ถ้าภาษาอังกฤษคือภาษาสากลที่ผู้คนเลือกใช้สื่อสารกันทั่วโลก ของเล่นที่ควรได้รับการขนานนามว่าเป็นของเล่นที่มีภาษาสากลที่สุดก็น่าจะเป็น “Lego” ตัวต่อมหัศจรรย์ เพราะไม่ว่าเด็ก หรือ ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็สามารถเริ่มเล่นเลโก้ได้โดยไม่ต้องถามวิธีการเล่น เพราะรูปทรงของเลโก้ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นลักษณะคล้าย ๆ ก้อนอิฐสี่เหลี่ยมต่างสี ต่างไซส์ มีปุ่มเยอะบ้างน้อยบ้างคละเคล้ากันไป ทำให้ผู้เล่นสามารถเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรกับประสบการณ์ที่ได้พบเห็นออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ฝีมือตัวเอง ทำให้เลโก้คือของเล่นที่สามารถพลิกแพลงเป็นอะไรได้มากมายไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดขายที่เลอค่ามาก ๆ ของเลโก้
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1916 ช่างไม้ชื่อ Ole Kirk Kristiansen ประกอบธุรกิจงานเครื่องไม้โดยจะเน้นไปด้านเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ไม้, ของใช้ในบ้านอย่างบันได, แผ่นที่รองเตารีด, เก้าอี้นั่งตัวเล็ก ๆ และรวมถึงของเล่นเด็กที่ทำจากไม้ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปี ค.ศ. 1932 ทำให้ Ole นำเศษไม้มาประดิษฐ์เป็นตัวต่อออกมาขายซึ่งเขาได้ตั้งชื่อของเล่นไม้ชิ้นนี้ว่า “Lego”
คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาเดนมาร์กที่ว่า “Leg Goodt” หมายความว่า Play well หรือ เล่นได้สนุกดี และคำ ๆ นี้ยังมีความพ้องในภาษาละตินอีกด้วย หมายถึง “I assemble” หรือก็คือ “I put together” ที่ตรงกับวิธีการเล่นคือ “การนำมาประกอบเข้าด้วยกัน” ค่ะ
นอกจากความเป็นนักคิดนักประดิษฐ์แล้ว Ole ยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในการเป็นนักสู้นักพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ดีมากคนหนึ่ง สิ่งที่สะท้อนได้ดีก็คือคติพจน์ในการทำงานของเขาที่ถูกติดไว้ที่โรงงานของ Lego จนถึงปัจจุบันนี้ว่า
“Only the best is good enough” หรือก็คือ “ดีที่สุดเท่านั้น ถึงจะดีพอ”
และเรื่องที่สะท้อนเจตนาของ Ole ได้ชัดเจนก็คือ ความพิถีพิถันในงานของเล่นไม้ ซึ่งเป็นกฎตายตัวว่าจะต้องผ่านการเคลือบสีถึง 3 ชั้นด้วยกันทุกชิ้น คิดดูว่าในยุคสมัยนั้น งานฝีมือของเขาจะประณีตขนาดไหน ครั้งหนึ่งลูกชายของ Ole ชื่อ Godtfred Krik Kristiansen ได้เข้ามาร่วมงานที่บริษัท Lego ซึ่งตอนนั้น Godtfred เพิ่งจะอายุแค่ 12 ปีเท่านั้น เขาก็คิดว่าถ้าเคลือบสี 2 ชั้นจะสามารถประหยัดต้นทุนการผลิตได้ ดังนั้นเขาก็เลยทำการเคลือบแค่ 2 ชั้น เมื่อ Ole มาพบเข้าก็สั่งให้เขานำกลับไปเคลือบสีให้ครบและแพคลงกล่องใหม่เพียงคนเดียวเท่านั้น Ole ต้องการสอนให้ลูกชายของเขา เข้าใจเรื่องการรักษาคุณภาพสินค้านั้นสำคัญที่สุด ในปี ค.ศ. 1942 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อโรงงาน Lego ถูกไฟไหม้จนวอดไปหมด แต่ด้วยหัวใจนักสู้ Ole ก็สามารถกลับมาสร้างโรงงานขึ้นอีกครั้ง
ถัดมาไม่นาน บริษัท Lego ก็ได้สร้างปรรากฎการณ์ทางธุรกิจครั้งใหม่ขึ้นในปี ค.ศ. 1947 เมื่อบริษัทได้เทคโนโลยีเครื่องจักรฉีดพลาสติกเข้ามาใช้ในขบวนการผลิตของเล่นเด็ก ผลจากการพัฒนาการผลิตสินค้าในครั้งนั้น ทำให้ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี บริษัท Lego สามารถผลิตของเล่นออกสู่ตลาดได้มากกว่า 200 แบบ เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ. 1951 สัดส่วนในการผลิตของเล่นจากพลาสติกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตทั้งหมด และเป็นการสื่อสารทางการตลาดว่าเทรนด์การเล่นของเล่นทื่ทำมาจากพลาสติกจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต จนกระทั่งปีค.ศ. 1960 เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นกับโกดังเก็บของเล่นไม้สร้างความเสียหายมหาศาล ซึ่ง ณ เวลานั้น ของเล่นจากพลาสติกกำลังขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ทำให้บริษัท Lego ตัดสินใจปิดฉากสายการผลิตสินค้าของเล่นจากไม้และหันมาเน้นการผลิตของเล่นพลาสติกแทน
จุดเด่นที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจตัวต่อ Lego ได้เป็นอย่างดีคือการไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ อย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1963 Lego ก็เป็นผู้นำ Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) มาเป็นวัสดุในการผลิตตัวต่อแทนการใช้ Cellulose Acetate แบบเดิม เพราะเห็นข้อดีที่ว่าวัสดุรุ่นใหม่นี้มีความทนทานมากกว่า, หลากสีมากกว่า, ใช้เวลาในการผลิตสั้นกว่า และยังช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผลิตได้มากถึง 0.005 มม. เมื่อตลาดของเด็กเล็กขยายตัวกว้างขึ้น ในปี ค.ศ. 1967 แบรนด์ Lego ก็ไม่รอช้าที่จะจัด Lego ที่มีขนาดใหญ่กว่าแบบเดิมที่ผลิตอยู่ถึง 8 เท่า โดยให้มีขนาดกว้างและสูงกว่าขนาดปกติถึง 2 เท่า เพื่อเอาใจกลุ่มตลาดเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งขนาดใหม่ที่ผลิตออกมานี้ก็จะลดความเสี่ยงจากการที่เด็กเล็กหยิบของเล่นเข้าปาก และอาจจะเผลอกลืนลงคอ จนมาถึงปี ค.ศ. 1973 บริษัท Lego ก็รวมศูนย์สร้างเอกภาพของสินค้าด้วยการปรับโฉมโลโก้ LEGO ทุกรุ่นเป็นหนึ่งเดียวกันหมด ซึ่งก็คือโลโก้แบรนด์สินค้าแบบเดียวกับที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม >>> บทเรียน กลยุทธ์การตลาด ของแบรนด์ดัง <<<
ในปี 1986 ความสำเร็จได้ถูกส่งผ่านมายังทายาทรุ่นที่ 3 Kjeld และเขาก็ผลักดันให้ LEGO คือ 1 ใน 10 แบรนด์ของเล่นระดับโลกและเป็นแบรนด์สัญชาติยุโรปเพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นตกเป็นของแบรนด์สัญชาติอเมริกาและญี่ปุ่น
ปัจจุบันนี้ แม้ว่ารูปแบบการเล่นของเด็ก ๆ จะหันเหมาทางสินค้าไอทีกันมากขึ้น ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ LEGO ก็ยังเป็นแบรนด์ที่ปรับตัวได้เป็นอย่างดี ด้วยการออก LEGO MP3 เป็นตัวต่อ 8 ปุ่ม หรือ USB Memory Bricks ที่ใครเห็นก็รู้ว่าคือสัญลักษณ์ของ LEGO นับเป็นอีกแบบต้นแบบของกลยุทธ์การ ปรับตัวทางธุรกิจ ให้ทันกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมได้เป็นอย่างดีค่ะ