ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บุคคลที่นักลงทุนติดต่อด้วยในการโทรสั่งซื้อหรือขายทุกครั้งและเรียกกันติดปากว่าโบรกเกอร์นั้นก็คือ พนักงานฝ่ายการตลาดประจำบริษัทนายหน้าค้าหุ้นหรือมาร์เก็ตติ้่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงคนกลางในการซื้อขายเข้าระบบของตลาดหลักทรัพย์ สามารถให้คำแนะนำการลงทุนต่อลูกค้าตลอดจนบริการเรื่องธุรกรรมต่าง ๆ แต่ในหลักการแล้วไม่ได้รับมอบอำนาจให้ตัดสินใจซื้อขายหุ้นแทนลูกค้า
ความเคลื่อนไหวเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังพิจารณาเกณฑ์ให้ โบรกเกอร์ตัดสินใจแทนลูกค้า ได้นั้นเป็นที่จับตามองกันมาก โดยเฉพาะกระแสความวิตกกังวลว่าจะเกิดความเสียหายมากมาย ต้องรอคอยฟังผลว่า โครงการฝากหุ้นไว้กับมาร์เก็ตติ้งจะออกหัวออกก้อยอย่างไร
ถาม ความน่าเชื่อถือของมาร์เก็ตติ้งหุ้นมากน้อยแค่ไหน
ตอบ มาร์เก็ตติ้งได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานฝ่ายการตลาดประจำโบรกเกอร์ มีหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุน โดยสอบผ่านได้รับอนุญาตเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนจาก ก.ล.ต. ซึ่งบังคับให้ต้องอบรมเป็นประจำทุก 2 ปี มาร์เก็ตติ้งไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีด้านการเงิน การลงทุน หรือเศรษฐศาสตร์ อาจเรียนสาขาใดก็ได้ บางรายเก่งและรักษาประโยชน์ของลูกค้าเป็นอย่างดี ขณะที่บางรายอาจมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับการลงทุนเพียงพื้นฐานเท่านั้น นักลงทุนต้องไม่ไว้ใจมาร์เก็ตติ้งมากเกินไป
ถาม มาร์เก็ตติ้งแนะนำให้ลูกค้าซื้อ-ขายได้กำไรทุกครั้งไปหรือไม่
ตอบ มาร์เก็ตติ้งมีหน้าที่ซื้อขายหุ้นตามคำสั่ง โดยลูกค้าต้องระบุทั้งชื่อหุ้น จำนวนและราคา สามารถให้คำแนะนำได้ตามความรู้หรืออ่านบทวิเคราะห์หุ้นของโบรกเกอร์มาอ้างอิงแล้วแนะนำลูกค้าให้ซื้อหรือขายในราคาที่เหมาะสม หากถูกจังหวะก็ได้กำไร หากเกิดขาดทุนเสียหายแล้วใครจะรับผิดชอบจะหาทางออกกันอย่างไร
ถาม มาร์เก็ตติ้งจะได้อะไรจากการตัดสินใจลงทุนแทนลูกค้า
ตอบ อาชีพมาร์เก็ตติ้งไม่มีเงินเดือนประจำ รายได้หลักมาจากค่านายหน้าซื้อขายหุ้น ยิ่งลูกค้าซื้อขายบ่อย ๆ ลงทุนเงินจำนวนมาก มาร์เก็ตติ้งก็จะพลอยหารายได้จากค่าคอมมิสชั่นมากขึ้นตามไปด้วย สร้างแรงจูงใจให้แนะนำลูกค้าซื้อขายถี่เกินความจำเป็นเพื่อเก็งกำไรทำเงินให้ตนเอง หรือนำข่าวลือวงในมากระตุ้นให้ลูกค้าซื้อหุ้นเยอะเพื่อให้ได้ค่าคอมมิสชั่นเพิ่มขึ้น กรณีที่นักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่มีความชำนาญในการลงทุน ก็จะเข้าใจว่ามาร์เก็ตติ้งอยู่ในแวดวงมานานน่าจะมีรู้อะไรดี ๆ และหวังพึ่งให้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ แต่ความจริงอาจไม่ได้เกิดขึ้นเช่นนั้นเสมอไป
ถาม นักลงทุนเสี่ยงอะไรบ้างหากมอบให้มาร์เก็ตติ้งตัดสินใจซื้อขายแทน
ตอบ มาร์เก็ตติ้งที่เก่งและดีมีอยู่มาก หลายคนแนะนำให้ซื้อหรือขายได้ถูกจังหวะบ่อยและทำกำไรจากการลงทุนได้จริง จนเกิดความคุ้นเคยและความเชื่อใจกัน ลูกค้าจึงมอบให้มาร์เก็ตติ้งทำการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์แทน สามารถทำทุกอย่างทั้งจ่ายเงินในบัญชีเพื่อจ่ายค่าหุ้น เบิกถอนหลักทรัพย์ได้อิสระ แม้กระทั่งมอบสมุดบัญชีและเซ็นชื่อในใบถอนเงินแบบฟอร์มเปล่าไว้ เปิดโอกาสให้มาร์เก็ตติ้งกระทำความผิดหลายรูปแบบนำไปสู่ความเสียหายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อขายหุ้นบ่อยครั้งเพื่อเรียกค่าคอมมิชชั่น หรือใช้บัญชีของลูกค้าซื้อขายหุ้นให้ตัวเอง หรือซื้อขายหลักทรัพย์ให้ลูกค้ารายอื่น หรือปลอมแปลงเอกสารที่ส่งให้ลูกค้าเพื่อปิดบังว่ามีการนำหุ้นในบัญชีของลูกค้านั้นไปซื้อขายเอง ตลอดจนการยักยอกสินทรัพย์ของลูกค้า
ถาม หากเกิดปัญหากับมาร์เก็ตติ้งตรวจสอบได้อย่างไร
ตอบ การติดต่อส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์กับโบรกเกอร์นั้น นักลงทุนควรติดต่อตามช่องทางที่ถูกต้องตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด โดยการโทรเข้าเบอร์โทรศัพท์ที่โบรกเกอร์จัดไว้ให้เพื่อการติดต่อกับมาร์เก็ตติ้แต่ละคนเท่านั้น ซึ่งมีการบันทึกเทปการสนทนาทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ส่งคำสั่งซื้อขายจริง สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ นอกจากนี้ทางโบรกเกอร์จะส่งเอกสารยืนยันการซื้อขายทุกครั้ง มีสองทางคือเอกสารรายวันและรายเดือน หรือใบสรุปการซื้อขายประจำเดือน ให้ลูกค้าตรวจสอบว่าหลักทรัพย์ที่ซื้อขายนั้นถูกต้องครบถ้วน มีหลักทรัพย์ใดแปลกปลอมผิดปกติหรือไม่
ถาม การกระทำผิดของมาร์เก็ตติ้ง กรณีซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้ามีบทลงโทษอย่างไร
ตอบ มาร์เก็ตติ้งเทรดหุ้นในพอร์ตแทนเลย ถือเป็นเรื่องผิดเกณฑ์อย่างชัดเจน เพราะมีขอบเขตหน้าที่เพียงช่วยให้คำแนะนำให้กับลูกค้าได้เท่านั้น ทั้งนี้ลูกค้าต้องเป็นผู้ตัดสินใจคนสุดท้าย มาร์เก็ตติ้งจะรับมอบอำนาจการตัดสินใจซื้อขายหุ้นแทนโดยอ้างว่าลูกค้าให้ความยินยอมนั้นไม่ได้ ถือว่ามีความผิดและ ก.ล.ต. ลงโทษไปแล้วหลายราย ลูกค้าสามารถแจ้งความคดีอาญาได้อีกด้วย
ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนจากนักลงทุนกรณีเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมไม่สุจริตหลายครั้ง ทั้งความผิดเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขได้ บางกรณีเป็นความผิดร้ายแรง เช่น นักลงทุนปล่อยหุ้นทิ้งไว้ในพอร์ตโดยไม่ตรวจสอบรายการหุ้น จำนวนหุ้นและจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชี เปิดช่องให้มาร์เก็ตติ้งฉวยโอกาสใช้พอร์ตลูกค้าซื้อขายหุ้นเก็งกำไร เนื่องจากการปลอมแปลงเอกสารไม่ได้รับรายงานสรุปสถานะหุ้นในพอร์ตประจำเดือน กว่าจะทราบเรื่องก็เกิดความเสียหายมากแล้ว
การหารือเรื่องการออกเกณฑ์ดังกล่าว หากสุดท้ายแล้ว ก.ล.ต. ไฟเขียวให้โบรกเกอร์ตัดสินใจลงทุนแทนลูกค้าได้ ต้องมาดูกันว่าจะมีข้อกำหนดอย่างไรที่สามารถกำกับดูแลการให้บริการดังกล่าวแก่ลูกค้าได้อย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้จะหามาตรการดูแลและให้ความรู้นักลงทุน พร้อมกับปกป้องนักลงทุนมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายตรวจสอบภายในของโบรกเกอร์แต่ละแห่งต้องตรวจสอบกรณีพบบัญชีที่มีการซื้อขายผิดปกติ และส่งรายงานเอกสารให้นักลงทุนทุกเดือน
ด้านนักลงทุนต้องตรวจสอบสรุปรายงานการซื้อขายอย่างรอบคอบ ทั้งรายการหลักทรัพย์ จำนวนหุ้น และราคาว่าถูกต้องหรือไม่ หมั่นศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้ดีก่อนตัดสินใจ ไม่เช่นนั้นอาจพลาดโอกาสที่ดีในการลงทุนได้ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ได้รับหรือเสียผลประโยชน์ก็คือตัวนักลงทุนนั่นเอง แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือยังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอจากโบรกเกอร์ สามารถติดต่อร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของ ก.ล.ต. โทรศัพท์ 0-2263-6000 และอีเมล์ info@sec.or.th
แหล่งข้อมูล
- สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย (www.efinancethai.com -14 ม.ค. 59)
- รายการ Inside ก.ล.ต. (www.sec.or.th/TH/Pages/Information/pagelink%20inside/inside7-9.aspx)
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (www.start-to-invest.com/webedu/content.html;jsessionid=473335C56D56BB6F6BAB96850E7B2DA8?menu_id=323)
- SETTALK (http://settalk.blogspot.com/2012/05/blog-post.html)
- เล่นหุ้นให้รวย(http://thailworld.blogspot.com/2012/10/10_22.htm
l)