คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าถ้าจะพูดถึงสุดยอดละครมหากาพย์จากช่อง HBO ณ เวลานี้ Game of Thrones คือซีรี่ย์ยอดนิยมที่ใครที่เผลอนึกสนุกเปิดมาดูจะไม่มีทางหยุด หรือ ตัดใจจากละครชุดแนวแฟนตาซีย้อนสมัยไปได้อย่างแน่นอนค่ะ สำหรับซีรีย์สุดคูลล์ของค.ศ. นี้ Game of Thrones เป็นผลงานการประพันธ์ของ George R.R. Martin ซึ่งซีรีย์นี้อยู่ในหนังสือชุด Song of Ice and Fire ค่ะ
นอกจากละครจะสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรง ความโหดร้าย สงครามการแย่งชิง มนต์ดำไสยศาสตร์แล้ว เนื้อหาบางช่วงบางตอนยังแฝงแง่คิด กลยุทธ์ธุรกิจ ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไว้ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วยนะคะ
เรื่องราวของ Game of Thrones นั้นเริ่มขึ้นจากการแย่งชิงบังลังก์ของแคว้นเมืองทั้ง 7 ในยุคสมัยโบราณที่แต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลของฝ่ายตนในการที่จะช่วงชิงอำนาจและอาณาจักรทั้งหมดมาครอบครองเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น เนื้อหาของเรื่องจึงดำเนินไปด้วยการรบทำศึกสงคราม, การคิดแผนกลยุทธ์เพื่อพลิกเกม และ การผิดใจทรยศกันเอง บางท่านอาจจะมองว่าเนื้อหาคุ้น ๆ คล้าย ๆ ละครจีนที่มีการแย่งตำแหน่งเจ้าสำนัก หรือ การอยากขึ้นเป็นเจ้ายุทธภพหรือเปล่า แต่เรื่องราวที่ Game of Thrones นำเสนอออกมานั้นกลับเปรียบเปรยได้ใกล้เคียงกับเกมการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าเรานำอาณาจักรที่ทุกฝ่ายต่างต้องการเป็นที่หนึ่ง หรือ ต้องการกุมพื้นที่ให้ได้มากกว่าฝ่ายอื่น ก็ช่างคล้ายคลึงกับการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการเองก็ย่อมคาดหวังจะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากกว่ารายอื่น ๆ การวางหมากในสงครามเพื่อให้ได้ชัยชนะ ก็เหมือนกับการเดินแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนั้น นอกเหนือจากความบันเทิงในการชมซีรีย์สุดฮอต Game of Thrones จนถึง Series 3 แล้วนั้น ผู้ประกอบการยังสามารถศึกษาข้อคิดกลยุทธ์ทางธุรกิจจากซีรีย์นี้และนำไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนการทำธุรกิจของตนต่อไปได้อีกต่อด้วยนะคะ
อันดับที่ 1 กลยุทธ์การบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ
ตามท้องเรื่องนั้น เราจะรู้ได้ว่าหนึ่งในตระกูลที่มีฐานะการเงินดี เรียกได้ว่าร่ำรวยเป็นอันดับหนึ่งคงต้องยกให้กับตระกูล “แลนนิสเตอร์” ความมั่งคั่งของตระกูลแลนนิสเตอร์นั้นได้ถูกบอกเล่าผ่านปากของตัวละครในเรื่องว่า “A Lannister always pays his debts.” ซึ่งหมายความว่า ตระกูลแลนนิสเตอร์นั้นจ่ายหนี้ของตนเสมอ คือไม่มีการค้างชำระ หรือ เบี้ยวหนี้แน่ ๆ จากพฤติกรรมการใช้เงินของตระกูลนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะติดต่อทำธุรกิจด้วย หรือแม้แต่ในยามวิกฤตก็ยังมีผู้คนยินดีหยิบยื่นไมตรีให้กับคนในตระกูลนี้อยู่ตลอด เพราะคาดว่าอย่างไรก็จะต้องได้รับผลตอบแทนทีหลังแน่ ๆ
ในเชิงการดำเนินธุรกิจนั้น หากเราว่าเปรียบตระกูลแลนนิสเตอร์เป็นองค์กรห้างร้านอย่างหนึ่ง ที่มีการบริหารจัดการเงินเป็นอย่างดี ไม่ผิดนัดชำระ และจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดเวลาเสมอ องค์กรนั้นก็ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ค้ารายอื่น นั่นเป็นเพราะเครดิตการเงินที่ดีย่อมหมายถึงความเชื่อใจและความน่าเชื่อถือทางการค้าซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจ ในทางตรงกันข้ามถ้าองค์กรใดมักจะชะลอการจ่ายค่าสินค้า หรือ เลื่อนนัดชำระเงินบ่อย ๆ องค์กรนั้นก็จะขาดคู่ค้าและไม่ได้รับความไว้วางใจจนอาจทำให้คู่ค้า หรือ ธนาคาร ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มได้ การชำระหนี้ตามกำหนดจึงไม่เพียงเป็นการสร้างเสถียรภาพทางการเงินขององค์กรให้มั่นคง แต่ยังช่วยองค์กรลดความเสี่ยงจากความล้มเหลวเนื่องจากขาดสภาพคล่องได้อีกด้วยค่ะ
อันดับที่ 2 กลยุทธ์การบริหารทีมงาน
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาใน Game of Thrones เจ้าหน้าที่ทหารในหลาย ๆ กองทัพที่ประจำตามเมืองต่าง ๆ โดยมากมักจะถูกปกครองด้วยการสร้างความยำเกรง ทำให้นายทหารส่วนใหญ่บางครั้งจำใจดูแลปกป้องเมืองด้วยความไม่เต็มใจนัก หนึ่งในนั้นก็คือเมืองหลวงคิงแลนด์ติ้งที่ถูกปกครองและบริหารเมืองโดยกษัตริย์ผู้ครองนครที่บ้าอำนาจและหนักข้อขนาดเอารัดเอาเปรียบประชาชน ดังนั้นเมื่อเกิดภัยสงครามมาประชิดเมือง เหล่าทหารจึงตัดสินใจหนีทัพมากกว่าที่จะฮึดสู้ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเมืองของพวกเขาอย่างที่ควรจะเป็น
ในมุมกลับกัน ตัวละครที่ชื่อ “คาลิซี” เป็นคนที่มีบทบาทเรื่องการรวบรวมผู้คนมาพลิกฟื้นแย่งชิงบ้านเกิดของตนกลับคืนมาให้ได้ ในตอนหนึ่งเนื้อเรื่องได้เสนอมุมที่คาลิซีไถ่ตัวนักรบทาสจำนวนมากกว่า 20,000 คนมาจากนายเก่าของนักรบกลุ่มนี้ ซึ่งนายเก่าของเหล่าทหารทาสนี้จะฝึกฝนนักรบด้วยความโหดร้ายและสั่งสอนให้ต้องทำตามทุกอย่างชนิดที่ถ้าสั่งให้พวกเขาฆ่าตัวตาย ก็ต้องทำ ห้ามขัดคำสั่ง แต่เมื่อคาลิซีซื้อตัวนักรบทาสมาดูแลเอง เธอเลือกที่จะบอกคุณค่าของตัวตนแต่ละคน และสอนให้รู้จักคำว่า อิสรภาพ ให้ทุกคนมีสิทธิในชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือเธอให้นักรบทาสเหล่านี้ตัดสินใจเอาเองว่าจะเลือกเดินเส้นทางชีวิตแบบไหน ทุกคนสามารถเดินจากเธอไปทำอะไรก็ได้ที่ตนต้องการ หรือ จะอยู่เคียงข้างกันติดตามเธอไปรบเอาเมืองคืนมา ผลจากการให้อิสระทำให้คาลิซีสามารถมัดใจเหล่าทหารทาสทั้งหมดของเธอกว่า 20,000 คนไว้ได้ด้วยความจงรักภักดี
หากเปรียบเป็นการบริหารทีมงานในองค์กร ใคร ๆ ก็ย่อมต้องอยากจะทำงานร่วมกับหัวหน้าที่เห็นคุณค่าของตน, ให้เกียรติ และมอบอำนาจการตัดสินใจให้เขาบ้าง กลเม็ดยุทธศาสตร์นี้จะทำให้คนในทีมเกิดความรู้สึกร่วมกับชิ้นงาน เมื่อมีใจรักในทีม งานก็จะออกมามีประสิทธิภาพมากกว่า ต่างกับการบริหารงานที่ใช้อำนาจเข้าบังคับค่ะ