ภาษี ที่ควรรู้ สำหรับวัยเรียน และวัยทำงาน
ภาษี ถือเป็นเรื่องที่หลายคนมองว่ายุ่งยาก แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำความเข้าใจตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งเป็นวัยเรียนเลยก็ยิ่งดี เพราะบางคนก็เริ่มมีรายได้จากงานพาร์ทไทม์กันแล้ว และวัยทำงาน ที่ต้องยื่นภาษีประจำปี ในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับภาษีประเภทต่าง ๆ และสิ่งที่ต้องเตรียมตัวกัน
ทำความรู้จักภาษี
ภาษี คือ เงินที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับภาครัฐ เพื่อนำไปใช้จ่ายในการบริหารประเทศ โดยไม่มีสิ่งตอบแทนโดยตรง ภาษีมีหลายประเภท เช่น
ภาษีทางตรง
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลหรือองค์กรโดยตรง เช่น
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90, 91)
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีทางอ้อม
เป็นภาษีที่ประชาชนจ่ายเมื่อซื้อสินค้าและบริการ เช่น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%)
- ภาษีสรรพสามิต (จัดเก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น บุหรี่ สุรา)
แม้ว่านักเรียน นักศึกษา ที่เป็นวัยที่ยังไม่มีรายได้เป็นหลักแหล่ง จึงยังไม่ต้องมีการยื่น หรือเสียภาษี แต่หากมีรายได้จากแหล่งใดก็ตาม เช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ หรือขายของออนไลน์ การเป็นครีเอเตอร์ อินฟลูต่าง ๆ ก็ควรเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับภาษีไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาหากโดนตรวจสอบย้อนหลัง
วัยเรียน: รายได้แบบไหนที่ต้องเสียภาษี?
- รายได้จากงานพาร์ทไทม์ เช่น พนักงานร้านอาหาร ติวเตอร์
- รายได้จากงานฟรีแลนซ์ เช่น รับจ้างออกแบบกราฟิก เขียนบทความ
- รายได้จากการขายของออนไลน์ (ถ้ามียอดขายเยอะ อาจเข้าข่ายเสียภาษี)
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับวัยเรียน
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 หรือ 91)
- หากมีรายได้เกิน 120,000 บาท/ปี ต้องยื่นภาษี
- หากมีรายได้เกิน 150,000 บาท/ปี ต้องเริ่มจ่ายภาษี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%)
- หากขายของออนไลน์หรือเป็นเจ้าของธุรกิจที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องจดทะเบียน VAT
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53)
- หากรับงานฟรีแลนซ์ อาจถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% หรือ 5% และสามารถนำใบหักภาษีไปยื่นขอคืนได้
คำแนะนำ:
- ควรเก็บหลักฐานรายรับ-รายจ่ายให้ดี เช่น สลิปเงินเดือน ใบแจ้งยอดธนาคาร
- หากมีการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ควรยื่นภาษีเพื่อขอเงินคืน
วัยทำงาน: ภาษีที่ต้องรู้เมื่อเริ่มมีรายได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- พนักงานประจำ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกเดือน (ภ.ง.ด.91)
- ฟรีแลนซ์-เจ้าของกิจการ ต้องยื่นภาษีเอง (ภ.ง.ด.90)
- มีค่าลดหย่อนที่ช่วยลดภาระภาษี เช่น
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนประกันสังคม ตามที่จ่ายจริง (สูงสุด 9,000 บาท)
- ค่าลดหย่อนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ
- ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF, ThaiESG
ภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT): หากเปิดธุรกิจเองต้องรู้เรื่อง VAT
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: หากมีบ้านหรือที่ดินต้องเสียภาษีนี้
- ภาษีรถยนต์ประจำปี: หากมีรถยนต์ต้องจ่ายภาษีทุกปี
เงินภาษี ไปอยู่ไหนบ้าง?
เงินภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชน จะถูกนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ ของประเทศ เช่น
- พัฒนาสาธารณูปโภค: ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ขนส่งสาธารณะ
- สาธารณสุข: โรงพยาบาลของรัฐ บัตรทอง 30 บาท รักษาฟรี
- การศึกษา: โรงเรียนรัฐ ทุนการศึกษา หนังสือเรียนฟรี
- ความมั่นคง: กองทัพ ตำรวจ การป้องกันประเทศ
- สวัสดิการประชาชน: ประกันสังคม เงินผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ
- ชำระหนี้สาธารณะ: หนี้ของรัฐบาลที่กู้มาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
มีรายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี?
ในประเทศไทยมีเกณฑ์พื้นฐานในการเสียภาษีคือรายได้สุทธิต่อปีเกิน 120,000 บาท สำหรับบุคคลโสด หรือ 190,000 บาท สำหรับผู้มีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ซึ่งทางสรรพากรจะมีเกณฑ์การเรียกเก็บภาษีแบบขั้นบันได ดังนี้
รายได้สุทธิ | อัตราภาษี | ภาษีเงินได้สูงสุดในแต่ละขั้น (บาท) | ภาษีเงินได้สะสมสูงสุดในแต่ละขั้น |
ไม่เกิน 150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | 0 | 0 |
150,001 – 300,000 บาท | 5% | 7,500 | 7,500 |
300,001 – 500,000 บาท | 10% | 20,000 | 27,500 |
500,001 – 750,000 บาท | 15% | 37,500 | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 บาท | 20% | 50,000 | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 บาท | 25% | 250,000 | 365,000 |
2,000,001 – 5,000,000 บาท | 30% | 900,000 | 1,265,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | – | – |
รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ไม่ยื่นภาษีได้มั้ย?
อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัย คงไม่พ้นหากรายได้ต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ยังจำเป็นต้องยื่นภาษีหรือไม่ คำตอบก็คือ จำเป็นต้องยื่น เพื่อเป็นการแจ้งรายได้ที่ได้รับให้กับทางสรรพากรได้รับทราบ และป้องกันการตรวจสอบย้อนหลัง ที่อาจมีค่าปรับตามมานั่นเอง
เคล็ดลับจัดการภาษี
- ตรวจสอบรายได้ของตัวเอง: ว่าเข้าเกณฑ์เสียภาษีหรือไม่
- ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ครบ: เช่น ประกันชีวิต กองทุน RMF, ThaiESG
- วางแผนยื่นภาษีให้ถูกต้อง: ควรยื่นภาษีภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
ยื่นภาษี ถึงวันไหน?
กำหนดการยื่นภาษีจะเป็นช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี แต่สำหรับการยื่นแบบออนไลน์จะได้ถึงวันที่ 8 เมษายนของทุกปี
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นของ ภาษี ที่ควรรู้ จะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้วเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องยากเกิน และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งได้เปรียบ จะได้สามารถวางแผนการเงินของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้สิทธิ์ลดหย่อนต่าง ๆ ดังนั้นน้อง ๆ ที่อยู่ในวัยเรียนไม่ว่าจะมัธยมศึกษา หรือเป็นนักศึกษาแล้วก็ควรเรียนรู้ไว้ ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรที่ในหลักสูตรการศึกษาของไทยไม่มีเรื่องภาษีอยู่ ทั้ง ๆ ที่เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญในชีวิตเลยก็ว่าได้