สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากกลไกทางเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราแทบทุกคน และแน่นอนว่าต้องส่งผลสะท้อนไปยังภาคธุรกิจ ในเมื่อกลุ่มลูกค้าให้ความสำคัญและหันไปพึ่งพาโลกดิจิตอลกันมากขึ้น จากสถิติล่าสุด คนไทยใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนเฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมงครึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลาดแชทแอพในประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการมากหน้าหลายตาขนทัพกันเข้ามาขายขนมหวานหว่านเสน่ห์งัดจุดเด่นมาเรียกร้องความสนใจจากคนไทยกันอย่างมาก
ในเมื่อประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกที่มีผู้ใช้งานแชทแอพมากที่สุดค่ะ จากผลการสำรวจทางการตลาดทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาทบทวนกลยุทธ์ทางการตลาดในยุคดิจิตอลเข้มข้นให้จริงจังกันมากขึ้น ซึ่งก็ยังมีแบรนด์สินค้าบางแบรนด์ที่อาจจะยังลังเลที่จะปรับตัวตามกระแสดิจิตอลมาร์เกตติ้งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อันที่จริงบทเรียนและเรื่องราวความสำเร็จ กลยุทธ์ความคิด ทางการตลาดที่ผ่านมาก่อนยุคดิจิตอลจะมาถึง ก็น่าจะสามารถนำมาย้อนนึกได้ว่า “การปรับตัว” ให้ทันโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปนั้นสำคัญอย่างไรบ้าง
อ่านเพิ่มเติม >>> กลยุทธ์การตลาด ทำยังไงให้คนจดจำ ! <<<
กลยุทธ์ความคิด แรกที่คุณควรจะเปิดขึ้นมาใหม่ก็คือ การไม่ยึดติดในรูปแบบเดิม ๆ
ทุกวันนี้หากแบรนด์สินค่าไหนยังเลือกใช้การตลาดการโฆษณาผ่านแผ่นพับกระดาษ หรือ ใบปลิวที่ยืนแจกบนสะพานลอย หรือ ตามประตูเข้าห้างดังต่าง ๆ ขอให้ลองคิดใหม่ว่าการตลาดแบบนั้นมันวันวานชัด ๆ หรือเปล่าค่ะ ภาพที่คนรับเอกสารแล้วเดินไปไม่กี่ก้าวก็ทิ้งลงถังขยะ คือเงินงบโฆษณาที่สูญเปล่าชัด ๆ ถ้ามีใครถามว่าอะไรคือตัวการสำคัญที่ทำให้แบรนด์ล่มจมได้ในยุคดิจิตอลที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คำตอบก็คือแบรนด์ที่ไม่เรียนรู้หรือเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลง ก็จะไม่เข้าใจสภาพตลาด และสุดท้ายก็จะถูกทิ้งไว้ด้านหลังห่างคู่แข่งที่วิ่งขึ้นหน้าออกไปเรื่อย ๆ ค่ะ
กรณีศึกษาเรื่องความล้มเหลวของการยึดติดที่ดีที่สุดและเป็นอมตะมานานก็คือ Kodak ที่ดื้อดึงอยู่ในรอบกรอบความชอบของตัวเองว่าฟิล์ม Analog ยังสามารถขายได้ โดยไม่ได้ดูความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ก้าวข้ามสู่ตลาดดิจิตอลไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องปิดฉากผู้ผลิตฟิล์มในตำนานไปอย่างน่าเสียดาย
กลยุทธ์ความคิด ที่ 2 คือ “กล้าเสี่ยงออกจากเซฟโซน”
เป็นปกติธรรมดาของคนเราที่เมื่อรู้สึกอบอุ่นใจในการทำอะไรสักอย่าง ก็อยากจะหยุดอยู่ที่นั่นเพื่อความปลอดภัยไปเรื่อย ๆ
แต่จุดบอดของ save zone ก็คือที่ ๆ ปลอดภัยคือที่ ๆ หยุดนิ่ง ไม่ได้ก้าวไปไหน แล้วทีนี้กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังแบบปลอดภัยแต่ไม่มีใครจดจำได้ค่ะ
เช่นเดียวกันกับแบรนด์ที่ไม่เปิดช่องทาง หรือ เปลี่ยนก้าวข้าม platform ที่ตนเองคุ้นเคยดีก็จะไม่รู้ว่าแบรนด์ตนจะไปได้ไกลแค่ไหน ความกลัวข้อผิดพลาดเป็นเรื่องปกติวิสัยของคนเรา แต่คุณน่าจะเคยได้ยินนะคะว่า “ผิดเป็นครู” ประสบการณ์คือบทเรียนที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้
“The only source of knowledge is experience.” – Albert Einstein “แหล่งความรู้มีหนึ่งเดียวเท่านั้นคือประสบการณ์”
แบรนด์ดังหลาย ๆ แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ได้ ก็เริ่มต้นจากการลองเสี่ยงและกล้าที่จะเป็นผู้สร้างความแตกต่าง อย่างเช่น แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังของไทยที่ดังไกลถึงเวทีโลก Red Bull กระทิงแดง เป็นแบรนด์ใจใหญ่ กล้าคิด กล้าทำ เป้าหมายมีไว้พุ่งชนจริง ๆ ความกล้าเสี่ยงในการสร้าง Brand Image ของ Red Bull ก็คือการตัดสินใจให้ Felix Baumgartner ดิ่งท้ามฤตยูในชั้นสตาร์โตสเฟียร์ เป็นการสร้าง Brand Awareness ที่ทำให้โลกตะลึ่งและจดจำ Red Bull ได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันหากในวันนั้นมีข้อผิดพลาดใด ๆ หรือ เกิดความสูญเสียจากการตลาดครั้งนั้น ภาพลักษณ์ของ Red Bull อาจจะติดลบไปเลยก็ได้ และนี่คือตัวอย่างของแบรนด์ที่กล้าฉีกรูปแบบการนำเสนอสินค้าและสามารถกระตุ้นความสนใจจากผู้บริโภคได้สำเร็จค่ะ
กลยุทธ์ความคิด ที่ 3 คือ “ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้รับ”
การปิดหูปิดตาจากข่าวสารความเป็นไปต่าง ๆ รอบตัวก็มีแต่จะทำให้คุณและแบรนด์ห่างไกลความสำเร็จออกไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต่างก็อยู่ในโลกสังคมดิจิตอลกันอย่างเลี่ยงไม่ได้แล้ว เปิดตารับข่าวสารต่าง ๆ อาจช่วยให้คุณและแบรนด์รอดจากวิกฤตต่าง ๆ ได้ไวขึ้น เป็นที่รู้กันว่า เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น มีแบรนด์จำนวนไม่น้อยเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างบริษัทกับลูกค้าขึ้นผ่านสื่อ Social Media ต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับแบรนด์สายการบินเมืองลุงแซม สายการบินที่สร้างรายได้สูงเป็นอันดับหนึ่งมาหลายสมัยและเพิ่งจะเสียตำแหน่งหล่นมาอยู่ที่ 3 ได้ไม่นาน United Airlines พลาดที่ไม่ได้ตอบสนองเสียงร้องเรียนของลูกค้าผ่านช่องทาง Social Media การละเลยที่จะรับฟังหรือตอบกลับไปยังลูกค้า ส่งผลให้ความขุ่นข้องใจของลูกค้าทวีมากขึ้นและทำให้ลูกค้าตัดสินใจอัดคลิปวีดีโอวิจารณ์สายการบินชื่อดังแห่งนี้และได้มีผู้เข้าชมไปมากถึง 12 ล้านครั้งแล้วด้วยค่ะ
จากจุดเล็ก ๆ ที่น่าจะแก้ไขได้ในวงแคบ ๆ กลายเป็นเรื่องที่ปิดไม่อยู่ ที่สำคัญก็คือ ภาพลักษณ์การให้บริการที่แบรนด์สร้างสั่งสมมานาน อาจจะเลือนลางไปได้ด้วยคลิปวีดีโอประสบการณ์ตรงของผู้ที่เคยใช้บริการ แลกกันแล้วไม่คุ้มค่าเลยนะคะ