“If you don’t risk anything, you risk even more.” – Erica Jong
หมายความว่า ถ้าคุณหวาดกลัวเกินไปที่จะลงมือลองทำสิ่งใหม่ ๆ อาจจะด้วยเพราะกลัวที่จะทำผิดพลาด หรือ กลัวความล้มเหลวที่อาจจะเกิดขึ้นก็ตาม คุณไม่ได้แค่พลาดโอกาสของการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเท่านั้นนะ แต่คุณยังพลาดจากความเป็นไปได้ที่สิ่งนั้นจะประสบความสำเร็จอีกด้วยค่ะ
ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่มหาเศรษฐีระดับโลก Yanai Tadashi เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Uniqlo ได้เคยสอนเคล็ดลับความสำเร็จของเขาไว้ว่า “คนเราชนะ 1 แพ้ 9 นั้นเป็นเรื่องธรรมดา”
สำคัญที่เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากข้อผิดพลาดนั้น ๆ ที่เกิดขึ้นต่างหากค่ะ แม้ว่าธุรกิจที่สร้างชื่อและสร้างรายได้มหาศาลให้กับ Yanai คือธุรกิจเสื้อผ้า Uniqlo แต่เส้นทางของเขาก็เคยเจอกับความล้มเหลวมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเปิดร้านเสื้อผ้านักกีฬาแต่ก็ต้องพับเสื่อเปลี่ยนแผนใหม่ไปหลังจากลงทุนทำธุรกิจนี้ไปได้ไม่เกินหนึ่งปีด้วยซ้ำ หรือจะเป็นการลองทำกิจการอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่น การทำธุรกิจขนส่งผัก แล้วเขาก็ต้องล้มเลิกไปเพราะไม่สามารถทำรายได้อย่างที่เขาตั้งเป้าเอาไว้ค่ะ หรือแม้กระทั่งตอนที่เขาประสบความสำเร็จจากกิจการร้านเสื้อ Uniqlo ที่เติบโตได้ดีในประเทศญี่ปุ่น Yanai ก็ดำเนินแผนการขยายสาขาร้านเสื้อผ้าไปยังประเทศอังกฤษ ซึ่งเขาทำการเปิดสาขาไปเป็นจำนวนทั้งหมด 21 สาขาด้วยกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมตัดสินใจปิดตัวลงเหลือเพียง 5 สาขาเท่านั้นในระยะเวลาสั้น ๆ แค่ 2 ปีค่ะ ถามว่าการลงทุนในแต่ละครั้งของ Yanai นั้นแบกรับความเสี่ยงไว้บ้างหรือเปล่า คำตอบก็คือเสี่ยงมากค่ะ
แต่ถ้าเขาไม่ตัดสินใจทำอะไรลงไป หรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลงมุมองรอบด้านของตนเองเลย ทุกวันนี้เขาก็อาจจะยังนั่งเย็บเสื้อสูทในร้านเล็ก ๆ ของพ่อของเขา งานที่เขาไม่ได้ชอบและเขาก็คงจะไม่ได้เป็น มหาเศรษฐีระดับโลก ที่ได้ทำในงานที่ตนเองรักเหมือนอย่างในวันนี้ก็ได้นะคะ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับยูนิโคล่ >>> ข้อคิดเรื่อง การลงทุนทำธุรกิจ จากแบรนด์เสื้อผ้าดัง Uniqlo <<<
อีกตัวอย่างของคนดังคนรวยที่ไม่เคยกลัวและไม่เคยอายในบทเรียนชีวิตของตัวเองเลยสักนิด อย่างเจ้าของอาณาจักร Virgin ที่ขื่อ ริชาร์ด แบรนสัน
ครั้งหนึ่งเด็กชายแบรนสันเคยถูกคุณครูใหญ่ของเขากล่าวไว้ว่า “ถ้าริชาร์ด แบรนสันไม่เข้าคุก เขาก็จะต้องเป็นมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแน่นอน” และในการทำธุรกิจระยะแรก ๆ ของเขากับงานขายแผ่นเสียงแข่งกับยักษ์ใหญ่ที่ชื่อ MHW แบรนสันตัดสินใจลดราคาขายแผ่นเสียงให้ถูกกว่าผู้ขายรายใหญ่ถึง 15% พร้อมด้วยบริการส่งตรงถึงบ้านผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งทำให้เขากวาดรายได้จากธุรกิจชิ้นนี้ไปก้อนโต แต่ก็พลาดท่าไปเจอกับการหลบเลี่ยงหนีภาษี เป็นเหตุให้เขาต้องถูกจำคุก 1 คืน และพ่อแม่ต้องวิ่งวุ่นนำบ้านของตัวเองไปจำนองเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ถึง 60,000 ปอนด์ หรือก็เท่ากับเงินจำนวน 3,120,000 บาทค่ะ ซึ่งทั้งแบรนสันและเพื่อน ๆ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาปลดหนี้ก้อนนี้ให้สำเร็จในช่วงเวลา 3 ปีค่ะ ความเสี่ยงของแบรนสันในครั้งนั้นอาจจะนำมาสู่ความผิดพลาดและความเสียหายต่อชื่อเสียงและยังเป็นหนี้อีกก็จริง
แต่ที่สำคัญกว่าคือการที่เขาได้เรียนรู้ว่า การโกงภาษีนั้นมีแต่จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้ตัวเอง และในขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งของการเป็นหนี้ในครั้งนั้น ก็ทำให้แบรนสันได้รับแรงกระตุ้นให้มุงานหนักและกระจายความเสี่ยงไปในกิจการด้านอื่น ๆ ด้วย จนทำให้ทุกวันนี้ ธุรกิจภายใต้อาณาจักร Virgin ของเขามีทั้งหมด 400 กว่าบริษัท ครอบคลุมทั้งสายการบิน, สื่อวิทยุ, นิตยสาร, ไนต์คลับ, ร้านอาหาร, เครื่องสำอาง, ร้านเสื้อผ้า, เครื่องดื่ม และ สินค้าแฟชั่นอีกมากมายด้วยค่ะ
ทัศนคติและวิธีคิดจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นต่างหากที่สำคัญ ถ้าเรามองว่าความผิดพลาดไม่ใช่ปมเชือกที่มัดตัวเราเอาไว้ แต่เป็นเหมือนตำราที่สอนให้เรารู้ว่าเราจะทำอย่างไรให้เชือกเส้นนี้ไม่มีปมแบบเดิมขึ้นอีกแน่นอน นั่นแหละคือการืที่เราได้รับโอกาสในการเรียนรู้ค่ะ
สำหรับผู้ที่กล้าเสี่ยงจนได้รับผลตอบแทนงาม ๆ เกินคาดอย่าง Jeff Bezos เจ้าของร้านหนังสืออนไลน์ชื่อดัง Amazonนั้น
ก็นับเป็นอีกคนที่กล้าตัดสินใจก้าวออกจากความมั่นคงทางการเงินในตำแหน่ง Vice President มาเปิดร้านหนังสือออนไลน์ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ทั้ง ๆ ที่นายของเขาเองก็ยังเคยเตือนเขาด้วยว่า “ไอเดียเปิดร้านหนังสือออนไลน์แบบนี้ก็ดีนะ แต่เหมาะกับคนที่ยังไม่มีงานดี ๆ ทำมากกว่า ไม่ใช่อย่างคุณ” แต่แล้วเบซอสก็เป็นผู้เปิดตำนานการขายของผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซให้โลกได้รู้จักมากขึ้น ถ้าหากเบซอสไม่ใช่ความกล้าในการที่จะออกมาทำอย่างที่ใจคิดอย่างที่เขาเชื่อมั่น และคล้อยตามในแบบที่นายของเขาได้แนะนำไว้ในวันนั้น มาวันนี้โลกก็อาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าของออนไลน์มากนัก และเขา Jeff Bezos ก็อาจจะยังคงเป็นผู้บริหารที่กินเงินเดือนและเงินปันผลอยู่ก็ได้ ไม่ใช่ Jeff Bezos ผู้ที่มีรายได้มากถึง 80,000 ล้านดอลล่าร์ และมีพนักงานร่วมงานด้วยมากกว่า 56,000 คน และทำให้เขาเป็น มหาเศรษฐีระดับโลก ที่ Fortune จัดให้ติด 1 ใน 12 สุดยอดผู้ประกอบการแห่งยุคสมัยด้วยค่ะ