เจ้ฟ้าได้รับกิจการขายข้าวมันไก่และก๋วยเตี๋ยวเป็ดสืบต่อมาจากอาม่าเสียมยิ้น ที่ร้านเป็นตึกแถวสองห้อง อยู่ริมถนนใหญ่ นับว่าเป็นทำเลที่ดีเยี่ยมทำเลหนึ่ง วันหนึ่งขายได้ประมาณ 6000 – 8000 บาท เดือนหนึ่งก็มียอดขายราวสองแสนบาท แต่เชื่อไหมว่า เจ้ฟ้าไม่มีเงินเก็บ แถมยังต้องหมุนเงิน โยกไปจ่ายค่านั่น ค่านี่ไม่เว้นแต่ละวัน เจ๊ฟ้าตื่นตีสี่ทุกวัน ลุกขึ้นมาเปิดร้านแต่เช้า แต่เขารู้สึกว่า คุณภาพชีวิตแย่มากๆ ชีวิตของแม่ค้าที่มียอดขายสองแสนบาท เป็นแบบนี้ได้อย่างไร ต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ เราลองเจาะเข้าไปดูระบบการเงินของเจ้ฟ้ากัน
การจะดูเรื่องของการจัดการเงิน สิ่งแรกคงหนีไม่พ้นขอดูรายรับรายจ่ายประจำวัน
ปรากฏว่าเจ้ฟ้าไม่ได้ทำ เจ้เขาไม่เคยทำบัญชีเลย เขาได้แต่กะเอา แล้วสรุปว่า ไม่มีเหลือเก็บหรอก หมุนเงินไปวันๆ สิ้นเดือนมีจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ก็ดีแล้ว เจ้เขาบอกว่า ค่าไฟเดือนละ 10000 บาท ค่าน้ำเดือนละ 2400 บาท ค่าโทรศัพท์ประมาณเดือนละ 1000 บาท ค่าลูกจ้างเดือนละ 27000 บาท รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายประจำเดือนอยู่ที่ประมาณ 50000 บาท ขายได้ 200000 บาท ก็ยังมีเงินเหลืออีก 150000 บาท แล้วเงินแสนกว่าตรงนี้หายไปไหน เจ้ฟ้าบอกว่า ต้นทุนของร้านส่วนใหญ่หมดไปกับการซื้อกับข้าว ซื้อเป็ด ซื้อไก่ เป็นต้นทุนในการประกอบอาหาร แต่เท่าที่เรารู้มา ร้านอาหารจะมีส่วนต่างกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะอยู่ที่ 30 % ยอดขายสองแสนก็ควรจะมีกำไรประมาณ 60000 บาท ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แล้วเงินเจ้ฟ้าหายไปไหนหมด มันมีรอยรั่วตรงไหน
เจ้ฟ้าเล่าต่อว่า ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่อยู่กัน 12 คน ก็จะมีน้องชาย น้องสะใภ้ และหลานๆ ซึ่งกินอยู่ภายในบ้านทั้งหมด ทั้ง 12 คนนี้ไม่มีใครมาช่วยทำร้านเลย จึงต้องจ้างลูกจ้างมาล้างจาน มาเสริฟอาหาร แต่หลานๆบางคนเขาก็มีงานทำ ออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ไม่เคยที่จะช่วยค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินค่าอยู่เจ้ฟ้าใช้เงินของร้านออกทั้งหมด พอเจ้ฟ้าเล่ามาถึงตรงนี้เราก็พบรอยรั่วขนาดใหญ่แล้ว แสดงว่าเจ้ฟ้าใช้เงินของร้านปนกับเงินส่วนตัว คิดดูง่ายๆ ค่าข้าวที่ต้องเลี้ยงดูคนทั้ง 12 คน วันหนึ่ง 3 มื้อ ก็ตกราว 800 บาท ค่ากินทั้งบ้านเดือนหนึ่งก็เป็นเงิน 24000 บาท บวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์อีกเดือนละ 13400 บาท รวมเป็นเงินที่ใช้จ่ายประจำบ้าน 37400 บาท หักลบกับเงินกำไร 60000 บาท ก็ยังเหลือเงินประมาณ 22600 บาท แล้วทำไมเจ้ฟ้าถึงบอกว่า ไม่มีเงินเหลือเก็บ
ลองเจาะลึกเข้าไปอีก เจ้ฟ้าบอกว่าที่ร้านขายน้ำอัดลมด้วย รับขนมหวานมาขายด้วย แต่ไม่ได้กำไรหรอก เพราะคนที่บ้านกินกันวันละ 5 – 6 ขวด ก็เข้าเนื้อแล้ว แล้วยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องวันตรุษจีน งานเลี้ยงที่ต้องใส่ซอง ไหว้เจ้า ทำบุญ ที่จะมีมาเรื่อยๆในแต่ละเดือน และที่สำคัญเจ้ฟ้าชอบซื้อหวยใต้ดินงวดหนึ่งสองสามพันบาท เดือนหนึ่งมีสองงวดก็เป็นค่าหวย 5000 บาท ไหนจะเป็นค่ายาค่าหมอที่คนในบ้านป่วย เจ้ฟ้าก็ต้องเอาเงินในร้านจ่ายค่าหมอค่ายา คิดคร่าวๆแล้วก็คงไม่เหลืออย่างที่เจ้เขาว่า
ข้อผิดพลาดใหญ่ๆของเจ้ฟ้าเลยก็คือ เจ้ฟ้าเอาเงินของร้านมาปนกับการใช้ชีวิตส่วนตัว และหาเลี้ยงคนทั้งบ้าน
เจ้ฟ้าเคยบ่นว่าอยากเปลี่ยนอาชีพที่สบายกว่านี้ เพราะอาชีพนี้ตื่นเช้าทำงานหนัก สุขภาพจิตย่ำแย่เพราะเงินไม่พอใช้จ่าย จริงๆแล้วกำไรที่ได้จากร้านเป็นตัวเลขที่อยู่ได้สบายๆ เพียงแต่เจ้ฟ้าต้องจัดการการเงินของร้านใหม่ แยกบัญชีการใช้จ่ายออกมาให้ชัดเจน ว่าอันไหนเป็นของร้าน อันไหนที่คนในบ้านต้องช่วยกันประหยัดหรือช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินค่าอยู่บ้าง คนที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องแบ่งเงินเดือนมาช่วยทางร้าน ลองคิดว่าถ้าตัวเองต้องออกไปอยู่ที่อื่น อย่างน้อยก็ต้องเสียค่าเช่าบ้าน เสียค่าน้ำค่าไฟเอง ต้องซื้อข้าวกินเอง ต้องมีสำนึกในการช่วยเหลือส่วนรวมบ้าง ไม่ใช้ได้เงินเดือนมาแล้วก็เก็บเอง รับไปเงินเดือนไปเต็ม แล้วก็นำเงินนั้นไปใช้ซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย บำเรอความสุขให้ตัวเอง ที่บ้านจะหมุนเงินเหนื่อยยากแค่ไหนก็ไม่เหลียวแล เจ้ฟ้าต้องใจแข็งอย่าเห็นแก่ญาติมากเกินไปเพราะในท้ายที่สุดคนที่แย่ก็คือเจ้ฟ้าเอง