สำหรับคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน คงจะได้เคยป้อนอาหารสำเร็จรูปให้กับลูกน้อย แต่สำหรับผู้เขียนซึ่งมีสามีเป็นคนจีน ไม่เคยได้ให้ลูกกินอาหารสำเร็จรูปเลย เพราะครอบครัวคนจีนส่วนใหญ่ จะให้กินอาหารปรุงสดทุกมื้อ ผู้เขียนก็แอบอิจฉาพ่อแม่หลาย ๆ คนที่สามารถซื้ออาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็กมาให้กินได้ เพราะสะดวกรวดเร็ว ไปเที่ยวที่ไหนก็พกพาง่าย แต่สำหรับตัวเองต้องหาร้านที่สะอาด ปลอดภัยเพื่อให้ลูกได้กินอาหารปรุงสุก
ราคาอาหารปรุงสุกเองก็จะมีราคาถูกกว่า ส่วนราคาอาหารสำเร็จรูปที่เราสังเกตเห็น จะมีแบบที่ใส่แบบขวดแก้วกระปุกละ 60-70 บาท ซึ่งถ้าคิดต่อหน่วยก็จะดูแพงกว่า แต่ก็แล้วแต่บ้านที่สะดวกแบบไหน ไม่เหมือนกัน ขอให้ดูมีความปลอดภัยกับลูกเราก็เพียงพอแล้ว ดูวันหมดอายุหรือฉลาดอย.ให้ชัดเจน และมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
หลักปฏิบัติในการเลือกอาหาร สำเร็จรูปให้เด็กน้อย (http://www.motherandcare.in.th)
-
ต้องดูฉลากให้รู้ชื่ออาหาร
– เช่น รู้คำว่า strained คือ อาหารที่ผ่านการบดละเอียดจนเป็นเนื้อเดียว สำหรับเด็กที่เริ่มได้รับอาหารเสริม คำว่า junior คือ อาหารที่มีทั้งบดและสับละเอียดปนกัน เหมาะสำหรับเด็กวัย 7 เดือน ซึ่งเริ่มฝึกการบดเคี้ยว
– ที่ฉลากมักระบุว่าเป็นอาหารชนิดเดี่ยวหรือผสม ชนิดเดี่ยวเหมาะกับการเริ่มให้อาหารแต่ละชนิด เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้รสชาติ ส่วนชนิดผสมควรใช้เมื่อเคยใช้ชนิดเดี่ยวมาแล้ว และถ้าหากเกิดอาการแพ้ก็จะได้รู้ว่าแพ้อาหารชนิดใด ซึ่งชนิดผสมมีทั้งอาหารประเภทแป้ง เนื้อสัตว์ ผักรวมกัน จึงทำให้ลูกได้รับอาหารครอบคลุมหลายหมู่
– สำหรับอาหารเสริมชนิดผงละลายน้ำที่เป็นธัญพืชที่มีนมผสมอยู่ หรือธัญพืชกับถั่ว โดยมีส่วนผสมหลักเป็นธัญพืชนั้น ควรเพิ่มอาหารหมู่อื่นๆ ให้ครบ 5 หมู่ด้วยค่ะ
– ส่วนอาหารเสริมที่ระบุคำว่า “ชนิดข้น” ไว้หลังชื่ออาหาร แสดงว่ามีส่วนผสมของอาหารชนิดนั้นๆอย่างเข้มข้น ก็ควรใช้อย่างพิจารณาให้ดีว่าจะนำไปผสมกับอาหารอื่นในสัดส่วนเท่าใดจึงจะเหมาะสมด้วยนะคะ
– ดูอายุที่มักระบุว่าใช้ได้ถึงอายุ 3 ปีนั้น ตามพัฒนาการของการกิน เด็กสามารถกินอาหารแบบผู้ใหญ่ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 1 ปี แต่อาหารนั้นก็ควรสุกนิ่มพอควร หั่นเป็นชิ้นให้เหมาะกับความสามารถในการเคี้ยวและความสะดวกในการตักเข้าปาก จึงควรให้ลูกกินให้เหมาะกับพัฒนาการ ไม่ใช่ว่าลูกอายุ 2-3 ปีแล้วก็ยังให้กินอาหารบดหรือสับละเอียดอยู่นะคะ
-
ต้องดูส่วนประกอบสำคัญ
เพื่อทราบส่วนผสมของอาหารนั้นว่ามีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ได้สังเกตให้ละเอียด ดูเพียงชื่อก็จะไม่รู้ส่วนประกอบทั้งหมด เช่น อาหารชื่อ กล้วยพุดดิ้ง มีส่วนผสมของกล้วย แป้ง ไข่แดง หากลูกเคยมีประวัติแพ้ไข่แดงก็ควรเลี่ยงไปก่อน นอกจากนี้ที่ฉลากยังระบุคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ พลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมันแล้วยิ่งถ้ามีระบุปริมาณธาตุเหล็กได้ด้วยก็จะดีสำหรับลูกนะคะ
-
ต้องดูวิธีกิน
สำหรับอาหารเสริมชนิดขวด มักระบุที่ฉลากว่าเปิดรับประทานได้ทันที ซึ่งในกรณีที่เป็นอาหารคาวมักนิยมอุ่นก่อน แต่มีข้อควรระวัง คือ ต้องเปิดฝาก่อนนำไปอุ่น ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำเร็จรูปบางบริษัทอาจไม่ระบุข้อความนี้เป็นภาษาไทย ต้องดูให้ดีด้วยนะคะ
-
ต้องดูวิธีเก็บรักษา
กรณีที่ต้องการแบ่งอาหารบางส่วนเก็บไว้ ให้แบ่งก่อนป้อน โดยใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ถ้าเก็บในช่องแช่แข็งจะเก็บได้นาน แต่ลักษณะของอาหารอาจเปลี่ยนแปลง ทำให้ความน่ากินลดลงและคุณค่าทางโภชนาการของสารอาหารบางชนิดจะค่อยๆ ลดลง
-
ต้องดูวันหมดอายุ
อาหารเสริมชนิดขวดมักระบุวันหมดอายุที่ปากขวด ส่วนชนิดกล่องหรือกระป๋องมักระบุใต้ภาชนะบรรจุ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบางบริษัทพิมพ์ตัวเลข วันหมดอายุ ซึ่งอ่านค่อนข้างยาก ถ้าสงสัยคุณแม่ควรตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจด้วยนะคะ
-
ต้องดูข้อสังเกตอื่น
อาหารเสริมชนิดขวดประเภทธัญพืช ผัก หรือเนื้อสัตว์ จะมีรสจืด ซึ่งสามารถให้ลูกได้โดยไม่จำเป็นต้องเติมเครื่องปรุงรส ส่วนอาหารเสริมชนิดผงที่ทำจากธัญพืชบางชนิดมีน้ำตาลทรายเป็นองค์ประกอบทำให้มีรสหวาน ซึ่งลูกวัยนี้มักจะชอบ แต่อาจทำให้ลูกติดรสหวานได้ ซึ่งก็ไม่ควรให้ลูกทานนะคะ คุณแม่ควรเลือกอาหารรสจืด หรือถ้าจะมีรสหวานอยู่บ้างก็ขอให้เป็นรสหวานที่ได้จากผลไม้นะคะ