมาตรการพักหนี้กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค. 63 นี้ โดยลูกหนี้ที่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้และมีรายได้เพียงพอจะจ่ายหนี้ได้ แนะนำให้กลับมาจ่ายปกติเพื่อลดดอกเบี้ยครับ
แต่ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ตามปกติ สถาบันการเงินยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยมีหลายมาตรการมารองรับ ได้แก่ การปรับเงื่อนไขการจ่ายหนี้ตามความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL รวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น
- การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
- การพักชำระค่างวด
- การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้
- การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย
สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการติดต่อสถาบันการเงิน หรือยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ สามารถแจ้งความต้องการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ไปยังสถาบันการเงินผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง https://www.1213.or.th/App/DebtCase