ลักษณะนิสัยของบุคคลที่จะประสบความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากความมั่นใจในตัวเอง ความเชื่อมั่นในความคิดและสัญชาตญาณว่าสิ่งใดใช่ สิ่งใดไม่ใช่ แต่ก็มีบุคคลนักธุรกิจระดับสูงบางรายที่พลั้งพลาดตกม้าตายจากความมั่นใจไม่มีลิมิตของตนอย่างที่ได้เล่าไปแล้วบางส่วนในตอนที่แล้ว ทั้งความมั่นใจจนประมาทและไม่สามารถแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว ทำให้ขาด sense of emergency ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทกำลังถูกลบเหลี่ยมและเสียแชมป์ส่วนแบ่งการตลาดทิ้งห่างคู่แข่งไปอย่างน่าเสียดาย
จากกรณีของ Blackberry และ iPhone ถัดมาก็คือความมั่นใจในวิสัยทัศน์ของตนเองสูงเกินไปจนคิดว่าตนสามารถจัดการทุกเรื่องทุกปัญหาได้ ทำให้เดินหมากผิดต้องหลุดออกจากตำแหน่งไป อย่างกรณีของอดีตผู้บริหารของยักษ์ใหญ่วงการไอที Yahoo นั่นเองค่ะ กลยุทธ์เตือนใจ รอยแผลทางธุรกิจที่เกิดจากความผิดพลาดของนักธุรกิจชั้นนำระดับโลก ยังคงสอนให้ผู้ประกอบการ และ นักบริหารรุ่นใหม่ได้ขบคิดและใช้เป็นตำรากันลื่นในสนามธุรกิจกันได้อยู่นะคะ
บาดแผลทางธุรกิจรอยที่ 3 เกิดจากการเสพติดอำนาจ
ในการบริหารงานให้ทีมมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ผู้ประกอบการน่าจะเคยได้ยินเรื่องการให้อิสระในการทำงานกับทีม, ให้โอกาสในการเสนอความคิดเห็น หรือ เปิดให้มีการ Brain Storming กันบ่อย ๆ เพราะมุมมองที่แตกต่าง ๆ จะทำให้งานไหลลื่นก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่ก็มีผู้บริหารระดับสูงบางรายที่ไม่ชอบการถูกท้าทายทางความคิด และมักจะปิดกั้นโอกาสของคลื่นลูกหลังไม่ให้ได้เติบโตสูงกว่าตน ด้วยการปัดคนเก่งเหล่านั้นให้พ้นทางก่อนที่จะขึ้นมายืนในจุดเดียวกัน บางคนอาจจะใช้วิธีส่งให้ไปทำงานที่เขาไม่ชอบ, ไม่ตรงกับความสามารถที่มี หรือ ให้ทำงานที่ไม่ได้คิดไม่ได้ตัดสินใจอะไรมากนัก
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัท CISCO เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นอดีต CEO ชื่อ John Chambers ขึ้นชื่อว่าเขามักจะกีดกันคนที่มีความสามารถสูง ๆ กลุ่มคลื่นลูกใหม่ที่ฉายแววโดดเด่นมีสิทธฺขึ้นแทนตำแหน่งเขาได้เป็นต้องถูกสกัดดวงดาว ไม่ว่าจะเป็น Mike Volpi Chalie Giancarlo หรือ Tony Bates แม้ว่า Chambers จะอายุเพิ่มมากขึ้นเข้าใกล้วัยเกษียณ แต่ความรู้สึกภาคภูมิใจในอำนาจที่มีรั้งให้เขาปล่อยไม่ลง การเสพติดอำนาจและตำแหน่งหน้าที่การงานของ Chambers กว่า 20 ปี ทำให้อดีตเพื่อนร่วมงานยังเอ่ยว่า ไม่มีวันที่ John จะยอมให้ใครในบริษัท CISCO ขึ้นมาแทนเขาได้แน่ ๆ
หรือ อีกหนึ่งกรณีก็คือ เรื่องราวของ Sandy Weill เขาเป็นอดีต CEO ของ Citigroup ธุรกิจในกลุ่มการเงินและการธนาคาร ว่ากันว่า Weill ได้กดดันให้ Jamie Dimon คนรุ่นใหม่มากความสามารถลาออกจากบริษัทในปี 1998 ซึ่งปัจจุบันนี้ Dimon ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท JP Morgan Chase และกลายเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลของวงการธุรกิจการธนาคาร ย้อนไปเมื่อปีค.ศ. 1998 ที่ Dimon ได้รับความสนใจและยกย่องจากคนส่วนใหญ่ในบริษัท Citigroup และมั่นใจด้วยว่าความสามารถของ Dimon น่าจะขึ้นมารับช่วงบริหารงานในตำแหน่ง CEO ได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Weill เองก็ใกล้เกษียณแล้ว ทั้ง Dimon และ Weill นั้นเคยทำงานร่วมกันและที่สำคัญคนทั้งคู่ยังจบการศึกษาจากสถาบันเดียวกันอย่าง Harvard แต่แล้วคนทั้งสองกลับต้องมาแตกคอกัน เมื่อ Weill ขอให้ Dimon เลื่อนตำแหน่งงานให้กับลูกสาวของเขา ซึ่ง Dimon ไม่เห็นด้วย จนท้ายที่สุด Dimon ก็ตัดสินใจโบกมือลาออกจาก Citigroup ไป ถัดมาจากนั้น Weill ก็ตัดสินใจลงจากตำแหน่งและส่งมอบงานให้กับอดีตทนายความมือหนึ่งของ Chunk Prince เข้ามาบริหารงานแทน นำมาซึ่งวิกฤตขั้นรุนแรงที่เกือบทำให้ Citigroup ล่มสลาย ในขณะที่ Dimon อดีตตัวเต็งหนึ่งของ Citigroup กลับขึ้นดำรงตำแหน่ง CEO ของ Bank One และต่อด้วยการเข้ามารับช่วง CEO ของ JP Morgan Chase จนในที่สุดก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานบริษัท
บาดแผลทางธุรกิจรอยที่ 4 เกิดจากการสร้าง Brand จากตัวตน
ซึ่งก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผิดซะทีเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็น Steve Jobs แห่ง Apple, Richard เจ้าพ่อสุดเกรียนจาก Virgin และ คุณตัน ภาสกร เจ้าตำรับชาเขียว ต่างก็ดึงพฤติกรรมและบุคคลิกของตนมาผสมลงในแบรนด์สินค้า และเป็นภาพลักษณ์ติดตัวประจำแบรนด์ที่ขายได้ ขายดี เป็นจุดเด่นที่แบรนด์อื่นไม่สามารถสร้างขึ้นมาแข่งได้ง่าย ๆ แต่กลยุทธ์การตลาดนี้จะแป๊ก ทันที ถ้าผู้บริหาร หรือ ผู้ประกอบการนำมาใช้โดยขาดการใส่ใจกับตัวองค์กร หรือ สื่อสารบุคลิกของตนกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปคนละทิศคนละทางค่ะ
เหมือนอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับแบรนด์เครื่องคอมพิวเตอร์ HP เมื่อ Carly Fiorina อดีต CEO ที่มุ่งมั่นกับการประชาสัมพันธ์ความเป็นตัวเองมากจนเกินไป และละเลยที่จะให้ความสำคัญกับสินค้าและเป้าหมายของบริษัท ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ของ HP ต่างก็รู้สึกว่า Fiorina นั้นเหมือนเป็นคนนอกที่ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือตัวบริษัทบ้างเลย ทั้ง ๆ ที่ตำแหน่งของเธอคือ CEO ผู้บริหารระดับสูง แต่กลับเลือกโปรโมทตัวเองด้วยการขึ้นปกนิตยสารที่เสนอแต่ภาพลักษณ์ของตัวเธอเองเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่าการกระทำของเธอไม่เพียงแต่กระทบต่อตัวเธอเอง แต่ยังสะท้อนมาถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ HP ไปด้วยค่ะ ดังนั้นถ้าผู้บริหาร หรือ ผู้ประกอบการอยากจะใช้กลยุทธ์รวมร่างไปกับแบรนด์ ก็ต้องจัดวางภาพลักษณ์ให้เหมาะสมแต่พอดีด้วยนะคะ