ปัจจุบันการมีลูก 1 คนนั้นมีค่าใช้จ่ายมากมาย ก่อนที่เขาจะคลอดออกมาทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีค่าใช้จ่ายมากมาย แต่ระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือนับตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ทราบว่ามีลูกแล้วก็ต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาตลอด (เรียกได้ว่าตั้งแต่ตรวจด้วยอุปกรณ์ตรวจครรภ์) หลังจากคุณพ่อคุณแม่ได้เห็นเครื่องตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด ก็เป็นการเริ่มต้นของการดูแลเจ้าตัวน้อยทันที เพราะหลังจากที่รู้ว่ามีการตั้งครรภ์คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรีบไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล จากประสบการณ์ของผู้เขียนกว่าจะทราบว่าตั้งครรภ์ก็มีอายุครรภ์ผ่านมาถึง 5 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ดังนี้
อ่านเพิ่มเติม : เตรียมตัวเพื่อ อนาคตลูก อย่างไร เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
-
ค่าหมอที่จะตรวจประจำจนกระทั่งคลอดลูก
สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ผู้เขียนไปฝากครรภ์แต่ละครั้งที่หาจะมีค่าหมอประมาณ 700 บาท มีค่าบริการทางการแพทย์อีกเล็กน้อย และค่ายา โดยคุณหมอจะจ่ายยาแคลเซียมและยาโฟลิคเป็นประจำ เพราะต้องกินทุกวันวันละ 1 เม็ด แต่ละปีจะมีค่าใช้จ่ายเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 10% ช่วง 1 – 7 เดือน หาหมอเดือนละ 1 ครั้ง (ค่าใช้จ่ายต่อครั้งจะอยู่ประมาณ 2,000 บาทนิด ๆ) เดือน 8 ของการตั้งครรภ์ จะหาหมอ 2 อาทิตย์ 1 ครั้ง (ทุกครึ่งเดือน) และเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะหมออาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะต้องตรวจอย่างกระชั้นชิด พร้อมดูตำแหน่งของเด็กและปริมาณน้ำคร่ำ (อ้างอิงราคาจากโรงพยาบาลย่านสุขุมวิทซอย 1 ปี 2015)
สำหรับค่าบริการเสริมนอกเหนือจากคุณหมอสูติที่เราหาเป็นประจำแล้ว จะมีค่าหมอผู้เชี่ยวชาญพิเศษนั่นคือ คุณหมอรังสี (อัลตราซาวน์) โดยจะมีค่าหมอเพิ่มเติมอีก 2,500 บาท และค่าอ่านฟิล์มในแต่ละครั้งประมาณอีก 2,500 บาท เช่นกัน แต่บางกรณีที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพมาก สามารถประหยัดค่ายาได้โดยซื้อในครั้งแรกเพื่อดูยี่ห้อ และรอบต่อ ๆ ไปขอคุณหมอว่าไปซื้อยาในแหล่งขายส่งย่าน รพ. ราชวิถี (แถว ๆ อนุสาวรีชัยสมรภูมิ) นอกจากนี้เมื่อถึงเวลาเข้าเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะให้ตรวจภาวะเบาหวานของคนตั้งครรภ์ ก็จะมีค่าใช้จ่ายพิเศษอีก แต่ถ้าไม่ได้เป็นเบาหวานก็โชคดีไป เพราะถ้าตรวจแล้วค่าการตรวจเกินมาตรฐาน ก็ต้องไปหาหมออายุรกรรมด้านเบาหวาน และนักโภชนาการเพื่อแนะนำการกิน โดยต้องลดแป้ง เน้นการกินโปรตีนและผักเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมคือเครื่องเจาะน้ำตาล (ราคาประมาณ 3,000 บาทนิด ๆ) โดยไปซื้อที่แถว รพ.ราชวิถีเช่นกัน พร้อมกับซื้อแผ่นตรวจ เพื่อวัดค่า หลังจากนั้นคุณแม่ต้องเอาใจใส่ในการจดบันทึก วันละ 3 – 4 ครั้ง มีทั้งเจาะก่อนกินข้าว และ หลังกินข้าว 1 – 2 ชั่วโมง และนำไปปรึกษาแพทย์เพื่อดูว่าหลังการควบคุมอาหารแล้วดีขึ้นมั้ย ถ้าดีขึ้นก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ดีต้องรักษากินยา ก็จะมีค่าหมอค่ายาเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ในการตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์ถ้าคุณแม่อายุต่ำกว่า 35 ปี ก็จะมีค่าการตรวจประมาณเกือบ ๆ 10,000 บาท แต่สามารถตรวจละเอียดถึงขึ้นดีเอ็นเอ เพื่อเจาะลึกว่าเด็กมีความผิดปกติหรือไม่ให้ไปถึงดีเอ็นเอเด็ก จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 30,000 บาทนิด ๆ โดยต้องส่งเลือดไปตรวจที่ต่างประเทศและส่งผลกลับมา
สำหรับค่าผ่าคลอดก็จะมีตั้งแต่ 129,000 บาท โดยประมาณ (ปี 2016 โรงพยาบาลย่านสุขมวิทซอย 1) แต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชนอื่น ๆ ก็จะมีราคาลดหลั่นลงไปอีกนิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่ก็จะเข้าใกล้ 1 แสนบาทแล้ว (นอนพัก 4 วัน 3 คืน)
-
ค่าอาหารการกิน
เนื่องจากคุณแม่ต้องกินอาหารดี ๆ เพื่อลูกน้อย จึงต้องคำนึงถึงคุณภาพและความสะอาด ในกรณีที่ทำอาหารเองก็ต้องเลือกยี่ห้อที่มีคุณภาพ หรือไร้สารพิษ (ราคาก็จะสูงตามไปด้วย) หรือเมื่อออกไปกินนอกบ้านก็ต้องเลือกร้านอาหารที่ดีสะอาด มีที่นั่งปลอดภัยกับคุณแม่
-
ค่าชุดคลุมท้อง เสื้อผ้าทำงานสำหรับคนท้อง หรือ ชุดคลุมให้นม
เมื่อคุณแม่ท้องเริ่มโตมากขึ้นทำให้ต้องมีการซื้อเสื้อผ้าใหม่เพื่อความสบายในการสวมใส่ ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ทั้งกางเกงขายาวสำหรับคนท้องที่จะมีขนาดยื่นด้านหน้าราคาถ้าไม่ลดจะอยู่ที่ประมาณ 1,999 บาท แต่ถ้าคุณแม่โชคดีไปช็อปช่วงลดราคากลางปีหรือปลายปีอาจจะลดราคา 50% เหลือ 499 บาท ผู้เขียนเองชื่นชอบยี่ห้อ H&M แนะนำให้ไปซื้อสาขาใหญ่ จะมี section Mama สำหรับคุณแม่โดยเฉพาะ ส่วนชุดให้นมแม่ (ที่มีผ่าหน้าซ่อนด้านใน) สามารถนำมาใส่ช่วงท้องเริ่มโตได้ และหลังคลอดก็ใส่ได้อีกด้วยราคามีโปรโมชั่นแบบซื้อ 3 แถม 1 ก็มีหรือราคาประมาณ 499 – 1,290 บาท ก็มี สามารถซื้อได้ตามแฟนเพจชุดคลุมท้อง
-
ค่าเดินทางไปทำงานหรือซื้อของ
คุณแม่ช่วงไตรมาศสุดท้าย (อายุครรภ์ 7 – 9 เดือน) อาจจะเดินไม่ไหว จำเป็นต้องให้คนขับรถส่วนตัวไปส่งที่ทำงาน หรือนั่งรถแท็กซี่ รถ Uber หรือ Grab Taxi อาจจะไปเบียดเสียดกับผู้คนบนรถเมล์รถไฟฟ้าไม่ไหว เทคนิคควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลารถติดอาจจะขอออกจากที่ทำงานเร็วขึ้นเพื่อนหลีกเลี่ยงช่วงรถหนาแน่น หรืออาจจะขออนุญาตที่ทำงาน Work from Home
ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ขอให้ทำใจให้สบายไม่เครียด พยายามมีความสุขให้มากที่สุดพยายามหาคลิปตลกมาดูสร้างเสียงหัวเราะให้กับตัวเองทุกวัน รวมทั้งออกกำลังโดยการเดินผ่อนคลาย กำหนดลมหายใจ กินอาหารอร่อย ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุด ขอให้คุณแม่พักผ่อนให้มากด้วยเช่นกัน นอนหลับพักผ่อนเยอะ ๆ เก็บแรงไว้เพื่อเลี้ยงเจ้าตัวเล็กที่คลอดออกมา เพราะหลังจากคลอดแล้วคุณแม่ไม่ได้พักไปอีกนานเลยค่ะ
ผู้เขียน: