การทำประกันชีวิตถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินให้กับเราได้ แต่ด้วยปัจจุบันรูปแบบของประกันมีมากมายหลายประเภท คนซื้อประกันอาจแยกแยะไม่ออกหรือมีความเข้าใจผิดในหลายๆประเด็น วันนี้มีคำแนะนำเรื่องซื้อประกันชีวิตอย่างไรไม่ให้ผิดพลาดมาฝาก
เริ่มด้วยคนบางคนซื้อประกันชีวิตเพื่อเป้าหมายในการลดหย่อนภาษี
คนส่วนใหญ่จะเลือกตัวที่ออมสั้นๆ และได้เงินคืนเยอะๆ โดยไม่สนใจเรื่องทุนประกันหรือความคุ้มครองว่าคุ้มค่าหรือไม่ ขริงๆแล้ววัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตคือ การคุ้มครองความเสี่ยง เราต้องมีความรู้ความเข้าใจก่อนว่า ชีวิตของเรามีความเสี่ยงในหลายๆด้าน และต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงให้ได้ การทำประกันชีวิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการบริหารความเสี่ยง การพุ่งเป้าหารทำประกันชีวิตเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีโดยไม่คิดถึงความคุ้มค่าในการคุ้มครอง ย่อมไม่ถูกต้องนัก ดังนั้นก่อนซื้อประกันชีวิตต้องรู้วัตถุประสงค์หลักของการซื้อประกันนั้นให้ดีเสียก่อน จึงจะสามารถเลือกซื้อประกันชีวิตที่คุ้มค่าและเหมาะสมได้
บางคนใช้ประกันชีวิตเพื่อตอบโจทย์ทุกเป้าหมายของการวางแผนการเงิน
จริงๆแล้วการทำประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ เพราะการวางแผนทางการเงินต้องมีส่วนของการออม การลงทุน การวางแผนภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประกันชีวิตไม่สามารถตอบโจทย์ทุกอย่างได้ แม้ประกันชีวิตบางแบบจะพ่วงการลงทุนเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่หลักของประกันชีวิต เงินเป็นทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัด เราต้องเลือกและจัดการเงินให้เหมาะกับวัตถุประสงค์เป็นอย่างๆไป สรุปคือ ประกันชีวิตไม่ใช่ทุกอย่างของการวางแผนทางการเงิน
บางคนทำประกันสุขภาพโดยใช้ประกันชีวิตเป็นตัวหลัก
เพราะคิดหวังว่า จะเอาเงินคืนจากประกันสะสมทรัพย์มาจ่ายเบี้ยสุขภาพ ในความเป็นจริง ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีระยะเวลาจำกัด เรียกว่าบางทีก็เป็นช่วงสั้นๆ 5 ปี เป็นต้น และเมื่อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หมดอายุลง ประกันสุขภาพก็หมดลงด้วย พอจะเริ่มทำประสุขภาพตัวใหม่ ก็ต้องจ่ายเบี้ยเริ่มต้นใหม่ที่แพงด้วย ดังนั้นจึงดูไม่คุ้มกัน ทางที่ดีควรทำแยกกันไปเลย ประกันสุขภาพก็ประกันแบบยาวๆไป จะประกันสะสมทรัพย์ก็ทำแยกกันไม่ต้องผูกติดกัน ซึ่งจะให้ผลที่คุ้มค่ากว่า
หลายคนทำประกันชีวิตโดยไม่ได้นึกถึงทุนประกัน ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตัวประกันชีวิตอย่างคุ้มค่าเต็มประโยชน์ การทำประกันชีวิตด้วยทุนประกันเพียงเล็กน้อย หากเราเสียชีวิตไป คนที่อยู่ข้างหลังก็จะได้รับผลประโยชน์น้อยไปด้วย จริงๆแล้วเป้าหมายของการทำประกันชีวิตคือ การเตรียมว่า ถ้าเราจากไปอย่างกะทันหัน ต้องมีเงินสักเท่าไหร่เพื่อที่คนที่อยู๋ข้างหลังจะดำรงชีวิตต่อไปได้ และจนกว่าพวกเขาจะดูแลตนเองได้ ดังนั้นทุนประกันจึงต้องมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายของคนข้างหลังอย่างเพียงพอ ซึ่งเราต้องคิดคำนวณ ไม่ใช่สักแต่ทำเพื่อให้ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันน้อยๆ การทำแบบนี้ถือว่าใช้ประโยชน์จากการทำประกันชีวิตได้ไม่เต็มที่
จะเห็นได้ว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันชีวิตแบบต่างๆเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราไม่รู้ก็อาจทำให้ใช้ประโยชน์จากประกันแต่ละแบบผิดพลาดไป หากเราไม่มีความรู้ก็ต้องขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเองส่วนหนึ่ง จะอาศัยคำแนะนำจากคนขายเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะคนที่รู้ดีถึงความต้องการและวัตถุประสงค์ของการทำประกันดีที่สุดคือตัวเราเอง หากอาศัยคำแนะนำจากคนขาย อาจทำให้ได้แบบประกันที่ไม่ตรงกับความต้องการ บางคนอาจติดขัดตรงที่ อยากทำประกันแบบดีๆแต่ไม่มีเงินมากพอ ก็อาจต้องเริ่มซื้อประกันด้วยทุนประกันที่เล็กน้อยๆไปก่อน ถือว่าเป็นค่าศึกษาและทำความรู้จักกับแบบประกันในเบื้องต้น พอได้เริ่มแล้ว จ่ายเงินไปแล้ว เราก็จะขวนขวายหาความรู้ เพื่อให้เงินที่เราใช้ไปทำงานได้อย่างคุ้มค่า หากไม่เริ่มก็จะไม่รู้ และต้องพบกับความผิดพลาดอยู่เสมอ