หลังจากที่วันก่อนเราได้พูดคุยกันถึงความแตกต่างระหว่างภาษีรถยนต์ กับ พ.ร.บ. กันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่ามันคือคนละตัวกัน มันต้องจ่ายเงินแยกส่วนกันต่างหาก ทำให้เพื่อน ๆ หลายคนเริ่มจะเข้าใจกันมากขึ้นว่าปี ๆ นึงเราต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของรถยนต์อยู่ทั้งหมดประมาณ 3 ส่วนด้วยกันคือ 1. ค่าพ.ร.บ. 2. ค่าภาษีรถยนต์ และ 3. ค่าประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเรื่องของประกันภัยเราก็ให้ความรู้กันอยู่ตลอดเวลา คงไม่น่ามีปัญหาอะไรสักเท่าไหร่ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ. ก็เพิ่งเขียนไปเมื่อล่าสุด
งั้นวันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องภาษีรถยนต์กันบ้างว่า ภาษีรถยนต์ต้องจ่ายเท่าไหร่กันแน่ รวมทั้งสอนคำนวณภาษีรถยนต์กันเลยว่ามีวิธีคิดยังไง
ไอเทมจำเป็นที่ต้องมี ก่อนต่อภาษีรถยนต์
แต่ก่อนจะข้ามไปดูสูตรการคำนวณภาษีรถยนต์ เราขอแวะจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมก่อน ซึ่งเพื่อน ๆ ที่กำลังจะไปต่อภาษีรถยนต์ก็ต้องเตรียมเอกสารเหล่านี้ให้เรียบร้อยด้วย จะได้ไปต่อภาษีกันได้แบบไม่พลาด
- สมุดเล่มทะเบียนรถ
- หลักฐานการทำ พ.ร.บ.
- ใบรับรองการตรวจสภาพรถ
แค่เอกสารทั้ง 3 อย่างนี้พร้อม เพื่อน ๆ ก็สามารถเดินเข้าขนส่งเพื่อยื่นเรื่องขอต่อภาษีรถยนต์ได้ทันทีเลย หรือเพื่อน ๆ คนไหนที่ไม่อยากเดินทางไกล ก็มีอีกหนึ่งช่องทางในการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ ที่จะอำนวยความสะดวกให้เพื่อน ๆ แบบเต็มที่ อยู่บ้านเฉย ๆ ก็ต่อภาษีรถยนต์ได้ แต่จะต้องทำยังไงนั้นขอเราอุบไว้ก่อน เดี๋ยวดูเรื่องการคำนวณภาษีเสร็จเมื่อไหร่ จะรีบพาไปทำความรู้จักแน่นอนไม่ต้องห่วง
เคล็ดลับง่าย ๆ คำนวณภาษีรถยนต์แบบเป๊ะ ๆ จ่ายเท่าไหร่ รู้ได้เลย ไม่ต้องรอลุ้น
เพื่อน ๆ รู้มั้ยครับว่าค่าภาษีรถยนต์ของรถแต่ละคันนั้นไม่เหมือนกัน เพราะการจะคิดภาษีออกมาได้ว่ารถของเราต้องจ่ายเท่าไหร่นั้นต้องดูที่หลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งประเภทรถ รุ่นรถ ขนาดเครื่องยนต์ น้ำหนักรถ หรือแม้แต่อายุของรถเองก็มีผล ซึ่งการคำนวณภาษีรถยนต์นั้นจะทำยังไง แล้วภาษีรถยนต์ของเราต้องจ่ายเท่าไหร่ เรามาดูสูตรการคำนวณที่แสนง่ายดายกันได้เลยครับ
- รถป้ายทะเบียนขาวตัวหนังสือดำ (รถปกติทั่วไป) คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถเก๋ง รถกระบะ 4 ประตู ภาษีจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่อง (cc) โดยรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 6 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 10%, 7 ปีลด 20%, 8 ปีลด 30%, 9 ปีลด 40% และ 10 ปีเป็นต้นไปลด 50%
– 1-600 ซีซีละ 0.50 สตางค์
– 601-1800 ซีซีละ 1.50 บาท
– 1801 ขึ้นไป ซีซีละ 4 บาท
เช่น เราขับ Honda Jazz อายุรถ 4 ปี เครื่องยนต์ 1,500 cc ก็คำนวณภาษีรถยนต์ได้ดังนี้
600 cc แรก cc ละ 0.5 บาท = 600 x 0.5 = 300 บาท
601-1500 cc ละ 1.50 บาท = (1,500 – 600) = 899 x 1.50 = 1,348.50 บาท
รวมค่าภาษี 300 + 1,348.50 = 1,648.50 บาท
- รถป้ายทะเบียนขาวตัวหนังสือเขียว คือ รถบรรทุกส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง ซึ่งรถแบบนี้จะคำนวณภาษีจากน้ำหนักรถแทนครับ
น้ำหนักรถ 501- 750 กก. อัตราภาษี 450 บาท
น้ำหนักรถ 751 – 1000 กก. อัตราภาษี 600 บาท
น้ำหนักรถ 1001 – 1250 กก. อัตราภาษี 750 บาท
น้ำหนักรถ 1251 – 1500 กก. อัตราภาษี 900 บาท
น้ำหนักรถ 1501 – 1750 กก. อัตราภาษี 1,050 บาท
น้ำหนักรถ 1751 – 2000 กก. อัตราภาษี 1,350 บาท
น้ำหนักรถ 2001 – 2500 กก. อัตราภาษี 1,650 บาท
- รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือน้ำเงิน คือ รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง ภาษีรถยนต์ก็จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถเช่นกัน แต่คิดคนละแบบกับของรถบรรทุก
น้ำหนักรถไม่เกิน 1800 กก. อัตราภาษี 1,300 บาท
น้ำหนักรถเกิน 1800 กก. อัตราภาษี 1,600 บาท
จ่ายภาษีรถยนต์ออนไลน์ ไม่ต้องออกไปไหน ก็ต่อภาษีได้ชิล ๆ
เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็ออนไลน์กันไปซะหมดเลยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของประกันภัยเท่านั้นที่เราสามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ขนาดภาษีรถยนต์ยังต่อผ่านออนไลน์ได้เลย ซึ่งขั้นตอนนั้นก็ง่ายแสนง่ายเพียงแค่…
- ตรวจสอบรถที่สามารถใช้บริการออนไลน์ได้ – ต้องเป็นรถเก๋ง รถตู้ รถกระบะ ที่จดทะเบียนไม่เกิน 7 ปีเท่านั้น และต้องค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปีด้วย
- เข้าเว็บไซต์ www.dlte-serv.in.th – การต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ให้เข้าไปกรอกข้อมูลลงทะเบียนรถให้ครบ เพื่อรับรหัสผ่าน จากนั้นเข้าไปกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถของเรา ทั้งหลักฐานการเอาประกันตาม พ.ร.บ. ทั้งหลักฐานหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบฯ ต่าง ๆ เหล่านี้กรอกให้ครบนะครับ
- ชำระเงิน – หลังจากกรอกข้อมูลการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ทุกอย่างได้ครบถ้วน ก็เลือกเลยว่าจะจ่ายเงินแบบไหน ได้ทั้งแบบหักบัญชีเงินฝาก ชำระด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต หรือจะไปพิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วเอาไปจ่าย ณ เคาน์เตอร์หรือตู้ ATM ก็แล้วแต่สะดวกเลย
หลังจากที่ทำทุกอย่างตามขั้นตอนเสร็จสิ้นเรียบร้อย กรมการขนส่งทางบกเค้าก็จะส่งใบเสร็จรับเงิน พร้อมป้ายภาษี มาให้เราถึงบ้านภายในระยะเวลา 7 วัน เราก็เอาป้ายภาษีที่ได้มาไปแปะไว้หน้ารถ เท่านี้ขับไปไหนต่อไหนก็ไม่ต้องกลัวโดนตำรวจจับแล้วล่ะครับ และสำหรับบางคน ที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ https://money.priceza.com/ เพื่อเข้าไปหาคำตอบได้ เพราะเรามีสาระน่ารู้หลายอย่างที่นำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านครับ