ในปี พ.ศ. 2559 เฉพาะจำนวนข้าราชการครูในประเทศไทยที่มีอายุถึงเวลาเกษียณมีจำนวนถึง 24,689 คน ซึ่งยังไม่นับจำนวนบุคคลที่ทำงานในหน่วยงานอื่นตลอดจนบุคลากรของหน่วยงานเอกชนที่ใกล้จะเกษียณก็มีจำนวนอีกมาก ดังนั้น การใช้ชีวิตภายหลังจากการเกษียณให้เต็มไปด้วยความสุขทั้งกายและใจ จำเป็นต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ และรัดกุม ไม่ใช่เพียงเพื่อตนเอง แต่เพื่อคนรอบข้างด้วยเช่นกัน เป็นที่น่าเสียดายที่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อ วัยเกษียณ เป็นเรื่องของคนอายุมาก หากแต่การเตรียมการแต่เนิ่น ๆ จะช่วยทำให้เกิดความมั่นคง และคล่องตัวในชีวิต แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหากจะเริ่มต้นในวัยที่ใกล้เกษียณ เพราะสถานะ การดำรงชีวิต และปัจจัยที่มีผลของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ตลอดจนเป็นการดีเริ่มเสียวันนี้โดยควรจะคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
-
ตั้งสติ และเตรียมใจ
คนที่มีอายุใกล้ถึงเกณฑ์เกษียณย่อมรู้สึกประหวั่นวิตกว่า หลังจากเกษียณเราจะอยู่อย่างไร อยู่บ้านเฉย ๆ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำสวน ทำงานอดิเรกที่ชอบ เดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน พบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่า หรือ ดูแลหลานแทนลูก ๆ ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือ ต้องหาอาชีพเสริมทำหรือไม่ เงินจะมีพอใช้ต่อไปในอนาคตได้อีกนานแค่ไหน ค่ารักษาพยาบาล ค่าชำระเบี้ยกรมธรรม์ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปีจะมีเงินพอหรือไม่ แล้วยังค่าอยู่ค่ากิน ค่าเล่าเรียนลูก ๆ อีก ปัญหาเหล่านี้จึงได้แต่วนเวียนอยู่ในหัว เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสม แต่เมื่อมองในมุมกลับ ชีวิตหลังเกษียณไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะเราได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มความสามารถจนถึงเวลาเกษียณ ดังนั้นจึงควรภาคภูมิใจในตนเอง ตลอดจนเป็นโอกาสทองได้มีเวลาทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการทำเสมอมา
ข้อคิด สติ กำลังใจ และมีการวางแผนอย่างรอบคอบ
-
วางแผนชีวิต และแผนการเงิน
ความเป็นจริงแล้ว การวางแผนชีวิตควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อเป็นการวางเป้าหมายในชีวิต ไม่ว่า จะเกี่ยวข้องกับตนเอง หรือ เกี่ยวเนื่องด้วยผู้อื่น โดยควรจะวางแผนโดยประมาณว่า ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตจะมีเป้าหมายใด ต้องทำอย่างไรเพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย และต้องใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ด้วยเช่นกัน การวางแผนชีวิตย่อมมีการวางแผนการเงินร่วมอยู่ด้วยเสมอ แต่หากเคร่งเครียดในการเงินจะทำให้ความสุขในการใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็นไปอย่างไม่น่าภิรมย์แต่ถ้าเราวางแผนช้าก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะสิ้นสุด เริ่มขณะนี้ก็ไม่สาย ส่วนใหญ่การวางแผนชีวิตจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ลูกกำลังอยู่ในวัยเรียน หรือ มีภาระค่อนข้างมาก แผนการชีวิตจะค่อนข้างเคร่งเครียด โดยต้องประหยัดค่าใช้จ่ายประจำเดือนโดยมีวินัยทางการเงินอย่างชัดเจน พร้อมทั้งประชุมคนในครอบครัวให้รับรู้ถึงสถานะทางการเงิน และแบ่งเงินบางส่วนออกจากเงินออมเพื่อใช้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตร/พ่อแม่ จากนั้นต้องเพิ่มหนทางในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น
ช่วงที่ลูกเข้าสู่วัยทำงาน/มีครอบครัว หรือ ภาระต่าง ๆ เบาลง จะเป็นช่วงที่การวางแผนชีวิตและการเงินขึ้นกับตนเองเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากภาระต่าง ๆ ลดน้อยลง จึงทำให้มีเวลาทำกิจกรรม/งานอดิเรกที่ชื่นชอบ ตลอดจนสามารถใช้เงินออมดูแลตนเอง จุนเจือลูกหลาน/เลี้ยงดูพ่อแม่ พร้อมกับสามารถลงทุนเพิ่มรายได้แบบความเสี่ยงต่ำอย่างไม่เดือดร้อนอีกด้วย
การจัดการชีวิตจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการวางแผนการเงินไว้เนิ่น ๆ จะช่วยทำให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้ดี ซึ่งการวางแผนสำคัญอย่างไร ตัวอย่างนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ เช่น ถ้าคุณตั้งใจออมเงินให้ครบ 1 ล้านบาทสำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ และสมมติว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินออมและเงินลงทุนเท่ากับ 5% ต่อปี (เมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์)
ถ้าเริ่มออมต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 31 ปี คุณออมเดือนละ 1,250 บาท คุณจะมีเงินครบ 1 ล้านบาทเมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินออม 450,000 บาท และได้ดอกเบี้ย ประมาณ 600,000 บาท แต่ถ้าเริ่มออมเมื่ออายุ 51 ปี คุณต้องออมถึงเดือนละ 6,300 บาท เพื่อให้มีเงินครบ 1 ล้านบาท เมื่อเกษียณ จะมีดอกเบี้ยเพียง 240,000 บาทเท่านั้นและเพื่อการวางแผนให้รัดกุม จำเป็นต้องรู้ว่า รายรับที่ได้มาจากแหล่งใดบ้าง เช่น
ข้าราชการ จะได้รับบำเหน็จ/บำนาญ และเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในขณะที่พนักงานบริษัทเอกชนนั้นจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม ตลอดจนสวัสดิการที่เบิกได้และความคุ้มครองของประกันสุขภาพรวมทั้งเงินออมที่ได้เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตการทำงานบวกกับผลประโยชน์จากการนำเงินไปลงทุน ตลอดจนในส่วนรายจ่ายที่เกิดขึ้นมักเป็นรายจ่ายประจำที่มักจะลดลงหลังเกษียณ ซึ่งประเมินกันว่า ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะเหลือประมาณ 70% – 80% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ เช่น ก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท หลังเกษียณจะเหลือประมาณ 21,000 – 24,000 บาท แต่ยังไม่นับในส่วนค่ารักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มขึ้นตามวัย
ดังนั้น ถ้าเริ่มต้นในการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าเสียตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้คุณสามารถประมาณได้ว่า ในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ และค่าใช้จ่ายรายการใดจะลดลงหรือหมดไป เมื่อเกษียณแล้ว
ดังนั้นหลักที่ควรคำนึงถึงมี 3 ประการคือ
- หมดหนี้ ในแต่ละครอบครัวอาจจะมีหนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นการจัดการหนี้ควรเริ่มด้วยการ หยุดก่อหนี้เพิ่ม พร้อมกับปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย ตรวจยอดหนี้ที่มีและนำไปต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอลดค่าผ่อนในแต่ละเดือนให้น้อยลง ซึ่งก็จะมีผลต่อดอกเบี้ยลดตามไปด้วย จากนั้นเลือกจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงที่สุด และรักษาวินัยแบบนี้ต่อไป
- มีออม การออมเงินไม่เคยทำร้ายใคร หากแต่การไม่ออมต่างหากทำให้คุณลำบากที่สุด ยิ่งเป็นช่วงวัยใกล้เกษียณการออมเงินก็ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
- ลงทุนเพิ่ม การไม่เพิ่มพูนทรัพย์สินที่มีอยู่ย่อมทำให้เงินออมที่มีร่อยหรอลง ดังนั้น การมองหาช่องทางการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินออมของเราให้มีค่าเพิ่มขึ้น โดยแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ
ข้อคิด แผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
-
การออมเงิน
การออมเงินให้ประสบความสำเร็จ ควรเริ่มจากการกันเงินส่วนหนึ่งไว้ออม ส่วนที่เหลือค่อยนำไปใช้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ ควรมีบัญชีเงินออมอย่างเดียวที่ไม่สามารถเบิกถอนได้ กำหนดตารางการออมอย่างมีวินัย พร้อมทั้งเปรียบเทียบหาสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด และยิ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์การออมเงินจากสถาบันการเงินสำหรับผู้สูงอายุ/วัยเกษียณมีมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
สูตรคำนวณการออมง่าย ๆ คือ ประมาณค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ (70% ของค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน*) x 12 เดือน จะเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี และคูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ
เช่น (70% × 15,000*) x 12 เดือน x 20 ปี = 2,520,000 บาท
ข้อคิด ออมเงินวันละนิดเพื่อชีวิตที่สดใส
-
การลงทุน
การลงทุนที่ดีที่สุดคือ การเริ่มลงทุนในความรู้ ก่อนคิดลงทุนทำสิ่งใดด้วยเงินออมที่มีอยู่อย่างจำกัด ควรรอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยควรคำนึงถึง 4 ข้อต่อไปนี้คือ
- ควรรู้ว่า การลงทุนแต่ละอย่างมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
- รู้ว่า ปัจจัยอะไรทำให้การลงทุนนั้นประสบความสำเร็จ
- ผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้ที่สามารถคาดการณ์ผลกำไรเกิดขึ้นในอนาคตของสิ่งที่ตัวเองลงทุนไว้
- รู้เท่าทันจิตใจตัวเองว่า การลงทุนที่มุ่งหวังเพียงกำไร การสูญเสียจะเกิดขึ้นทันที
ข้อคิด การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
เพิ่มความมั่นคงให้ชีวิต วัยหลังเกษียณ ทำประกันผู้สูงอายุ เจ็บป่วยเมื่อไหร่ ก็อุ่นใจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก