เศรษฐกิจผันผวนแบบนี้อะไรๆ ก็มีสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้ บางธุรกิจที่สายป่านทางการเงินไม่ยาวพอก็อาจจะต้องปิดตัวลง ซึ่งเมื่อประกาศปิดตัวไปแล้วบางธุรกิจก็ขายกิจการตัวเองให้กับคนอื่นที่เงินทุนเพียงพอ แต่บางธุรกิจที่ขายไม่ออกแถมยังเป็นหนี้เป็นสินกับธนาคารอีก เงินก็ไม่สามารถจ่ายคืนธนาคารได้ จนถึงฟ้องล้มละลายก็มี ซึ่งถ้าเรื่องแบบนี้เกิดกับหุ้นของบริษัทที่เราถืออยู่ล่ะจะเกิดขึ้นอะไรกับเราบ้าง บริษัทล้มละลาย ผู้ถือหุ้นอย่างเราต้องเตรียมตัวยังไง มาหาคำตอบกันดีกว่า
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “หุ้น” ก่อนดีกว่า
ว่า “หุ้น” นั้นคือ ตราสารที่ออกให้กับผู้ถือ ซึ่งก็คือตัวเราหรือใครก็ได้ที่เอาเงินไปลงทุนในบริษัทนั้นๆ ดังนั้นจึงทำให้เรามีฐานะเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งจะมีส่วนได้เสียและสิทธิในทรัพย์สินหรือรายได้ของบริษัท และตลอดจนการได้รับเงินปันผลมาด้วยหากกิจการบริหารงานแล้วมีกำไร ซึ่งจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่นโยบายของบริษัท แต่หุ้นก็ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ โดยทั้งสองประเภทก็มีส่วนได้เสียไม่เหมือนกัน เราไปดูหุ้นทั้งสองประเภทกันดีกว่าว่าเป็นแบบไหนกันบ้าง
- หุ้นสามัญ (Common Stock)
คือ ตราสารที่บริษัทมหาชนต่างๆ ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน ก็เลยนำหุ้นของบริษัทตัวเองมาขายให้บุคคลทั่วไปได้ซื้อหาไว้เป็นเจ้าของ โดยผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือไว้ เช่น การออกเสียงในการเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผล หรือการควบรวมกิจการ เป็นต้น อีกทั้งผู้ถือหุ้นสามัญยังมีสิทธิได้รับเงินปันผลหากบริษัทมีกำไร มีโอกาสได้รับส่วนต่างของราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่มีโอกาสได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่เมื่อบริษัทที่เรามีหุ้นอยู่นั้นทำการเพิ่มทุน
- หุ้นบุริมสิทธิ์ (Preferred Stock)
เป็นตราสารแสดงความเป็นเจ้าของในกิจการหรือบริษัทเหมือนกับหุ้นสามัญ แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลเช่นเดียวกันกับผู้ถือหุ้นสามัญ อาจจะมากหรือน้อยกว่าก็แล้วแต่นโยบายของบริษัท แต่ที่สำคัญคือ หากบริษัทเลิกกิจการไปแล้ว และเมื่อมีเงินเหลือเพียงพอหลังจากจ่ายชำระคืนให้กับเจ้าหนี้หมดทุกรายแล้ว ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินส่วนที่เหลือก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
แต่อย่าลืมหุ้นอีกประเภทหนึ่ง คือ หุ้นกู้ ที่บริษัทได้มีการระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ แต่สถานะของผู้ถือหุ้นกู้จะถือเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของ และผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับผลตอบแทนจากบริษัทที่ออกหุ้นกู้ คือ ดอกเบี้ย นั่นเอง
ดังนั้นกับคำถามที่ว่าหากเราถือหุ้นของบริษัทที่กำลังจะเลิกกิจการ ไม่ว่าจะเลิกกิจการด้วยเหตุผลทางกฎหมายหรือด้วยความเต็มใจของผู้ถือหุ้นทั้งหมด สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาสำหรับผู้ถือหุ้นประเภทต่างๆ
คือ เมื่อบริษัทแจ้งความประสงค์และจดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเรียบร้อยแล้ว บริษัทก็จะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี เพื่อมาทำการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของบริษัท หากมีลูกหนี้อยู่ก็ตามเก็บหนี้มาให้ครบ ถ้ามีทรัพย์สินที่ไม่ต้องการก็ต้องนำออกขายให้หมด
จากนั้นจะต้องนำเงินที่มีทั้งหมดมาจ่ายให้เจ้าหนี้การค้าก่อน ถ้าบริษัทมีการออกหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระเงินคืนก็จะต้องนำเงินไปคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้เป็นลำดับถัดมา เหลือเงินเท่าไรก็ค่อยแบ่งคืนให้กับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ สุดท้ายถ้ายังมีเงินเหลือก็ถึงจะให้กับผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งก็คือ เราหรือคนอื่นๆ ที่มีการซื้อหุ้นของบริษัทนั้นไว้นั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก่อนที่บริษัทจะปิดกิจการไปก็มักจะมีข้อมูลข่าวสารออกมาเป็นระยะๆ ให้เราเลือกตัดสินใจขายหุ้นทิ้งในราคาที่อาจจะไม่สวยหรูสักเท่าไร แต่ก็อาจจะดีกว่าถือไว้จนเลิกกิจการแล้วไม่ได้อะไรเลย